xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนในสังกัด อบจ.

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

วันก่อนผมเล่าเรื่องโรงเรียนดีๆ ทั้งในอเมริกา นิวซีแลนด์ และอินเดีย โรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพสูงกว่าโรงเรียนทั่วๆ ไปในเมืองไทยมาก เพราะมีหลักสูตรที่กว้างขวางกว่า มีวิชาที่หลากหลาย มีอุปกรณ์การศึกษาดี และที่สำคัญก็คือ มีครูเก่งๆ แยะ

โรงเรียนเอกชนในต่างประเทศส่วนใหญ่เกิดจากการก่อตั้งของนักบวชศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ เหมือนกับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในอังกฤษ และยุโรป ในเมืองไทยเราก็เช่นกัน มีโรงเรียนอัสสัมชัญ เซนต์คาเบรียล วัฒนาวิทยาลัย ปรินส์รอยฯ เป็นต้น

โรงเรียนที่ดีมักจะมีวิชาที่สอนเพิ่มเติมแตกต่างไปจากหลักสูตรทั่วไป ปัจจุบันการสอน “ทักษะการคิด” เป็นวิชาที่กำลังเป็นที่นิยม ในสิงคโปร์เมื่อสิบปีมาแล้ว พบปัญหาว่านักเรียนเรียนเก่งจริง แต่ไม่รู้จักคิด เป็นคนน่าเบื่อ คนผู้ชายสิงคโปร์ไม่รู้จักจีบผู้หญิง รัฐบาลต้องมีโครงการหาคู่ให้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงติดต่อกับ Edward de Bono ให้มาเปิดการสอน “การคิด” และต่อมาก็มีการนำวิชา “ทักษะการคิด” มาสอน ปีนี้ทีมนักเรียนสิงคโปร์จากโรงเรียนแรฟเฟิล และแองโกลไชนิส 3 ทีมไปกวาดรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันการแก้ปัญหาในอนาคตของโรงเรียนทั่วโลก ชนะทีมอเมริกัน และนิวซีแลนด์ แชมป์เก่าขาดลอย

ผมได้นำเอาการสอนให้คิด การทำ mindmapping และทักษิณการคิด ตลอดจนการคิดแก้ปัญหาในอนาคตมาสอนที่วชิราวุธวิทยาลัย เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันครู 3 คนที่เคยส่งไปอบรมวิชานี้อย่างเข้มข้น มีประสบการณ์กว้างขวางเกิดออกมาจากโรงเรียนทั้งหมด แต่ก็ยังดีที่ทั้งสามคนได้เคยอบรมครูให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ให้

ที่น่าสนใจก็คือ เวลานี้ อบจ.ที่มีโรงเรียนดีๆ คือ อบจ.อุดรธานี และ อบจ.เชียงราย ได้เห็นความสำคัญ และทำโครงการอบรมครูโรงเรียนสังกัด อบจ.ในจังหวัดเรื่อง “ทักษะการคิด” ทีมที่ว่านี้ได้ลงไปอบรมครูเป็นเวลาหลายเดือน

พูดถึง อบจ.และเทศบาลแล้ว เวลานี้มีนายก อบจ. และนายกเทศมนตรีหลายจังหวัด มีความตื่นตัวที่จะพัฒนาการศึกษาของจังหวัดมาก ที่เชียงราย และอุดรธานีมีโรงเรียนเทศบาล และโรงเรียน อบจ.ที่ดี มีนักเรียนอยากเข้าเรียนมากกว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ. เสียอีก ในอนาคตท้องถิ่นจะมีบทบาทในการจัดการศึกษามากขึ้น แนวโน้มนี้จะทำให้ท้องถิ่นทุ่มเทให้กับการศึกษาเพราะการพัฒนาทางกายภาพถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และคนในท้องถิ่นเองก็เกิดความคิดที่จะเน้นการพัฒนาคนมากขึ้น

ผมเองก็ได้ใช้เวลายามเกษียณแล้วเดินทางไปบรรยายตามโรงเรียน อบจ. และเทศบาลหลายแห่ง เมื่อเร็วๆ นี้ทาง อบจ.ระยองก็มาหา ในฐานะที่แม่ผมเป็นคนระยองขอคำแนะนำ เพราะ อบจ.กำลังจะทำโรงเรียนแห่งใหม่

ผมเห็นว่าโรงเรียนที่ดีควรมีอะไรแตกต่างไปจากโรงเรียนทั่วไป จึงแนะนำไปว่า

1. ให้จัดหลักสูตรที่นักเรียนชั้น ม. 1-3 มีกิจกรรมกับวิชาพื้นฐานทั่วไป 50:50 โดยไปลดกิจกรรม และเน้นวิชาการในระดับ ม. 4-6 เพราะนักเรียนต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย

2. ให้มีการเรียนดนตรี กีฬา ศิลปะ การออกแบบ และเทคโนโลยี จัดให้มีอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับงานช่างไม้ ไฟฟ้า การออกแบบโดยคอมพิวเตอร์

3. ประสานงานกับโรงงานอุตสาหกรรม และสวนผลไม้ในจังหวัด เพื่อให้นักเรียนไปทำงานในโรงงาน และในสวนผลไม้

4. ให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

5. วิชาภาษาอังกฤษให้ใช้ครูชาวต่างประเทศสอน

6. ให้จัดสวัสดิการสำหรับครู เช่น บ้านพักภายในโรงเรียนเพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับครูเก่งๆ

อบจ.ระยองมีงบประมาณสำหรับทำโรงเรียน 500 ล้านบาท ผมให้ข้อคิดว่า ควรจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาครูด้วย อย่าลงเงินไปในการก่อสร้างอาคารเท่านั้น ปีหนึ่งๆ ครูมักจะมีโอกาสได้รับการพัฒนาฝึกอบรมน้อยมาก โดยเฉลี่ยแล้วจะตกหัวละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้น

ความจำเป็นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาก และมีสวนผลไม้ที่ส่งผลไม้ออกต่างประเทศด้วย ย่อมมีสูง หากเด็กระยองได้รับการศึกษาดี อุตสาหกรรมก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง

แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องช่วยด้านภาษีด้วย เมื่อทำอุตสาหกรรมในพื้นที่ ระยองก็ควรได้ภาษีมาใช้ในด้านการศึกษา และการรักษาสิ่งแวดล้อม เวลานี้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในระยอง จดทะเบียนในกรุงเทพฯ รถยนต์ของโรงงาน และของผู้ทำงานก็จดทะเบียนกรุงเทพฯ ระยองจึงขาดรายได้จากภาษีไปปีละหลายพันล้านบาท โรงงานและเจ้าของรถยนต์จึงควรคิดในเรื่องนี้ให้มาก เพราะไปตั้งในจังหวัดส่งผลกระทบต่อคนในจังหวัด

ต่อไปนี้ผมคงจะมีโอกาสไประยองมากขึ้น และจะได้ช่วยงานด้านการศึกษาของทั้งที่อุดรฯ เชียงราย ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น