ธปท. เตรียมพิจารณา 3 แนวทาง โครงการจัดตั้งธนาคารเพื่อปล่อยสินเชื่อให้รากหญ้าในชนบท หวังให้ชาวรากหญ้าที่อยู่ไกลปืนเที่ยง มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงกลุ่มที่ต้องพึ่งสินเชื่อนอกระบบ
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าวัตถุประสงค์ที่ ธปท. ผลักดันการทำธุรกิจการเงิน (Micro finance) เพื่อเป็นการเพิ่มเติมช่องว่างในการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มรายย่อยของผู้มีรายได้น้อยหรือระดับรากหญ้าที่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ซึ่งการทำธุรกิจการเงินเพื่อกลุ่มรากหญ้าดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจาณาว่าของกระทรวงการคลังจะเลือกทำในลักษณะใด จาก 3 รูปแบบ
1.เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่มีประสบการณ์และศักยภาพเข้ามาขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจ 2.เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจร่วมกับบุคคลที่ 3 หรือนักลงทุนต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะและมีศักยภาพสูง 3.เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนทำธุรกิจเอง แต่ธุรกิจนี้จะแยกย่อยออกมาจากธนาคารพาณิชย์ หรือ อาจตั้งเป็นบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านการเงินให้กับลูกค้าระดับรากหญ้าโดยเฉพาะ
“ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์นี้ต่างจากการทำธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ต่างๆ ที่มีรูปแบบให้บริการการเงินทางการเงินหลายรูปแบบมากมาย หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสินที่เคยมี แต่ธุรกิจไม่โครไฟแนนช์นี้จะเน้นให้กับบุคคลรายย่อยที่มีรายได้น้อยที่ห่างไกลความเจริญมากกว่า ที่ไม่สามารถเข้าถึงเข้าถึงสินเชื่อในระบบของสถาบันการเงินได้ ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงการคลัง ต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดสักระยะ”
นอกจากนี้ นายบัณฑิตยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทด้วยว่า จากการติดตามพบขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการได้ส่งยอดสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มาค้ำประกันกับ บสย.ได้เต็มวงเงินแล้วคือจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อไปแล้วเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะมียอดทยอยมาอีกอย่างต่อเนื่อง
“แม้ขณะนี้จะมีเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อแล้วในสัดส่วนที่น้อย แต่เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้เข้าสินเชื่อมากขึ้น” นายบัณฑิต กล่าว
ด้านนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่าแผนการจัดตั้งไมโครไฟแนนซ์ ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 (มาสเตอร์เพลน เฟส 2) ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดได้ เพราะ ธปท.และคลัง ยังต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า การเปิดให้มีในรูปแบบใดจะเหมาะสมที่สุด และที่สำคัญยังต้องพิจารณาร่วมกันด้วยว่าการจะเปิดให้ต่างชาติมาทำตรงนี้มีข้อเสียหรือผลกระทบต่อระบบหรือไม่ ซึ่งการจะเปิดให้ต่างชาติมาหรือไม่อยู่ที่คลัง
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังต้องดูด้วยว่าการจะเกิดได้ต้องเสนอเงื่อนไขหรือปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะเหมาะสมพอที่จะเอื้อให้เกิดบริการไมโครไฟแนนซ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้เกิดประโยชย์เพียงพอที่จะตอบโจทย์ในการสนองกลุ่มเป้าหมายที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และกลุ่มที่ยังต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงด้วย