xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลวิจัยถ่ายโอนโรงเรียนให้ท้องถิ่นพบปัญหาอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เผยผลวิจัยถ่ายโอนโรงเรียน พบปัญหาเพียบ ผู้บริหารมีขอบเขตในการตัดสินใจจำกัด ขาดความคล่องตัวในการบริหาร ขณะที่ด้านวิชาการยังขาดความเข้มแข็ง ครูบรรจุใหม่ยังขาดประสบการณ์ ไม่มีความสามารถในการผลิตสื่อ การเลื่อนวิทยฐานะไม่ชัดเจน แนะ ศธ.พัฒนาครู ส่วน มท.ให้กระจายอำนาจ แก้กฎหมายให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วิจัยเรื่องผลการถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งสำรวจจากสถานศึกษาที่ถ่ายโอนสู่ อปท.ปีการศึกษา 2549 บัญชี 1 จำนวน 59 โรง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามคือ ผู้บริหารสถานศึกษา และรองผู้บริหารสถานศึกษา 118 คน ครูผู้สอน 118 คน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และรอง ผอ.กองการศึกษา อปท.118 คน รวม 354 คน ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นเกี่ยวกับผลการถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในภาพรวม อยู่ในระดับมาก จำแนกได้เป็น 3 ลำดับ ดังนี้ 1.ด้านการแสดงออกและการมีส่วนร่วม พบว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ของ อปท.มีการสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา รวมทั้งมีการวางแผนการศึกษาร่วมกับชุมชน สร้างเครือข่ายระบบช่วยเหลือนักเรียน ใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถานศึกษา ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ

2.ด้านสุขภาพขององค์กร พบว่า สถานศึกษามีการบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ยึดหลักความถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ส่งเสริมบุคลากรพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม จริยธรรม ใช้ทรัพยากรคุ้มค่าและประหยัด มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตน และ 3.ด้านความสามารถในการควบคุมตนเอง พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและครู มีความมั่นคงทางอารมณ์ อดทน มุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ใช้จิตวิทยาเป็นพื้นฐานในการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความยุติธรรม สามัคคี ใช้หลักประนีประนอมเมื่อเกิดความขัดแย้ง รับฟังความเห็นและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ สามารถทำงานร่วมกับ อปท.ได้

สำหรับปัญหาการดำเนินการถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ อปท.ช่วง 1 ปีแรกถ่ายโอนได้ดีพอสมควร มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพ มีการสนับสนุนการจัดการศึกษาสูงมาก แต่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ปรากฏมีปัญหาเกิดขึ้นในหลายด้าน เช่น เจ้าหน้าที่กองการศึกษา อปท. ขาดประสบการณ์การจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาน้อยลง ผู้บริหารสถานศึกษาและครูมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกับ อปท.จึงต้องใช้ความอดทนสูง ขณะเดียวกัน ผู้บริหารสถานศึกษาขาดความเข้าใจกฎ ระเบียบ ข้อบังคับปฏิบัติของ อปท.มีอำนาจตัดสินใจในขอบเขตจำกัด ขาดความคล่องตัวในการบริหาร

นอกจากนี้ ครูเข้ารับการฝึกอบรมในช่วงเปิดเรียนบ่อย จนกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน มีกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น ในด้านวิชาการขาดความเข้มแข็ง ครูบรรจุใหม่ยังขาดประสบการณ์และความชำนาญ ไม่มีความสามารถในการผลิตสื่อด้วยคอมพิวเตอร์ ในส่วนการช่วยเหลือสถานศึกษาได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก สพท.และกลุ่มโรงเรียนน้อยลง ถูกมองว่าศักดิ์ศรีความเป็นครูลดลงจากเดิมที่สังกัด ศธ. อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการโอนย้ายข้าม อปท.ทำได้ยาก การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่สามารถเบิกตรงได้ การปรับเลื่อนวิทยฐานะยังไม่ชัดเจน โอกาสได้ 2 ขั้นมีน้อย เพราะครูสมัครใจโอนเป็นคนหนุ่ม-สาว ฐานเงินเดือนในการคำนวณจึงน้อย

ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วยว่า ศธ.ควรให้การสนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแล อปท.ควรจะกระจายอำนาจการบริหารจัดการแก้ไขกฎหมายให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล สพท.ก็ควรจะมีส่วนในการสนับสนุนพัฒนาครูและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการแก่สถานศึกษาที่โอนไปสังกัด อปท.ด้วย รวมถึง อปท.จำเป็นจะต้องเร่งสร้างคุณภาพการศึกษา เปิดโอกาสให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมากขึ้น เป็นต้น

“การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้ประเมินเพื่อจะจับผิดหรืออะไร เป็นการติดตามดูผลว่าถ่ายโอนไปแล้ว มีปัญหาหรือข้อบกพร่องจุดใดที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ อย่างเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ออกมาว่าค่อนข้างตกต่ำในด้านวิชาการ เพราะครูไปอบรมสัมมนาตอนเปิดเรียนเป็นส่วนใหญ่จุดนี้ก็ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตาม ไม่ได้คิดว่าวิจัยแล้วพบปัญหาจะต้องนำโรงเรียนกลับคืนสังกัด ศธ.ไม่เอาคืนแน่นอนเพราะโอนแล้วโอนเลย เพียงแต่เราต้องประเมินเพราะคำนึงถึงประโยชน์ของตัวเด็กเป็นหลัก”
กำลังโหลดความคิดเห็น