xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เปิด3ทางเลือกเสนอคลัง นำร่องธุรกิจ"ไมโครไฟแนนซ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เสนอคลังเปิด 3 ทางเลือกดันไมโครไฟแนนซ์เกิด ทั้งให้ต่างชาติที่มีความชำนาญมาขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจในไทย แบงก์พาณิชย์ร่วมทุนผู้ประกอบการต่างชาติที่มีความชำนาญ หรือเปิดให้แบงก์พาณิชย์ตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นมาใหม่รองรับธุรกรรมด้านนี้ หวังเพิ่มโอกาสให้รากหญ้าเข้าถึงบริการทางการเงิน พร้อมตัดปัญหาแบงก์ไม่ขยายธุรกิจในพื้นที่ห่างไกล

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.ได้เสนอรูปแบบธุรกิจบริการทางการเงินระดับฐานราก (ไมโครไฟแนนซ์)ให้แก่กระทรวงการคลังพิจารณา 3 แนวทาง คือ 1.เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่มีความชำนาญด้านไมโครไฟแนนซ์เข้ามามีบทบาทระบบการเงินในไทยมากขึ้นด้วยการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านนี้โดยตรง 2.ให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติที่มีความชำนาญพิเศษด้านนี้ เพื่อช่วยเป็นด่านหน้าในการคัดเลือกลูกค้า และ3.ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแยกเป็นหน่วยธุรกิจออกมาต่างหากเพื่อต่อยอดทำธุรกิจต่อไป

"ไมโครไฟแนนซ์จะเป็นบริการทางการเงินที่เข้ามาช่วยเสริมธุรกิจทั่วไปและมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจง คือ กลุ่มบุคคลขนาดเล็กที่ยังติดขัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินภายใต้ระบบปัจจุบัน และแม้ว่ากลุ่มลูกค้าประเภทนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มีในต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง จึงไม่ห่วงว่าจะเกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพราะเชื่อว่าภาคเอกชนจะสามารถดำเนินการได้ จึงต้องการคนที่มีความชำนาญเฉพาะทางเข้ามาดูแลเรื่องนี้"รองผู้ว่าการธปท.กล่าว

ส่วนกรณีที่ในอดีตธปท.ได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการเปิดสาขาใหม่ในเขตพื้นที่แหล่งชุมชนจะแลกกับการเปิดสาขาในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ห่างไกลนั้น รองผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายเปิดสาขามีความเสรีมากขึ้น เพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขัน แต่ในอดีตธปท.เคยผูกเงื่อนไขนี้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องไปทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม จึงส่งผลให้แนวคิดนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของสถาบันการเงินด้วย แต่รูปแบบใหม่นี้จะสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินขยายธุรกิจในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้นจากความชำนาญที่มีอยู่ และรูปแบบการบริหารความเสี่ยงดีขึ้นของผู้ประกอบการที่มีความชำนาญพิเศษ

ด้านนางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้บริหารส่วน ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในต่างประเทศการให้บริการด้านไมโครไฟแนนซ์เสมือนเป็นการคืนกำไรให้แก่สังคม โดยผู้ประกอบการจะให้บริการด้านการเงินแก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยธุรกรรมส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ เงินฝาก การโอนเงิน และประกันภัย โดยเฉพาะการประกันด้านพืชผลและสุขภาพ

ขณะที่รูปแบบไมโครไฟแนนซ์แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ1.ตั้งเป็นองค์กรทางการเงินฐานราก(ไมโครไฟแนนซ์) เป็นสถาบันการเงินย่อยๆ 2.ให้บริการผ่านตัวแทนที่กระจายตามร้านค้าสะดวกซื้อในพื้นที่ชุมชน ถือว่ามีต้นทุนที่ถูกกว่าการตั้งสาขา และ3.ใช้เครื่องมือสื่อสาร โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (โมบาย แบงกิ่ง) ซึ่งให้บริการผ่านเครือข่ายที่สามารถกระจายได้ทั่วโลกและสามารถรองรับความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านของไทยดำเนินการอยู่

มั่นใจเม็ดเงินสู่เอสเอ็มอีทุกภาค

นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) แม้ว่าจะออกตัวค่อนข้างช้าบ้างในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องใช้เวลาในการเตรียมระบบงานภายใน แต่จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุด พบว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ตั้งเป้าหมายที่แน่นอนแล้ว ซึ่งเป้าหมายของแต่ละสถาบันการเงินเมื่อรวมกันแล้วอยู่ภายในงบของโครงการนี้ คือ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การส่งเม็ดเงินของสินเชื่อดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มทยอยเรื่อยๆ แม้ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น้อยอยู่ แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีมากขึ้น เพราะสินเชื่อเหล่านี้จุดเริ่มต้นใช้สาขาธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญ ประกอบกับจากความร่วมมือของธปท. บสย. และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสินเชื่อเอสเอ็มอีและโครงการนี้ ถือตอบรับดีและมีผู้สนใจมาก จึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะมีตัวเลขขอใช้ประโยชน์โครงการนี้มากขึ้น และในอนาคตลงพื้นที่อื่นด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกภาคได้รับข้อมูลและประโยชน์เท่าเทียมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น