xs
xsm
sm
md
lg

สมชาย-อภิสิทธิ์"โชว์กึ๋น แนวทางขจัดคอร์รัปชั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30น.วานนี้ (9 เม.ย.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานในโครงการประชุมชี้แจงเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปสู่การปฏิบัติ พร้อมกับกล่าวเสนอแนวทางในหัวข้อ "บทบาทภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต" ทั้งนี้ภายในงานยังมี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน มากล่าวบรรยายในหัวข้อ "ภาคการเมืองกับความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต" โดยมี นายอุทิศ ขาวเธียร รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายภักดี กล่าว อธิบายถึงบทสรุปยุทธศาสตร์ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่า ภายหลังจากดัชนีชี้วัดการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงสาเหตุที่นำไปสู่การทุจริตนั้นมากจากหลายปัจจัย เช่นกระแสบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม กระบวนการยุติธรรมไม่เข็งแรง อีกทั้งสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ รวมถึงความเบื่อหน่าย เพิกเฉยของประชาชน แม้ว่า ประชาชนร้อยละ 80 เห็นว่า ความซื่อสัตย์เกินไป ไม่มีไม่มีความก้าวหน้าทางการงาน แต่ยอมรับว่า แม้มีการทุจริตแล้วมีผลงาน ก็สามารถยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อถือการยอมรับในเวทีโลก ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่กล้ามาลงทุนในไทยเพราะเห็นว่า ประเทศไทยมีการทุจริตคอร์รัปชั่นสูง
นายภักดี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ ปลูกจิตสำนึก ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และสร้างวินัยแก่ทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ รวมพลังแผ่นดินป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่หน่วยงานต่อต้านการทุจริต ยุทธศาสต์ที่ 4 สร้างบุคลากรมืออาชีพป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีกลไกขัลเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและติดตามประเมินผล
การจัดทำแผนในครั้งนี้ ตั้งแต่ปี 50- 62 ที่มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำแผน หนุนยุทธศาสตร์ รวมถึงจัดสรรงบประมาณ ทั้งในส่วนราชการ และบุคคล ภายใต้โครงการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีการจัดการประเมินผล และจัดปรับแผนการดำเนินงานทุกปี
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานการยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวทางคณะได้จัดสัมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลหลายฝ่ายทั้ง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากภาคต่างๆ รัฐวิสาหกิจ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรอิสระ โดยเฉพาะการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภูมิภาค
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า แผนรัฐบาลจะสวยหรูอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เดินก็ไม่มีค่า เชื่อว่าหากคนที่นำไปปฏิบัติไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็คงเหมือนเดิมไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ คิดว่าต้องตระหนักร่วมกันในการผลักดันร่วมกันทั้งรัฐบาลและผู้ปฏิบัติ เรื่องยุทธศาสตร์นี้ ตนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และจะทำอย่างไรไม่ให้หมิ่นเหม่ดูว่า ภาครัฐจะไม่เข้ามาก้าวก่าย แทรกแซง และพร้อมให้ความร่วมมือกับทางป.ป.ช.
ทั้งนี้ เชื่อว่าถึงยุคที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชาติยังไม่เปลี่ยนแปลงยังมีจุดที่ต้องสำนึกว่าทำแล้วสำคัญแค่ไหน บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร ไม่ใช่คนรวยเข้ามากอบโกย คนจนก็จนอยู่อย่างนั้น
"ในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการมาก่อนในส่วนภาครัฐต้องทำความเข้าใจกับราชการโดยแชร์ความรู้สึกกัน คิดว่าต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เมื่อตอนเข้ามาเป็นผู้พิพากษามาใหม่ๆ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์ของผมสอนว่า ต้องเข้าใจว่า มาเป็นผู้พิพากษาแล้วไม่รวย แต่พอมีพอกินลูกเมียไม่เดือดร้อน อย่าหวังว่าจะรวย และรู้สึกว่า ถ้าอยากรวยมีงานอื่นที่ทำให้รวยได้โดยไม่ต้องคดโกงใครไปเป็นพ่อค้า ก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าเป็นผู้พิพากษาแล้วรวยก็ขอให้ลาออก ถ้าคุณรวยแสดงว่า ต้องโกง เท่าที่ผมจำได้ ต้องให้ข้าราชการเข้าใจ บอกว่า เมื่อท่านมาเป็นข้าราชการ ต้องรู้ฐานะตัวเองจะต่อไปจะเป็นอย่างไร ถ้าหวังจะรวยไม่ต้อง ยกเว้นว่า พ่อแม่รวย พ่อตาแม่ยายรวย" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางในการปราบปรามการทุจริต แต่ไม่ได้มีเครื่องมือเลย มีเพียงกระทรวงมหาดไทย กฎระเบียบต่างๆไม่เพียงพอ แต่เมื่อมี ป.ป.ช. จึงมีหน่วยงานที่ปราบปรามเด็ดขาด จริงจัง ทางรัฐบาลก็มีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เกิดขึ้น โดย ครม.จะเร่งนำเสนอรายชื่อคณะกรรมการต่อสภาต่อไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดย ป.ป.ท.จะทำงานเชื่อมโยงกับ ป.ป.ช. และป.ป.ช.สามารถล้วงลูกได้เพื่อไม่ให้เกิดความติดขัด ถ้าเห็นว่าสมควรจะนำมาดำเนินการ ตรงนี้จะนำไปสู่ภาครัฐในการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติด้วย
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายสำคัญหลายฉบับเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ถ้ามองอีกมุมหนึ่งคิดว่าปัญหาการทุจริต รุนแรงมีมากขึ้น ถามว่า สังคมในอุดมคติคิดว่า สังคมที่มีปัญหาการทุจริต มีองค์กรปราบปรามการทุจริตมีมากขึ้น ไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเดินไป ตรงข้าม ถ้าสังคมเป็นสังคมสุจริต งบประมาณก็ไม่ต้องเสีย ตามที่รองนายกฯ พูดถึง ข้าราชการบางฝ่าย บุคคลบางกลุ่ม คนไม่ดีเป็นกลุ่มเล็กๆ ทำให้เสียภาพลักษณ์ แต่ถ้าถามหลายคนจะมองว่า เริ่มไม่แน่ใจว่าคนไม่ดีมีเพียงเล็กน้อย ตัวเลขที่น่ากลัวที่สุด คือตัวเลขการสำรวจของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา ที่บอกว่ายอมรับว่า การดำรงความซื่อสัตย์ แต่ก้าวหน้าในการงานน้อย ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่มากโดยเฉพาะค่านิยม
"เห็นได้ชัดว่าสังคมกำลังมีความสับสนไขว้เขว ค่านิยมที่สะท้อนทัศนคติ ที่เผยแพร่กันมาว่า ยอมรับการโกง ยอมรับการทุจริต โกงก็ได้แต่ต้องมีผลงาน โกงก็ได้แต่ต้องได้รับผลประโยชน์บ้าง ถ้ามีการเผยแพร่ต่อไปจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเรียกร้องให้จัดการปัญหาการทุจริต เราพูดกันว่าอยากให้สังคมเกลียดการคอร์รัปชั่น เรากล้าหรือยัง ที่จะรังเกียจคนทุจริต คอร์รัปชั่น ไม่ให้การยอมรับ ไม่ยกย่อง ไม่ว่าจะมีฐานะทางการเงิน ตำแหน่ง ถือเป็นจุดที่ท้าทาย เชื่อว่าทำได้ยุทธศาสตร์อื่นเป็นเรื่องรอง อยากจะชี้ให้เห็นถึงความสับสนในสังคมเราเสียเวลามากในการช่วยคนผิดมากกว่าจะเดินตรงไปตรงมาตามกฎหมาย สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความเสื่อมถอย" นายอภิสิทธ์ กล่าว
นายอภิสิทธ์ เสนอว่า ทางยุทธศาสตร์ฯ น่าจะมีการวิจัยศึกษาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชั่น จากทางภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่ได้รับปัญหาและอุปสรรค โดยเก็บเกี่ยวบทเรียนเพื่อหามาตรการป้องกัน ตัวอย่างเช่น การปฏิรูประบบราชการ ตราบใดที่มีกฎระเบียบ หยุมหยิมมากมายก็จะนำไปสู่การทุจริต ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ปรับปรุงล่าช้า ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายทำให้เกิดความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ความละอายของคนน้อยลง หลายคนทำแล้วไม่รู้สึกอะไร การที่ทำธุรกิจมีอำนาจเอื้ออยากจะเสนอแนะว่า กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจต้องมีกระบวนการติดตาม การจับปลาในการทุจริตตัวเล็กๆนับพันตัวไม่เท่าจับปลาตัวใหญ่ได้เพียงตัวเดียว อย่างที่รองนายกฯระบุว่า ได้ไม่คุ้มเสีย
นอกจากนี้ปัญหาในการคุ้มครองพยานในการให้ข้อมูลทุจริต คอรัปชั่น ต้องช่วยกันคิดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้มีผู้ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตามปัญหาการคอรัปชั่นต่างๆจะทำอย่างไรไม่ให้ได้รับการแทรกแซงจากการเมือง ในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งยอมรับว่า นักการเมือง ผิดไม่น้อยไปกว่าราชการ และธุรกิจ ที่เข้ามามีส่วนในการสร้างปัญหาคอรัปชั่น ทั้งนี้ต้องกระตุ้นจิตสำนึกให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น