xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา”ลั่นตามทวงสมบัติชาติ ขู่คลังแอบฮั้วปตท.เจอเช็กบิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – “รสนา” แฉคลังทำงุบงิบปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่ปตท.คืนให้แผ่นดิน เผยขอให้ส่งข้อมูลต่อคณะกรรมการธิการฯ วุฒิสภา มาสองสัปดาห์แล้วยังเงียบ ขณะที่เรื่องอื่นใช้เวลาแค่ 3 วัน ขู่หากคลัง-ปตท.สมคบคืนสมบัติแผ่นดินไม่ครบตามเจอเชคบิลแน่ ด้านองค์กรผู้บริโภคเตรียมหารือ “ทนายกู้ชาติ” ยื่นศาลขอรับทราบผลบังคับคดีโอนทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิคืนรัฐ พร้อมงัดมาตรา 157 ตรวจสอบผู้บริหารปตท. กรมธนารักษ์ รมว.คลัง และรมว.พลังงาน ปฎิบัติหน้าที่มิชอบในการปกป้องทรัพย์สมบัติของรัฐหรือไม่

นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คณะกรรมธิการวิสามัญงบประมาณ วุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่พิจารณางบประมาณได้ขอให้ทางตัวแทนกระทรวงการคลัง ที่เชิญมาชี้แจงข้อมูลงบประมาณจัดส่งข้อมูลการคืนทรัพย์สินของปตท.และข้อตกลงในการเช่าท่อก๊าซธรรมชาติระหว่างปตท.กับกระทรวงการคลังเพื่อวุฒิสภาจะได้ตรวจสอบว่ามีการคืนทรัพย์สินครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ การจ่ายค่าเช่าท่อสมเหตุสมผลหรือไม่ เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งที่เรื่องนี้กระทรวงคลังควรจะประกาศให้สังคมได้รับรู้ทั่วกัน

“ตัวแทนของกระทรวงคลังที่มาประชุมบอกว่าให้ข้อมูลได้ไม่มีปัญหา แต่วุฒิฯ ขอไปสองสัปดาห์แล้ว ถึงตอนนี้ทางคลังก็ยังนิ่งเฉย ทั้งที่ข้อมูลอื่นๆ ที่ขอไปใช้เวลาแค่ 3 วันก็ได้แล้ว เรื่องนี้ต้องติดตามตรวจสอบว่ารับคืนมาครบถ้วนหรือไม่ ถ้ารับมาไม่ครบก็จะมีความผิด” สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ กล่าว

ทางด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ จะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบกรณีของปตท.ทั้งระบบ ตั้งแต่การคืนทรัพย์สินแก่แผ่นดินตามคำสั่งศาล การผูกขาดธุรกิจพลังงาน โครงสร้างการคิดราคาน้ำมันที่แพงเกินราคาที่แท้จริง การปล่อยลอยตัวราคาก๊าซฯ ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ฯลฯ

นอกจากนั้น องค์กรผู้บริโภค ยังจะหารือกับทนายความที่ทำคดีแปรรูป ปตท. เพื่อขอรับทราบข้อมูลรายละเอียดการบังคับคดีให้ปตท.คืนทรัพย์สินแก่รัฐ เพราะเป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจติดตามความคืบหน้า ถึงแม้ว่าการยื่นเรื่องไปก่อนนี้องค์กรผู้บริโภคจะไม่ได้รับข้อมูลจากศาล ด้วยเหตุผลที่ว่าองค์กรผู้บริโภคไม่ใช่ผู้เสียหายจากคดี

ทางด้านนางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวถึง คดีการแปรรูปปตท.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ บริษัท ปตท. คือกิจการท่อส่งก๊าซ ทรัพยสินสาธารณะ และอำนาจมหาชน กลับคืนสู่รัฐนั้น ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 51 ที่ผ่านมา ปตท.ได้ลงนามบันทึกการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการ คลัง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด มูลค่า 1.61 หมื่นล้านบาท อาทิ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและ ท่อจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในที่ดินดังกล่าว 1.5 หมื่นล้านบาท และที่ดิน ที่การปิโตรเลียมได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์รวมประมาณ 32 ไร่ เป็นต้น

