xs
xsm
sm
md
lg

“บริวารแม้ว” ตีรวนยึดทรัพย์ทักษิณ 76,000 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมครอบครัวที่อังกฤษ
การเคลื่อนไหวกดดัน ป.ป.ช. คลัง แบงก์ชาติ และแบงก์พาณิชย์ ให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์ครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ โดยบริวารของทักษิณ อ้างเหตุ คตส. ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ได้หมดวาระไปแล้ว ถือเป็นการเดินเกมเพื่อมุ่งหวังให้สังคมเกิดความสับสน หลงกล สร้างภาพ “ทักษิณและครอบครัว” ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกรุกไล่ไม่จบสิ้น ทั้งที่ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ได้ให้อำนาจรองรับการอายัดหรือยึดทรัพย์คนโกงชาติไว้อย่างแจ่มแจ้ง สิ้นสงสัยในทุกกระบวนการ

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส. เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน เป็นประธาน ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) กรมบัญชีกลาง กรมสรรพกร และธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูล กรณีที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว วงเงิน 76,000 ล้านบาท

ประธานคณะกรรมาธิการฯ อ้างเหตุผลว่า ในเมื่อ คตส.ซึ่งไปผู้ออกคำสั่งได้หมดวาระไปแล้ว เหตุใดจึงไม่ยอมเพิกถอนการอายัดทรัพย์ และการฟ้องร้องยึดทรัพย์ที่กำลังดำเนินอยู่อาศัยอำนาจหรือข้อกฎหมายใด เป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจตามกฎหมายหรือไม่

แผนสร้างความสับสนข้างต้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงหมากกลตื้นๆ ของบริวารไข่แม้ว เพราะหากมองย้อนกลับไปพิจารณาถึงความเป็นมา ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย จะพบว่า การดำเนินการในเรื่องนี้มีอำนาจตามกฎหมายอย่างแจ่มชัด มีการตรวจสอบที่รอบคอบรัดกุม และระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับยุคยึดทรัพย์ คณะ รสช. ที่จบลงด้วยความว่างเปล่า

*** อำนาจ คตส. ยึดและอายัดทรัพย์

เหตุผลสำคัญในการรัฐประหาร เมื่อเดือนก.ย. 2549 ประการหนึ่งก็คือ การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นของอดีตผู้นำประเทศและบริวาร โดยคณะรัฐประหาร ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. เพื่อเข้ามาทำหน้านี้โดยเฉพาะ

อำนาจของ คตส. นอกจากตรวจสอบ ไต่สวน การกระทำที่เข้าข่ายทุจริต สรุปคดีเสนออัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องต่อศาล หรือใช้อำนาจของ คตส. สั่งฟ้องเองแล้ว ประกาศฉบับดังกล่าว ยังให้อำนาจ คตส. ยึดและอายัดทรัพย์เอาอีกด้วย

ในหลักการและองค์ประกอบในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ระบุไว้ ดังนี้

หนึ่ง หลักการในการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ก็เพื่อเป็นวิธีการชั่วคราวมิให้มีการยักย้ายทรัพย์สิน จำหน่ายหรือจ่ายโอนทรัพย์สินเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของมหาชนจากการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติของบุคคลที่ถูกกล่าวหาจาก คตส.

ความมุ่งหมายของ คตส. นั้น มิได้มุ่งหมายเพียงเพื่อนำบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายอาญามารับโทษของบ้านเมืองเท่านั้น หากแต่ยังมีความมุ่งหมายที่จะต้องนำผลประโยชน์ของประเทศชาติที่สูญเสียไปจากการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติจากบุคคลที่ถูกกล่าวหากลับคืนมาด้วย

แต่โดยกระบวนการในการพิสูจน์ความผิดทางอาญาของบุคคลเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินการ หากรอให้กระบวนการดำเนินการจนเสร็จสิ้นแล้วจึงมาดำเนินการเอากับทรัพย์สินของบุคคลนั้น ท้ายที่สุด รัฐจะไม่สามารถนำทรัพย์สินที่บุคคลนั้นได้ไปจากการทุจริตหรือประพฤติมิชอบกลับคืนมาได้ เพราะมีการยักย้าย จำหน่ายหรือจ่ายโอนทรัพย์สินนั้นไปจนหมดสิ้น ประกาศของ คปค. ฉบับที่ 30 จึงได้ให้อำนาจ คตส. ในการที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลที่ตรวจสอบจาก คตส. ได้ หากกรณีเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้

สอง องค์ประกอบการในการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตามประกาศฉบับดังกล่าว เป็นไปตามข้อ 5 วรรคสอง ของประกาศดังกล่าว ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และมีพฤติการณ์ว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้”

