xs
xsm
sm
md
lg

แนะตั้งอสส.-กฤษฎีกาภาคปชช.ตรวจสอบรัฐใช้อำนาจมิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลุกพลังภาคประชาชน-ข้าราชการน้ำดีลุกขึ้นตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ชี้ช่องใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเบิกทาง จัดตั้งอัยการ – กฤษฎีกา ของประชาชนเป็นกลไกและเครื่องมือหนุนช่วย เรียกร้องปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ชาวบ้านเข้าถึงแทนการสร้างองค์กรใหม่กลบเกลื่อนปัญหาเก่าไม่สิ้นสุด

ในการอภิปรายเรื่อง “เราจะตรวจสอบการใช้อำนาจที่ใช้โดยไม่ชอบของรัฐบาลได้อย่างไร” เนื่องในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2551 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งเก็บรับบทเรียนความล้มเหลวในการจัดตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาเป็นแนวทางนั้น ได้เปิดกว้างให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทางตรงได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นการเติมพลังภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงและกล้าคานอำนาจรัฐ
นายสุรชัย กล่าวว่า ภายใต้รธน. 2550 การใช้อำนาจทางตรงของประชาชน สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ตั้งแต่มาตราการในการคัดกรองผู้ที่จะเข้าใช้อำนาจรัฐในมาตรา 237 จุดมุ่งหมายของมาตรานี้ ก็เพื่อให้ได้บุคคลที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐเป็นไปโดยบริสุทธิ์ โปร่งใส และเป็นกระบวนการที่ไม่ได้แยกผู้สมัครออกจากพรรค เพราะหากการเข้าสู่อำนาจรัฐโดยมิชอบก็ไม่มีความน่าเชื่อถือว่าจะเข้ามาใช้อำนาจโดยชอบได้ จะนำไปสู่การเป็นรัฐบาลที่แสวงหาอำนาจเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ เพื่อนำเอาผลประโยชน์นั้นไปแสวงหาอำนาจรัฐต่อไปไม่สิ้นสุด
“การเลือกตั้งในช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 มีคดีที่ถูกร้องเรียนจากการเลือกตั้งกว่า 5,000 คดี ซึ่งหมายถึงส่วนที่เคลียร์ไม่ลงตัว ส่วนที่เคลียร์ลงตัวไม่ฟ้องร้องกันอีกเท่าไหร่ ทั้งหมดคือคนที่เข้าไปใช้อำนาจรัฐ ประชาชนต้องตรวจสอบตั้งแต่การเลือกตั้งเพื่อคัดกรองคนที่จะเข้าไปใช้อำนาจ”
อดีต ส.ส.ร. กล่าวต่อว่า ยังมีอีกหลายมาตราที่เปิดให้ประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐได้ เช่น มาตรา 271 ที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 อาทิ นายกรัฐมนตรี ส.ส. รัฐมนตรี ฯลฯ ออกจากตำแหน่ง มาตรา 212 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งการใช้สิทธิตามมาตรานี้ ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว และมาตรา 275 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระควบคู่ไปกับการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น
นายสุนัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จำเป็นต้องพัฒนาการเมืองภาคประชาชนและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ใช่องค์กรแผ่นกระดาษ ขณะเดียวกันบรรดาข้าราชการประจำที่ถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ควรตระหนักในหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช้ข้าราชการประจำของนักการเมือง
นางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิก (ส.ว.) กล่าวถึงประสบการณ์การเคลื่อนไหวในการต่อต้านคอร์รัปชั่น หรือการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ว่า ได้เลือกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อหาข้อยุติและเชื่อว่ากฎหมายต้องนำความเป็นธรรมมาสู่สังคม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการทุจริตยา การฟ้องร้องกรณีแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการฟ้องบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกคืนสมบัติของแผ่นดิน แม้ว่าการต่อสู้แต่ละครั้งจะมีทั้งคนให้กำลังใจและหลายคนบอกว่าไม่มีทาง แต่ตนเองไม่เคยหมดหวัง ทำทุกอย่างด้วยใจ และพลิกแพลงหาช่องทางจนกระทั่งชนะคดี แม้บางคดีจะใช้เวลายาวนานอย่างเช่น ทุจริตยา ที่ใช้เวลาถึง 5– 6 ปี
นางสาวรสนา กล่าวว่า เวลานี้ประชาชนตื่นตัวสูงมากในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและต้องการความยุติธรรม ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือ 1) เครื่องมือคือรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ยังขาดกลไกสนับสนุน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีอัยการ มีคณะกรรมการกฤษฎีกา ประชาชนก็ควรจะมีอัยการและคณะกรรมการกฤษฎีกาภาคประชาชน เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งบทบาทนี้หากสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ กองทุนสัญญา ธรรมศักดิ์ จะสร้างกลไกลเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อภาคประชาชนอย่างยิ่ง
2) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีการอภิวัฒน์ เปิดให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมในทางกฎหมายได้ง่ายขึ้น ในส่วนของนักนิติศาสตร์ควรเปิดโลกทัศน์ มีวิธีคิดที่กว้างขึ้น ไม่ใช่ยึดประมวลกฎหมายและมีแต่ความตีบตันหมดสิ้นหนทาง และ 3) การออกกฎหมายของ ส.ส. ต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าไปใช้กลไกต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น การถอดถอน ต้องทำได้ง่ายไม่ใช่วนเวียนเหมือนเขาวงกต มีมาตรการ “ขอเสียงคืน” ของประชาชน หากส.ส.ที่เลือกเข้าไปไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ไม่ต้องรอให้ถึง 4 ปีถึงจะมีสิทธิ์ออกเสียง
นอกจากนั้น องค์กรตรวจสอบของรัฐ เช่น ป.ป.ช. ควรเปิดเผยผลการตรวจสอบคดี รวมถึงคดีที่ยกไม่ส่งฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบสามารถทำได้หลายแนวทาง ทั้งการแทรกแซงองค์กรอิสระ การทุจริตคอร์รัปชั่น การออกนโยบาย เช่น การปราบปรามยาเสพติด หรือแม้กระทั่งการให้สัมภาษณ์กรณี อ.ส.ม.ท.ของนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ ขณะที่การหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่มีความเป็นไปได้ยาก เพราะเวลานี้หน่วยงานด้านยุติธรรม อย่างเช่น ศาลฎีกา มีคดีค้างอยู่กว่า 30,000 คดี ศาลอุทธรณ์ 40,000 กว่า คดี และ ป.ป.ช. ทำคดีได้เพียงปีละ 2% จากคดีที่ค้างอยู่กว่า 20,000 คดี ส่วนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะไม่เกิดขึ้น เช่น อัยการสูงสุด ไม่เปิดเผยว่าเหตุใดจึงไม่ฟ้องคดีความต่างๆ โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆ
นายประสงค์ กล่าวว่า การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนที่จะสร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกลบปัญหาองค์กรเก่า ควรจะหันกลับไปยกเครื่องหรือปฏิรูปกระบวนการกระยุติธรรมขั้นพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, อัยการ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ป.ป.ช. ฯลฯ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น