หลังจากนั้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ออกมาให้ข่าวว่ากำลังกรมธนารักษ์หารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. คาดว่า จะสามารถลงนามสัญญาเช่าท่อส่งก๊าซเป็นเวลา 30 ปี ได้ภายในเดือน พ.ค. นี้ โดย ปตท.จะต้องจ่ายค่าเช่าย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2544 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2550 มูลค่า 2,820 ล้านบาท หลังจากลงนามภายใน 7 วัน ส่วนปีนี้จ่ายเฉพาะค่าเช่าท่อก๊าซตามปกติ 300 ล้านบาท

โดยสูตรการคิดค่าเช่าท่อก๊าซจะคิดแบบ ขั้นบันได คือเก็บขั้นต่ำ 5% ของรายได้ และจะขยับขึ้นครั้งละ 5% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 200 ล้านบาท ไปจนถึงสูงสุด 35% เป็นการการันตีว่ากระทรวงการคลัง จะมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 180-550 ล้านบาท หากคิดสัญญาเช่า 30 ปี ค่าเช่าจะอยู่ระหว่าง 5,400-1.65 หมื่นล้านบาท นั้น

นางสาวสายรุ้ง กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ควรเปิดเผยสัญญาการเช่าที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งรวมถึงกิจการท่อส่งก๊าซ วิธีการคิดคำนวณโดยละเอียด ให้สาธารณชนได้รับทราบ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อครหาความกังวลจากสาธารณะว่าอาจจะเกิดการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับปตท.ได้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการทวงทรัพย์สินของรัฐกลับคืนมาจากปตท.จริง เนื่องจากนักการเมืองในรัฐบาลไทยรักไทยเดิมเข้ามาถือหุ้นจำนวนมากในปตท. ในขณะที่ปัจจุบันพรรคไทยรักไทย เดิม กับพรรคพลังประชาชนในฐานะพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ก็แยกกันไม่ออก

นอกจากนั้น จากกรณีที่ศาล และพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ยังให้ปตท.มีสิทธิในการเช่าท่อต่อไปได้นั้น ก็ไม่ได้ห้ามให้เอกชนรายอื่นเช่าท่อได้เช่นกัน รัฐบาลจึงควรเปิดประมูลการเช่าท่อก๊าซเพื่อให้มีการแข่งขันเพื่อได้ผลประโยชน์จากการเช่าท่อที่ดีที่สุดสำหรับรัฐและประชาชน แต่จากการดำเนินการของกระทรวงการคลังที่ผ่านมา ปตท.ยังคงได้สิทธิประโยชน์มากมายมหาศาลเช่นเดิม ในขณะที่รัฐได้ผลประโยชน์กลับมาเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผลการคาดการณ์ในช่วงแรกของคดีปตท.ที่ทั้งผู้บริหารปตท.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยประมาณการไว้ประมาณ 1 แสนล้าน ถึง 3 แสนล้านบาท แต่ในปัจจุบันมูลค่าที่ปตท.ส่งกลับคืนสู่รัฐเพียง 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

นางสาวสายรุ้ง กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภค กำลังปรึกษากับทนายความ ว่านอกจากการตรวจสอบฝ่ายบริหารแล้ว ในทางข้อกฎหมายนั้นจะสามารถตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้ามที่รัฐ ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้หรือไม่ เพื่อตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของผู้บริหารปตท. อธิบดีกรมธนารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการทวงคืนทรัพย์สินปตท.กลับคืนสู่รัฐว่าปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องเต็มความสามรรถหรือไม่

อนึ่ง ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินคดีแปรรูป ปตท. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ที่ผ่านมา โดยศาลฯ ได้ยึดหลักคุ้มครองความมั่นคงฯ และคุ้มครองความมั่นใจของบุคคล และอิงมาตรา 72 แห่งพ.ร.บ.ศาลปกครองฯ พิพากษาว่าการโอนทรัพย์สินสาธารณสมบัติและอำนาจมหาชนไปให้ปตท.ไม่ถูกต้องแต่ให้ไปจัดการแก้ไขให้ถูกต้อง

ตามคำพิพาษาของศาลฯ ระบุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ คือ ครม., นายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงพลังงาน และปตท. ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.

