xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ขู่คลังเจอข้อหาละเว้น เพิกเฉยทวงทรัพย์สินจาก ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา” ยื่นกระทู้ด่วนถามรัฐมนตรีคลังตามทวงคืนทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของชาติจาก ปตท.ตามคำสั่งศาล ซึ่ง สตง.ชี้ยังคืนไม่ครบถ้วนอีกกว่า 3.2 หมื่นล้าน ซ้ำปตท.ยังขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซฯทั้งที่เป็นทรัพย์สินที่รัฐลงทุน ขู่เพิกเฉยมีสิทธิ์เจอ มาตรา 157 เอาผิดข้อหาละเว้นหน้าที่

นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนเองได้ยื่นกระทู้ด่วนต่อประธานวุฒิสภา ในเรื่องปัญหาการโอนทรัพย์สินของ ปตท.คืนกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน โดยตั้งกระทู้ถามด่วน ถาม นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1) กระทรวงการคลังจะมีการดำเนินการอย่างไรให้ทรัพย์สินอันพึงมีพึงได้ของรัฐจากการใช้อำนาจมหาชน รอนสิทธิ เวนคืน ใช้ที่ดินราชการ ใช้ที่ดินสาธารณะในการดำเนินการทั้งก่อนและหลังการแปรรูปมีการกลับคืนกระทรวงการคลังอย่างครบถ้วนตามคำพิพากษา

2) ในฐานะที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ปตท.จำกัด กระทรวงการคลังจะอนุมัติให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขอปรับราคาค่าผ่านท่อที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่

3) ทรัพย์สินของรัฐที่บริษัท ปตท.ได้ใช้หาผลประโยชน์หลังการแปรรูป จนมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ให้คืนกลับให้แผ่นดิน มีการจ่ายผลประโยชน์คืนให้รัฐเป็นจำนวนเท่าไหร่ และการคิดค่าเช่าท่อในส่วนที่คืนให้รัฐแล้วในอัตราเท่าไหร่

นางรสนา ให้เหตุผลในการยื่นกระทู้ถามด่วนในครั้งนี้ ว่า เป็นผลมาจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐจาก ปตท.คืนให้แก่รัฐ

ต่อมา ทางบริษัท ปตท.ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือนธันวาคม 2551 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,176.22 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ดินเวนคืน 1.42 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน 1,124.11 ล้านบาท และระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและรอนสิทธิ 3 โครงการอีก 15,050.96 ล้านบาท

“จากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี พบว่า มีการโอนทรัพย์สินไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกจำนวน 32,613 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะมีการแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 ตุลาคม 2544”

นอกจากนี้ ยังพบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังการแปรรูป บริษัท ปตท. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 นั้น ไม่มีการโอนคืนแก่รัฐแต่อย่างใด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 157,102 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดนี้ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชน ซึ่งบริษัท ปตท.จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลด้วยเช่นกัน

นางรสนา ยังกล่าวว่า จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเฉพาะระบบท่อส่งก๊าซซึ่งเป็นท่อที่สร้างก่อนการแปรรูปของ ปตท.ในปัจจุบัน โดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีมูลค่าสูงสุดถึง 112,500 ล้านบาท หรือต่ำสุดประมาณ 86,730 ล้านบาท เมื่อพิจารณาจากตัวเลขมูลค่าการประเมินระบบท่อก๊าซฯ ของ ปตท.แล้วจะพบว่าทรัพย์สินที่ ปตท.คืนให้แก่รัฐในส่วนระบบท่อก๊าซฯ นั้น คือ 15,050.96 ล้านบาท นั้นน้อยกว่ามูลค่าท่อก๊าซ ที่ ปตท.ประเมินอย่างชัดเจน

ประธานคณะกรรมาธิการ ยังกล่าวว่า นอกจากการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนแล้ว ยังปรากฏว่า บริษัท ปตท.ยังได้เสนอขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซฯเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ค่าไฟอัติโนมัติ (FT) เพิ่มขึ้น เป็นการเอากำไรเกินควรจากประชาชนทั้งที่ท่อเหล่านี้ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเองแต่ประการใด และประชาชนส่วนใหญ่ขาดข้อมูล แต่ขณะนี้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ตโดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มีนาคมนี้ โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่ออนุมัติการปรับค่าผ่านท่อเพิ่มอีก 2.0218 บาท ต่อล้านบีทียู ซึ่งจะเพิ่มกำไรให้กับบริษัท ปตท.อีกปีละ 1,000 ล้านบาท แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง

“วุฒิสภาจะเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้าไปดำเนินการ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทำหน้าที่เข้าข่ายกระทำความผิดข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 กฎหมายอาญา นี่ยังไม่ได้มีการพูดกันว่าจะเอาผิดรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ ที่มีการกระทำที่ผิดพลาด ปล่อยให้เอกชนเอาของหลวงไปเป็นสมบัติของบริษัท” นางรสนา กล่าว และคาดว่า ในวันศุกร์นี้ (13 มี.ค.) จะมีการตอบกระทู้ถามด่วนในสภา

อนึ่ง สตง.ได้รายงานผลการตรวจสอบการคืนทรัพย์สินของ ปตท.ให้แก่กระทรวงการคลัง ว่า ยังส่งมอบไม่ครบถ้วน โดย สตง.ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ คณะรัฐมนตรี, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2551 แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น