xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.คึกซักฟอกแบงก์เอกชนเล็งพนักงานฝ่ายปฏิบัติการชี้โกงมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์พาณิชย์ขนหัวลุก แบงก์ชาติเผย ป.ป.ช.เล็งตั้งสำนักงานติดตามทรัพย์สินและเรียกคืนทรัพย์สิน หวังเพิ่มอำนาจเข้าไปตรวจสอบการทุจริตแบงก์เอกชน นอกเหนือจากแบงก์รัฐและสามารถติดตามทรัพย์สินต่างประเทศดีขึ้น มั่นใจอีกแล้ว ได้ตัว "ราเกซ สักเสนา" กลับไทย ส.ค.นี้ ขณะที่ ป.ป.ช.ระบุผู้บริหาร-พนักงานระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงินมีการทุจริตสัดส่วนที่สูง แนะตรวจสอบทรัพย์สินเป็นพิเศษ หวังสร้างจริยธรรม

เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2552 ในหัวข้อ"ความร่วมมือในการป้องปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน" ซึ่งได้เชิญนักวิชาการและหน่วยงานภาครัฐที่มีความรู้และความชำนาญด้านกฎหมายและคดีมาร่วมบรรยาย

นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการ สำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.เปิดเผยว่า แม้จำนวนคดีมีน้อย แต่การทุจริตในส่วนของสาขาของสถาบันการเงินมีมากขึ้น ทำให้ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเพิ่มอำนาจสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สามารถเข้ามาตรวจสอบการทุจริตสถาบันการเงินภาคเอกชนมากขึ้น โดยการตั้งสำนักงานติดตามทรัพย์สินและเรียกคืนทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษอยู่ภายใต้การดูแลของป.ป.ช.จากเดิมที่กฎหมายให้อำนาจป.ป.ช.แค่ตรวจสอบการทุจริตในสถาบันการเงินของรัฐเท่านั้น

ปัจจุบัน ธปท.ได้ติดตามทรัพย์จากต่างประเทศจากความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่างๆ โดยธปท.ได้ประสานกับทางอัยการ ทำให้อายัดทรัพย์จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 43 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในส่วนนี้สามารถนำเงินกลับมาไทยได้ 1,537.653 ล้านบาท ส่วนในประเทศ Bailiwick of Guernsey สามารถอายัดทรัพย์มาได้ 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ความร่วมมือของธปท.กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ยังสามารถอายัดทรัพย์มาได้ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอังกฤษ ซึ่งในบางคดีมีการนำเงินอายัดในต่างประเทศมาซื้อทรัพย์สินในไทย 105 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนศาลแพ่ง

ด้านนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ป.ป.ช.อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ การติดตามทรัพย์สินกลับคืนและการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งขณะนี้ใน 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และอีก 1 ฉบับ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งเรื่องให้วิปรัฐบาล เพื่อเตรียมบรรจุเข้าสุ่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ทั้งนี้ หากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับผ่านสภาผู้แทนราษฎร ไทยจะสามารถทำสัตยาบันเกี่ยวกับอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต(UNCAC) ซึ่งจะช่วยให้ป.ป.ช.มีอำนาจเพิ่มเติมในการดึงทรัพย์สินคืนจากผู้ร้ายข้ามแดนได้สะดวกขึ้นและสามารถติดตามทรัพย์สินของสถาบันการเงินเอกชนได้ด้วย ซึ่งสำนักงานติดตามทรัพย์สินและเรียกคืนทรัพย์สินก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ใช้กฎหมายนี้

ดังนั้น การตั้งสำนักงานฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำรายละเอียด เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ซึ่งหากขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการได้ดีเชื่อว่าจะสำนักงานนี้จะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยให้คดีต่างๆ ที่ค้างคาอยู่เดินหน้าไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะคดียักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (BBC)กับคดีการทุจริตของ ธนาคารกรุงไทย (KTB)

สำหรับปัญหาการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจที่มีการร้องเรียนมายังป.ป.ช.นับตั้งแต่ปี 43-52 มีทั้งสิ้น 770 เรื่อง โดยเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 485 เรื่อง และอีก 73 เรื่องได้ดำเนินการแสร็จแล้ว และหากดูรายละเอียดเฉพาะปี 51 ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 187 เรื่อง โดยเกี่ยวกับสถาบันการเงิน 56 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินคดี 22 เรื่อง คดีที่ดำเนินการเสร็จแล้ว 12 เรื่อง และอยู่ระหว่างติดตามผลอีก 22 เรื่อง ซึ่งในสัดส่วนถึง 50%ของเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดเพียงคนเดียวหรือแค่เจ้าหน้าที่ระดับพนักงาน ส่วนอีก 50% ที่เหลือเป็นการกระทำผิดร่วมกันหลายคนหรือเกี่ยวกับผู้บริหารและคณะกรรมการของสถาบันการเงิน ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูง

โดยลักษณะของคดีในปี 50-51 คล้ายกัน คือ หากเป็นคดีที่เกี่ยวกับผู้บริหาร หรือคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจมักเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย หรือทุจริตโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือการประกวดราคาขนาดใหญ่ การอนุมัติสินเชื่อ การเรียกหลักทรัพย์ เป็นต้น ส่วนระดับพนักงานมักเป็นการเบืยดบังยักยอกเงินในบัญชีลูกค้าหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่อยู่ในความดูแล ซึ่งเป็นการกระทำครั้งละไม่กมาก แต่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้มูลค่าความเสียหายรวมสูง

"แม้ในปัจจุบันมีกฎหมายและมาตรการในการกำกับดูแลมีความครอบคลุมและข้มงวดค่อนข้างมาก แต่ยังพบปัญหาทุจริตในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยลักษณะปัญหาที่สำคัญที่ตรวจพบ คือ การแทรกแซงกระบวนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสถาบันการเงินและผู้บริหารโดยผู้มีอำนาจจากภายนอก โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่พนักงานระดับปฏิบัติการจะมีการทุจริตซ้ำกันเป็นเวลานานหลายปี แสดงว่ามีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบ" นายภักดีกล่าว

แนะตรวจสอบทรัพย์สินพนักงานปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้พ.ร.บ.สถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 จะทำให้สถิติการร้องเรียนในปัจจุบันลดลงได้มาก และคาดว่าในปี 2553 ลดลงอีก โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ป.ป.ช.เสนอให้เพิ่มมาตรการตรวจสอบสินทรัพย์บุคคลระดับปฏิบัติการที่มีอำนาจเกี่ยวกับการรับจ่าย ถ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินโดยตรงด้วย นอกเหนือจากตรวจสอบแค่ระดับกรรมการหรือผู้บริหารสถาบันการเงิน ซึ่งในหลายประเทศได้มีการดำเนินการไปแล้ว เพื่อป้องปรามปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ควรสร้างจิตสำนักในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม และจริยธรรมของบุคลากรทุกระดับ เพราะขณะนี้ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนที่ร่ำรวยที่มีฐานะและอำนาจมากขึ้นแล้วจะมีจิตสำนักที่ดีกว่า รวมทั้งการพัฒนาระบบตรวจสอบการปฎิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

มั่นใจได้ตัว "ราเกซ" เดือนส.ค.นี้

นายวีระชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ของ BBC ว่า ธปท.มีความมั่นใจประมาณ 80-90% ว่าจะสามารถนำตัวนายราเกซกลับมาดำเนินคดีที่ไทยได้ในเดือนส.ค.นี้ เนื่องจากศาลฎีกา ถือเป็นศาลสูงสุดให้ความสำคัญกับการตีความกฎหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแคนนาดาคัดค้านประกันตัวของนายราเกซ ดังนั้น ขณะนี้ธปท.และอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างประสานงานไปที่แคนาดา และมั่นใจว่าแม้นายราเกซจะยื่นอุทธรณ์ แต่ก็เชื่อว่าศาลฎีกาแคนนาดาจะมีคำสั่งส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย

"ความเสียหายที่เกิดจากคดีนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถติดตามทรัพย์สินกลับคืนมาได้แล้ว 1,537 ล้านบาท และอีก 500 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ซึ่งปัญหาที่มีการค้างคามาหลายปี เนื่องจากมีการสืบพยานหลายปาก" นายวีระชาติกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น