คำพิพากษาดังกล่าว ได้นำไปสู่การตีความว่าทรัพย์สินส่วนใดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องโอนคืน ส่วนใดที่เป็นของ ปตท. ฯลฯ ตามคำพิพากษาของศาลฯ และที่ผ่านมามีการตีความจากฝ่ายปตท.และกระทรวงพลังงาน ว่า ท่อส่งก๊าซฯ ทางทะเล ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องโอนคืนรัฐ รวมทั้งท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์ ก็ไม่อยู่ในข่ายเช่นเดียวกัน

ขณะที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดี ปตท. คือ ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งนักวิชาการด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นในฐานะนักกฎหมายว่า ท่อส่งก๊าซฯทางทะเลถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องโอนคืนรัฐ ไม่ใช่โอนคืนเฉพาะท่อก๊าซฯ บนบกเพียงบางส่วนเท่านั้น

นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่ครม.และทางกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รวมทั้ง ปตท. ไม่พูดถึงเลยก็คือ การแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท. ซึ่งเป็นผลให้ ปตท. ยังผูกขาดการเช่าท่อ ต่อเนื่องไปถึงการคิดค่าผ่านท่อฯ การคิดราคาก๊าซฯ ที่บิดเบือนเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจของปตท. เอาเปรียบผู้บริโภคต่อไป

จากการสืบค้นข้อมูลขององค์กรผู้บริโภค พบว่า รายได้จากค่าผ่านท่อว่าสร้างกำไรอย่างงามให้ปตท. คิดเป็นสัดส่วน 53% ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 47% และมีการประกันกำไรสูงมาก ซึ่งกำไรค่าผ่านท่อฯ ถูกส่งผ่านมาให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับภาระ เพราะก๊าซฯ จากปตท. กว่า 70% เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกิจการโรงไฟฟ้า ต้นทุนหลักของค่าไฟจึงมาจากค่าก๊าซที่ปตท.ขายให้กฟผ.ในราคาแพง นอกจากนั้น อำนาจสิทธิขาดในการใช้ประโยชน์จากระบบท่อก๊าซฯ ไม่ควรตกอยู่กับปตท.เพียงเจ้าเดียวโดยเฉพาะระบบท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 และ เส้นที่ 4 ซึ่ง ปตท.กำลังดำเนินการลงทุนอยู่ในเวลานี้

ส่วนความคืบหน้าข้อตกลงค่าเช่าท่อก๊าซระหว่างปตท.กับกระทรวงการคลังนั้น เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังร่วมกับปตท. ลงนามสัญญาเพื่อให้ปตท.ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551-31 ธันวาคม 2580 ซึ่งปตท.จะต้องชำระค่าตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2544-31 ธันวาคม 2550 เป็นเงิน 1,330 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5%ต่อปี จำนวน 266 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,596 ล้านบาท ซึ่งค่าตอบแทนส่วนนี้คำนวณจากส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านท่อ โดยกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ปีละ 180 ล้านบาท และไม่เกิน 550 ล้านบาทต่อปี

สำหรับทรัพย์สินจากการแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลัง มีดังนี้ ที่ดินจากการเวนคืนเนื้อที่ 32 ไร่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มูลค่าสุทธิทางบัญชีเมื่อ 30 กันยายน 2544 รวม 1 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดินเอกชนเพื่อวางระบบท่อซึ่งปตท.ช่วงเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือที่ดินเอกชนบังคับมา มีมูลค่าทางบัญชีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 รวม 1,137 ล้านบาท ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซ(ท่อหลัก)รวม 14,808 ล้านบาท และทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อจำหน่ายก๊าซ (ท่อย่อย) อีก 229 ล้านบาท รวมแล้ว 16,175 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น