*** เข้าข่ายพฤติการณ์ทุจริต-ร่ำรวยผิดปกติ

ผลจาการตรวจสอบและไต่สวนในคดีต่างๆ ของ คตส. ได้ลุล่วงถึงขั้นมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ที่ถูกอายัดทรัพย์) กับพวกได้ทุจริตประพฤติมิชอบและร่ำรวยผิดปกติได้ทรัพย์สินโดยมิสมควร จากการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการของบริษัทเอกชน เป็นเหตุให้ได้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยรวม ดังนี้

***พฤติการณ์ทุจริตประพฤติมิชอบ*** มีพยานหลักฐานถึงขั้นถูกกล่าวหา 5 คดี และเกิดความเสียหายต่อรัฐ ดังนี้

1) การทุจริตโครงการจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก มูลค่าสัญญา 772 ล้านบาท 2) การจัดซื้อกล้ายาง มูลค่าตามสัญญา 1,400 ล้านบาท (ซึ่งภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ถูกข้อกล่าวหาจากคดีนี้) 3) การทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ประมาณ 1,500 ล้านบาท 4) โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว ละ 2 ตัว ทำให้รัฐเสียหายประมาณ 37,790 ล้านบาท

***พฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ*** มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภริยายังคงถือไว้ซึ่งหุ้นธุรกิจสัมปทานของบริษัทเอกชนตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นต้นมา แต่ได้ให้บุตร ญาติ หรือบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้ถือหุ้นเอาไว้แทน และยังได้ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการของเอกชนหลายประการ ดังนี้

1) แก้ไขสัญญาข้อตกลงลดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า เพื่อประโยชน์แก่เครือชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ตลอดอายุสัมปทานเป็นเงิน 71,667 ล้านบาท 2) แก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์ตัดส่วนแบ่งรายได้ให้บริษัททีโอทีฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เครือชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 700 ล้านบาท

3) ตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และได้มีมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อประโยชน์แก่ชินคอร์ป ทำให้รัฐวิสาหกิจของรัฐเสียหายประมาณ 30,667 ล้านบาท

4) ให้บริษัททีโอทีฯ เช่าและลงทุนระบบคลื่นความถี่ดาวเทียมของบริษัทเอกชนรายหนึ่งเป็นเหตุให้บริษัททีโอทีฯ รัฐวิสาหกิจของรัฐเสียหายเป็นจำนวนเงิน 700 ล้านบาท 5) สั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่า เพื่อซื้อสินค้าจากบริษัทชินแซทเทิลไลท์ฯ วงเงิน 4,000 ล้านบาท

***การใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตนเอง มีทั้งที่อดีตผู้นำเกี่ยวข้องสั่งการเองโดยตรง หรือละเว้นไม่กำกับสั่งการดูแล มีความพยายามหลีกเลี่ยงขั้นตอนการตรวจสอบตามกฎหมายทุกครั้ง เป็นผลประโยชน์อันมิควรได้ตกเป็นมูลค่าแฝงอยู่ในหุ้นของตนจนมีราคาสูงขึ้นอย่างผิดปกติตลอดเวลา***

ในท้ายที่สุด อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ผลักดันให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 โดยเพิ่มเติมให้บุคคลต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทด้านกิจการโทรคมนาคม จากเดิมไม่เกินร้อยละ 25 เป็นไม่เกินร้อยละ 50 พร้อมๆ กับการเจรจาเพื่อขายหุ้นที่มีชื่อครอบครัวและบริวารของตนเป็นเจ้าของอยู่ร้อยละ 49.2 ให้แก่กองทุนเทมาเส็ก

ซึ่งเมื่อพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ม.ค. 2549 ก็ได้ดำเนินการขายหุ้นให้กองทุนเทมาเส็ก ในวันจันทร์ที่ 23 ม.ค. 2549 ได้เงินจากการขายหุ้นทั้งหมด 73,271 ล้านบาท

คตส. ได้สรุปว่า ผลการดำเนินการตรวจสอบและไต่สวนมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า อดีตนายกรัฐมนตรี มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติและเนื่องจากพบว่าเงินบางส่วนได้ยักย้ายถ่ายโอนแล้ว เช่น เงินค่าขายหุ้นชินคอร์ป คงเหลือในบัญชีประมาณ 52,884 ล้านบาทเท่านั้น

***อาศัยอำนาจตามความในประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ก.ย. 2549 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 วรรคสอง และข้อ 8 จึงมีมติให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน การอายัดทรัพย์ตามคำสั่งทั้งสองนี้ให้อายัดไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง***

