xs
xsm
sm
md
lg

คลังกู้เงินเพิ่มเป็น 9.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังเซ็นวันนี้ เอ็มโอยู 7 แบงก์ขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง 5 หมื่นล้านบาท เริ่ม 13-21 ก.ค.นี้ ส่วนแผนก่อหนี้ปรับใหม่เหลือ 1.375 ล้านล้านบาท เหตุรัฐวิสาหกิจกู้ลงทุนน้อยลง แต่ทำให้รัฐกู้มากเป็นประวัติการณ์จาก 8 แสนล้าน เป็น 9.5 แสนล้าน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า รมว.คลัง เตรียมลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท กับธนาคารพาณิชย์ 7 แห่งวันนี้ (26 มิ.ย.) กับ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย ซึ่งวงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรให้ธนาคารแต่ละแห่งจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนเงินฝาก

พันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวมีอายุ 5 ปี จะเปิดจำหน่ายวันที่อัตราดอกเบี้ยจ่ายเป็นแบบขั้นบันได โดย 2 ปีแรกอัตราดอกเบี้ย 3% ส่วนปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 4% และปีที่ 4-5 อัตราดอกเบี้ย 5% หรือเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 4.0%

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวเสริมว่า ได้แบ่งการขายพันธบัตรดังกล่าวเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก ระหว่างวันที่ 13-14 ก.ค.นี้ วงเงิน 15,000 ล้านบาท จะเปิดขายสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถซื้อได้ขั้นต่ำตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 1 ล้านบาท ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ค.สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีสิทธิ์อื่นๆ เช่น องค์กรการกุศลหรือมูลนิธิ วงเงิน 15,000 ล้านบาท สามารถซื้อได้ขั้นต่ำตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท และช่วงที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ค. ยกเว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งขายให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่ 10,000 บาท แต่ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง

“คาดว่า พันธบัตรที่ออกมาดังกล่าวนี้ จะไม่มีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมากนัก เพราะขณะนี้ธนาคารต่างมีสภาพคล่องล้นอยู่แล้ว ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อ เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ใช่สถาบันการเงินแต่อย่างใด” นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว

***ปรับแผนก่อหนี้เหลือ 1.375 ล้านล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการและกำกับหนี้สาธารณะ เปิดเผยภายหลังการพิจารณารับแผนการก่อหนี้ปี 2552 ใหม่ หลังจากภาครัฐมีการกู้เงินมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่และมีการปรับลดวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งทำให้มีความจำเป็นใช้เงินกู้น้อยลง ส่งผลวงเงินก่อหนี้รวมมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจาก 1.396 ล้านล้านบาท เป็น 1.375 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม แผนก่อหนี้ดังกล่าวเป็นการกู้เงินใหม่ 9.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่กู้ 8 แสนล้านบาท โดยได้รวมในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้อีก 1.5 แสนล้านบาท จาก 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องนำมาชดเชยเงินคงคลังในปีนี้ ที่เหลือเป็นการกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ส่วนในปีงบประมาณ 2553 น่าจะมีเพดานการก่อหนี้ในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีส่วนของการกู้ขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท รวมกับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.อีก 2 แสนล้านบาท รวมเป็นการกู้โดยตรง 5.5 แสนล้านบาท

“การบริหารหนี้ภาครัฐ ซึ่งมีทั้งการบริหารเงินคงคลัง การกู้เงินตามแผนไทยเข้มแข็ง การบริหารหนี้รัฐวิสาหกิจ และการออกพันธบัตรขายให้ประชาชน ต้องดูแลให้เหมาะสมรวมทั้งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เตรียมพร้อมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการที่เงินขาดมือ จึงต้องมี พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท เป็นเครื่องมือเพื่อให้การบริหารหนี้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น” นายกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น