xs
xsm
sm
md
lg

คาดบอนด์ไทยเข้มแข็งขายเกลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กรณ์ จาติกวณิช” อ้างนายแบงก์ให้ความสนใจพันธบัตรไทยเข้มแข็ง มั่นใจขายเกลี้ยง ลั่นหากยอดจองเกิน 5 หมื่นล้าน สามารถเปิดขายรอบสองได้ทันที ด้านแบงก์ชาติระบุไม่กระทบฐานเงินฝาก อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยในระบบ เหตุสัดส่วนเพียง 0.5% ของเงินฝากทั้งระบบ แถมไม่กระทบแผนออกพันธบัตร ธปท.เพราะลูกค้าคนละกลุ่ม
ภายหลังลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารนครหลวงไทย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีความเชื่อมั่นว่าการให้ความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่งเพื่อจำหน่ายพันธบัตรในครั้งนี้โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมใดๆ จะประสบความสำเร็จเนื่องจากมีการตอบรับจากประชาชนที่ดี
กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้พิจารณาผลประโยชน์ที่ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ซื้อพันธบัตรในโครงการนี้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 4.0% ถือว่าคุ้มค่ามากกว่าการฝากเงิน นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้พิจารณาต้นทุนของโครงการว่าอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาประเทศผ่านโครงการต่างๆ ในแผนไทยเข้มแข็ง 2555 ตามนโยบายของรัฐบาล
“เท่าที่ฟังจากนายแบงก์พบว่าลูกค้าเข้าให้ความสนใจกับการขายพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลในครั้งนี้มาก เนื่องจากผลตอบในเป็นที่น่าพอใจและไม่มีความเสี่ยง อีกทั้งกระทรวงการคลังยังได้เผื่ออัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีที่ถือพันธบัตรว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งหากมียอดจองเกินจาก 5 หมื่นล้านบาท ที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้นั้นก็พร้อมที่จะออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งรอบ 2 ได้ทันที หลังจากที่สามารถสรุปยอดความต้องการของประชาชนที่เกินมาจาก 5 หมื่นล้านบาทที่จำหน่ายในครั้งแรก” นายกรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งจะพิจารณาออกพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ซึ่งต้องหารรือร่วมกับ สบน.อีกครั้ง
สำหรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายพันธบัตรไทยเข้มแข็งรัฐบาลจะสามารถดำเนินการอัดฉีดเม็ดเงินลงในโครงการต่างๆ กว่า 6 พันโครงการตามนโยบายไทยเข้มแข็ง รวมทั้งการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐเพื่อเพิ่มการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ รวมทั้งการประกันสินเชื่อร่วมกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการคลังอย่างเต็มที่เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินผลว่านโยบายที่ดำเนินการไปแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้เพียงใด ขณะที่นโยบายการเงินก็ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำงานสอดคล้องกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่กระทรวงการคลังส่งสัญญาณไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องว่าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในเชิงการแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาค

ธปท.ยันไม่กระทบเงินฝากในระบบ

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การที่รัฐบาลออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งจำนวน 5 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าคงไม่ส่งผลกระทบต่อเงินฝากในประเทศเนื่องจากวงเงินที่มีการออกพันธบัตรดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยเพียง 0.5% เมื่อเทียบกับฐานเงินฝากของประเทศที่มีจำนวน 9.6 ล้านล้านบาท
สำหรับส่วนต่างดอกเบี้ยในพันธบัตรออมทรัพย์กับดอกเบี้ยปกตินั้น มั่นใจว่าจะไม่นำไปสู่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะพันธบัตรที่รัฐบาลออกจำหน่ายให้ประชาชนจะถูกนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในระบบโดยที่ไม่ได้มีการนำไปเก็บไว้ในคลัง และมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสภาพคล่องในระบบ เนื่องจากการออกพันธบัตรในครั้งนี้เป็นการรองรับอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
“รัฐบาลออกบอนด์ครั้งนี้ถือเป็นการลดสภาพคล่องในระบบและสร้างทางเลือกโอกาสในการลงทุนให้แก่ประชาชนมากกว่าการฝากเงินไว้กับสถาบันการ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และสภาพคล่อง” นางอัจนากล่าว

ไม่กระทบแผนออกบอนด์ ธปท.

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวว่า การออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการออกพันธบัตรของธปท.ในอนาคต เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อที่นำเงินออมมาซื้อพันธบัตรธปท.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสถาบันการเงิน และมีบางส่วนที่เป็นรายย่อย แต่มีสัดส่วนที่น้อยมาก ขณะที่พันธบัตรของกระทรวงการคลังเน้นขายให้แก่ผู้ออมเงินที่เป็นผู้เกษียณอายุ และผู้ออมรายย่อยด้วย จึงถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าคนละตลาดกัน
นอกจากนี้ ยังยอมรับมีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามายังไทย โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นถึง 2,000 ล้านบาทภายในวันเดียว แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากขณะนี้มีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ถือว่าสมดุลกัน

สบน.ระบุเป็นพันธบัตรรูปแบบใหม่

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า การออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในครั้งนี้ นับว่ามีความแตกต่างจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านอยู่ 5 ประการ คือ 1.การจำหน่ายในครั้งนี้ ใช้ชื่อว่าพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง วงเงินสูงถึง 50,000 ล้านบาท ปรับสูงขึ้นจากเดิม 30,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นแบบขั้นบันได จากเดิมกำหนดแบบคงที่ เพื่อให้ประชาชนเจ้าของพันธบัตรไม่รู้สึกเสียเปรียบ เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
3. ได้กำหนดเพดานการซื้อพันธบัตรให้ชัดเจนเพื่อกระจายการซื้อจากทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปกลุ่มที่ต้องการซื้อ 4.เป็นการจำหน่ายพันธบัตรที่มีธนาคารเข้าร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายถึง 7 แห่ง มีสาขารวมกันถึง 5,000 แห่ง โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการจำหน่ายจากรัฐบาล และ 5.เงินระดมทุนซื้อพันธบัตรนำไปใช้ลงทุนผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง
วงเงินในการจำหน่ายพันธบัตรของธนาคารแต่ละแห่งมีดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ 1.18 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 1.01 หมื่นล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 8.7 พันล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 7.8 พันล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 4.5 พันล้านบาท ธนาคารทหารไทย 3.8 พันล้านบาท และธนาคารนครหลวงไทย 3.2 พันล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น