นั่นคือที่มาที่ไปของคำสั่งอายัดทรัพย์ และกำลังจะถูกยื่นฟ้องยึดทรัพย์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

คำสั่งอายัดทรัพย์ของ และการตรวจสอบของคตส. กระทั่งนำคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้องในหลายคดี เป็นเหตุให้ทนายความของครอบครัวชินวัตร ร้องต่อศาลฯ เพื่อโต้แย้งอำนาจของ คตส. ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความสถานะของ คตส. ตามคำร้อง

***ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2551 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง เห็นว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ตั้ง คตส. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าคณะคปค. เป็นผู้มีอำนาจและรัฏฐาธิปัตย์ ในขณะนั้น จึงมีอำนาจออกกฎหมายใช้บังคับใช้ และการต่ออายุ คตส. ก็เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้คตส.ทำงานได้ต่อเนื่อง ไม่ถือเป็นองค์กรใหม่ และประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ***

*** ป.ป.ช. ยืนยันฟ้องศาลยึดทรัพย์

เมื่อ คตส. หมดวาระการทำงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2551 ก็ได้ส่งมอบงานให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ยกเลิกการอายัดทรัพย์สินที่ คตส.สั่งอายัดไว้

แต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียงว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจยกเลิกคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ คตส. ที่ดำเนินการตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเดินหน้าพิจารณาสำนวนคดีที่ คตส. ส่งมาให้ดำเนินการต่อ

จากนั้น ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาความไม่สมบูรณ์ของสำนวนไต่สวนกรณี คตส. มีมติให้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีแพ่ง ข้อหาเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของคนเองและพวกพ้อง ร่ำรวยผิดปกติ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน จำนวน 76,000 ล้าน ตกเป็นของแผ่นดิน

เมื่อคดียึดหรืออายัดทรัพย์ ตกมาอยู่ในมือของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การตีรวนสร้างเรื่องให้สังคมสับสนก็เกิดขึ้นอีก เช่นเดียวกับที่บริวารไข่แม้ว เคยเดินเกมลดทอนความน่าเชื่อถือ ความชอบธรรม และอำนาจของคตส. มาโดยตลอด

***แต่กรณีของ ป.ป.ช. ต่างจากกรณีของ คตส. ที่อิงอำนาจคณะรัฐประหาร เพราะ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ มีกฎหมายรองรับ มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานและชัดเจน

ก่อนนี้บริวารทักษิณ ได้นำประเด็น ป.ป.ช. มีที่มาไม่ถูกต้อง เพราะตั้งโดย คปค. เหมือนกับกรณีที่ คตส. แต่เรื่องดังกล่าวได้รับการยืนยันโดยป.ป.ช. ได้นำหนังสือตอบกลับจากสำนักงานราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ที่ รล. 0001.1/14292 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2551 ลงนามโดยนายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ ที่ขอให้ยกเลิกชั้นความลับหนังสือที่ราชเลขาธิการตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549 โดยเฉพาะส่วนที่ระบุว่า
 
 “ป.ป.ช.ที่ คปค.ได้มีประกาศฉบับที่ 19 แต่งตั้ง ถือได้ว่ามีผลสมบูรณ์บังคับใช้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะนั้น คปค.มีฐานะเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ประกาศหรือคำสั่งของ คปค.ย่อมมีผลบังคับใช้ได้มาตั้งแต่ต้น”


นายศราวุฒิ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการคลังฯ ว่า ป.ป.ช. มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 78 ที่ให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติได้ ก่อนจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อวินิจฉัยเป็นขั้นตอนสุดท้าย

การสวนกลับของเลขาธิการ ป.ป.ช. ต่อข้อสงสัยของประธานคณะกรรมาธิการการคลังฯ ในประเด็นที่ว่า ป.ป.ช. ใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงดูออกง่ายๆ ว่า ผู้ตั้งข้อสงสัยทำทีแสดงอาการ “แกล้งโง่” เพื่อสร้างความสับสน คลุมเครือให้สังคม สร้างเรื่องให้ดูเหมือนว่าอดีตนายฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

อนึ่ง พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 78 ระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่าทรัพย์สินรายใดของผู้ถูกกล่าวหาเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติและมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินดังกล่าว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัด ทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยมี หรือไม่มีประกันหรือหลักประกันก็ได้

“เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีการพิสูจน์เกี่ยวกับ ทรัพย์สินโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดชั่วคราวมิได้เกี่ยวข้อง กับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัด หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องใน คดีนั้น แต่ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ก็ให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้นั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น