xs
xsm
sm
md
lg

UNDP ชี้คนจนได้รับผลกระทบจากคอร์รัปชันมากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


UNDP ชี้ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อให้คนจนรอดพ้นจากการเอาเปรียบ เผยคอร์รัปชั่นทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรฐกิจชาติ

13 มิถุนายน 2551 -- ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต รายงานใหม่ชื่อ “Tackling Corruption, Transforming Lives” ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี ได้สำรวจมิติต่างๆที่ก่อให้เกิดพฤติการณ์ทุจริตในประเทศภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานชี้ว่า ต้องทำการกวาดล้างองค์กรให้มีความโปร่งใส ทั้งในด้านสุขอนามัย การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ซี่งเป็นความลำดับอันเร่งด่วนที่สุดสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการปลดปล่อยคนจนซึ่งตกเป็นเบี้ยล่างของทุจริตคอร์รัปชัน

รายงานดังกล่าวได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับพฤติการณ์ทุจริตเล็กๆ น้อย ๆที่แพร่กระจายในภูมิภาคนี้ ปิดกั้นโอกาสของกลุ่มคนเปราะบางมากที่สุด ทั้งยังจำกัดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และ การบริการด้านสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน รายงานได้เสนอแนะหนทางใหม่ๆแก่ชุมชนและภาครัฐในความพยายามอย่างหนักในการต่อสู้กับทุจริตคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเซีย

รายงานดังกล่าวเน้นว่า ความพยายามในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมักจะเปิดโปงการทุจริตสำหรับกรณีใหญ่ๆ มากกว่าการทุจริตเล็กๆ น้อยๆ เช่น เงินเดือนของครูที่ไม่มีตัวตนแท้จริงแต่มีเจ้าหน้าที่รับเงิน หมอที่ขูดรีดเงินจากชาวบ้านจนๆ พฤติการณ์ทุจริตเล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่งๆ นั้น ทำให้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ไม่บรรลุตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ในการลดความยากจนให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งภายใน พ.ศ.2558

“การจับเอาตัวคนผิดที่รวยและมีอิทธิพลมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลอาจพาดหัวข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ แต่การที่คนจนจะได้ผลประโยชน์นั้นต้องขจัดคอร์รัปชั่นที่กัดกร่อนสังคมให้สิ้นซาก” นางอนุรา รจิวัน หัวหน้ากลุ่มรายงานการพัฒนาคนส่วนภูมิภาคกล่าว

เธอกล่าวต่อว่า การกระทำทุจริตเล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดา หากคิดเป็นจำนวนเงินจะมีมูลค่าไม่มากนัก แต่หากกระทำกันโดยไม่หยุดหย่อน ผู้คนที่ได้รับผลกระทบกลับมีจำนวนมหาศาล ทำให้คนจนจำต้องแบ่งรายได้ของตนเองไปให้กับธุรกรรมทุจริตคอร์รัปชันเป็นจำนวนเงินสูงทีเดียว

รายงานเน้นว่า การต่อสู้กับคอร์รัปชันปลุกความรู้สึกทางการเมืองมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการบริการด้านสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า สุขอนามัย และด้านการศึกษา เพราะว่าเรื่องเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงแต่เรื่องความน่าเชื่อถือที่มีต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นความพึงพอใจของประชากรในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้รายงานจึงเสนอแนะหลายประเด็นสำหรับผู้นำทางการเมืองในภูมิภาคนิ้เพื่อเป็นข้อพิจารณาต่อไป

ขายความยุติธรรม
ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กลุ่มชนที่ถูกมองว่าทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดคือนักการเมือง รองลงมา คือ ตำรวจ และกลุ่มถัดมา คือ กลุ่มตุลาการ 1 ใน 5 คนในภูมิภาคนี้อ้างว่าเคยติดสินบนเจ้าหน้าทีตำรวจในปีที่ผ่านมา คดีอาชญากรรมในอัตรา 1 ใน 4 ทีมีการดำเนินคดี ข้อมูลกล่าวอ้างในรายงานแจงว่า เหยื่อคดีอาชญกรรมในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ ได้รับการขอร้องไม่ให้แจ้งความในการดำเนินคดี และส่วนใหญ่เหยื่อที่ได้รับเคราะห์กรรมจะให้เหตุผลว่าไม่เชื่อใจตำรวจ รายงานกล่าวว่า ความยุติธรรมมีราคาที่จะต้องจ่ายเช่นกัน จำนวน 2 ใน 3 ของประชากรในภูมิภาคนี้มีความเห็นว่าศาลยุติธรรมก็มีส่วนในการทุจริตคอร์รัปชัน

ความโลภ กับความต้องการด้านบริการทางสังคม
เมื่อความโลภอยู่เหนือจิตสำนึกการสร้างบริการทางสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้กองทุนโครงการพัฒนาทั้งหลายทั้งปวงของรัฐ เช่น โครงการฉัดวัคซีนภูมิคุ้มกันโรคที่มีการทุจริต ส่งผลให้เด็กนับล้านในภูมิภาคเสียชีวิตในแต่ละปี สาเหตุจากโรคท้องร่วง หรือ โรคต่างๆ เพราะดื่มน้ำไม่สะอาดและการสุขาภิบาลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รายงานระบุว่า จากผลการศึกษาในบางประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันสูงมากๆ กลับมีโครงการเพื่อภูมิคุ้มกันโรคสำหรับเด็กน้อย

ด้านการศึกษา รายงานชี้ว่า ประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากๆจะโยงใยถึงการเข้าโรงเรียนของเด็กในอัตราต่ำ และเด็กๆ ต้องหยุดไปโรงเรียนกลางครัน อัตราการไม่รู้หนังสือของเด็กเป็นรากเหง้าของความยากจน ตัวอย่างที่เลวร้ายที่สุดของคอร์รัปชันทางการศึกษา พบว่ามี “ครูผี” ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรับเงินเดือน แต่ครูผู้นี้ไม่เคยก้าวเข้ามาในโรงเรียนเลย แม้แต่ “โรงเรียนผี” ก็ยังมีด้วย

รายงานกล่าวว่า ในขณะที่การให้บริการด้านสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา สุขาภิบาล และไฟฟ้ายังคงมีค่าบริการที่แพง และโครงการด้านบริการเหล่านี้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก พบว่ามีงบประมาณจ่ายเงินเกินความจำเป็นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ที่ผ่านขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน ชาวบ้านคนจนๆ ไม่มีทางเลือกได้แต่จ่าย “เงินด่วน” เพื่อจะได้ใช้บริการด้านสาธารณูปโภคเร็วๆ จากการสำรวจในบังคลาเทศพบว่าครัวเรือนร้อยละ 60 ต้องให้สินบน หรือ ต้องจ่ายเงินสินบนหรือใช้อิทธิพลลงเส้นสายเพื่อให้รับการติดตั้งและได้ใช้น้ำประปา

แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ
ที่ดินผืนป่ากว้างใหญ่ เหมืองแร่ ในหลายประเทศภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคน่าจะเป็นฐานรากที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคน รายงานฯ กล่าว แต่ปรากฏว่าทรัพยากรธรรมกลับถูกแย่งชิงไปเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตนเพราะขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน เบียงเบนกรรมสิทธิ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของรัฐ และผ่องถ่ายให้แก่พวกพ้องหรือบริษัทเอกชน และยอมจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อตราตัวบทกฎหมายและหลีกเลี่ยงกฎข้อบังคับเพื่อผลประโยชน์มิชอบ

ประเทศไทยเตรียมให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต
ประเทศไทยเตรียมพร้อมในการให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตภายในปี รายงานฯ ได้นำเสนอภาพปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศต่างๆ ว่ามีความซับซ้อนกว่าในอดีต จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศและความมุ่งมั่นของภาครัฐที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจความตกลงต่างๆที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต เช่น พันธกรณีในอนุสัญญาฯ ได้ปฏิบัติใช้อย่างเต็มที่

ถึงแม้จะรู้ถึงคุณค่าของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต แต่ยังคงไกลปืนเที่ยงที่จะให้เป็นฉันทามติสากล แม้ว่าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งแปดประเทศได้ลงนามในอนุสัญญาฯแล้ว แต่มีเพียงห้าประเทศที่ได้ให้สัตยาบันรับอนุสัญญาฯ นั่นหมายความว่าเป็นเพียงการลงนามในอนุสัญญาฯ เท่านั้นยังมิได้มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา จากจำนวน 35 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค 19 ประเทศได้ลงนามรับรองแล้ว และ 10 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา

“ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันประชาธิปไตย อาจก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล” นางกวี โยป-ซน ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ และผู้แทนยูเอ็นดีพี ประจำประเทศไทยกล่าว

นางกล่าวต่อว่า “การที่ประเทศไทยจะร่วมให้สัตยาบันจะเป็นอีกหนึ่งก้าวในทางบวก อย่างไรก็ตามความสำคัญยิ่งอยู่ที่การปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ซึ่งกระทำได้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรม เสริมสร้างความตระหนักการต่อต้านการทุจริต ให้แทรกซึมไปยังทุกภาคส่วน และต้องมีการติดตามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด องค์การสหประชาชาติพร้อมที่ให้การสนับสนุนในกระบวนการต่อต้านการทุจริต”

คำเรียกร้องสำหรับแผนปฏิบัติการ
รายงานแย้งว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไม่มีเพียงคำตอบเดียว แต่มีทางเลือกหลายทางที่อาจใช้ด้วยกันได้ในหลายประเทศสำหรับภูมิภาคนี้ ได้แก่
• เพิ่มเงินเดือนให้แก่แพทย์ ครู และข้าราชการพลเรือน เพื่อไม่ต้องพึ่งเงินสินบนในการครองชีพ ทำให้การจัดสรรตำแหน่งในระบบราชการยึดความรู้ความสามารถ ปฏิรูปกลไกระบบความโปร่งใสให้แข็งแกร่ง
• ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณที่ได้มาตราฐานสากล
• ตราและบังคับใช้กฏหมายเกี่ยวกับสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
• ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการบริหารองค์กรด้วยอิเลคโทรนิกส์เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในภาครัฐ
• สนับสนุนประชาชนพลเมืองให้ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน กำกับการทำงานภาครัฐส่วนท้องถิ่นด้วยการเปิดเผยข้อมูล เช่น สัญญาจ้างต่างๆ ทั้งนี้พื่อให้พลเมืองสามารถตรวจสอบได้
กำลังโหลดความคิดเห็น