xs
xsm
sm
md
lg

เลือกซ่อมซังกาบ๊วยฤาจะช่วยประชาธิปไตย?

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ วันนี้เราจะคุยเรื่องการเลือกตั้งซ่อมที่สกลนคร กับการเลือกตั้งซ่อมที่อังกฤษ

ท่านผู้อ่านชอบเตือนผมเสมอว่าอย่าเอาตัวอย่างฝรั่งมาอ้าง นี่มันเมืองไทย

คอลัมน์ของผม เป็นการติดตามการเมืองปัจจุบัน แล้วนำแง่คิดมาเล่าสู่กันฟัง บางเรื่องก็มีเรื่องอย่างเดียวกันแต่ต่างเวลา ก็เอาของเก่ามาเปรียบเทียบ บางเรื่องก็มีเรื่องคล้ายคลึงกันในต่างประเทศก็อดเอามาเล่าไม่ได้ ท่านที่มีอุปาทานจัดจะด่าว่าสาปแช่งอย่างไร ผมจะแผ่เมตตาให้

การเลือกตั้งซ่อมที่สกลนคร

พฤหัสฯ นู้นผมไปอีสาน เนวินจู๋จี๋มากับจตุพรบนเครื่องการบินไทย พอถึงอุดรฯก็แยกกันลง เนวินไปเก็บตัวอยู่ที่ห้องวีไอพีชั้นบน คอยให้สีแดงนรกป่วนชาติ (ตามที่พล.ต.จำลองเรียก) หรือคนรักเมืองอุดรของขวัญชัย ไพรพนาไปเสียก่อน หาไม่เนวินจะโดนกระทืบ เพราะคนไทยไม่ว่าสีอะไรก็เกลียดคนทรยศเนรคุณ

เสร็จแล้ว ทั้งเนวินและจตุพร ต่างก็ไปจังหวัดสกลนคร เพื่อหาเสียงให้พรรคพวกของตน ในการเลือกตั้งซ่อมวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน ที่จะถึงนี้

ผมมีข้อคิดเรื่องการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังต่อไปนี้

1. ถ้าหากไม่มีปัจจัยภายนอกทุ่มเข้าไป พรรคเพื่อไทยจะชนะขาด เพราะความภักดีต่อทักษิณในรากหญ้านั้นยังเหนียวแน่น และปัจจัยสงสารภรรยาอดีตเจ้าของที่นั่ง ซึ่งถึงแม้ กกต.และศาลจะตัดสินว่าทำไม่ถูก แต่ประชาชนก็ยังเห็นว่าคนของเขาไม่ผิด แต่ถูกแกล้ง เช่นเดียวกับทักษิณ

2. พรรคทั้งสองเดิมเป็นแก๊งเลือกตั้งเดียวกัน ไม่มีสภาพเป็นพรรคตามหลักกฎหมายและหลักพรรคการเมืองทั้งคู่ แต่ที่เป็นอยู่ได้ อาศัยคำอธิบายของศาสตราจารย์ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เพราะคนเขียนกฎหมาย (พรรคและเลือกตั้ง) คนบังคับใช้กฎหมาย (กกต.) และคนแปลกฎหมาย (กกต. และศาล) ล้วนแต่โง่ทั้งสิ้น ทั้งสองพรรคมีหัวหน้าตัวจริงที่แอบแฝงบัญชาการอยู่ คือ ทักษิณเพื่อไทย และเนวินอดีตสมุนคู่ใจทักษิณภูมิใจไทย

3. การกระทำของทักษิณ แจกภาพโปสการ์ดหัวคะแนนและโทรศัพท์หาเสียงกับกำนันผู้ใหญ่บ้านและ อบต.ในเขตเลือกตั้งก็ดี การกระทำของเนวินและลูกน้องเชิดตัวเอ้คือชวรัตน์ ชาญวีรกูลและคณะข้าราชการบริวารที่ไปสร้างโมเดลข่มอาจสามารถในเขตเลือกตั้งก็ดี ล้วนล่อแหลมที่จะขัดกฎหมายและคำสั่งศาลทั้งสิ้น หากจะรอดหรือไม่รอด ก็ขึ้นอยู่กับความโง่หรือเอาจริงของผู้รับผิดชอบที่กล่าวมาในข้อ 2

4. การเกณฑ์คนไปลงคะแนนล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งถึง 2 หมื่นคนเศษ สำหรับเขตเลือกตั้งเล็กๆ ซึ่งผู้คนจะมีธุระอะไรจะปานนั้นถึงจะมาลงคะแนนในวันเลือกตั้งไม่ได้ เป็นการท้าทายบทบัญญัติแห่งกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายเรื่องการลงคะแนนล่วงหน้า ผมเห็นด้วยกับดร.อมรในข้อนี้อีก อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญชื่อปราโมทย์มีความเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เพราะมิได้กระทำในวันเดียวตามกฎหมาย

5. หัวหน้าแอบแฝงของทั้ง 2 พรรค คือ ทักษิณกับเนวิน หากรอดตัวเพราะความโง่ของกฎหมาย แต่ก็หนีไม่รอดข้อหาของการเป็นผู้มีจริยธรรมต่ำ อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย สร้างเยี่ยงอย่างและบรรทัดฐานของผู้นำหน้าด้านที่ดีแต่จะเอาผลประโยชน์ทางการเมืองของตน หาสำนึกไม่ว่าตนทั้งสองจะทำให้จริยธรรมของคนในชาติและประชาธิปไตยต้องต่ำทรามไปด้วย

การเลือกตั้งซ่อมที่อังกฤษ

การเลือกตั้งซ่อมที่อังกฤษกับการเลือกตั้งซ่อมที่อเมริกาเหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือเป็นการเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวตหรือเสียงเดียวต่อผู้เลือกคนเดียว ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียว แต่ของไทยต่างกับอังกฤษและอเมริกาซึ่งเป็นแม่แบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งคนละระบบของโลก การเลือกตั้งซ่อมที่อเมริกามักจะไม่มีบ่อยเหมือนอังกฤษ เพราะสภาอเมริกาอายุสั้นแค่ 2 ปี และไม่มีการยุบสภา ส่วนของอังกฤษนั้นยาวถึง 5 ปี แต่กษัตริย์หรือนายกรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกันหรือขัดกัน ที่จะยุบหรือไม่ยุบเมื่อไรก็ได้ สภาอังกฤษแม้จะอยู่ได้นาน แต่ความเป็น ส.ส.ของผู้แทนคนหนึ่งมักจะสั้นกว่าผู้แทนอเมริกัน ซึ่งบางคนเป็นตั้งแต่อายุ 20 ได้เลือกกลับทุกสมัยจนอายุ 92 ก็มี

ส่วนของอังกฤษนั้น ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ชื่อเสียงของพรรคและความนิยมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเวลาใดเวลาหนึ่ง การเลือกตั้งซ่อมของอังกฤษมีความหมายเป็นการสั่งสอนลงโทษหรือให้รางวัลพรรคโดยประชาชน ประชาชนมีมาตรฐานที่จะวัดผลงานทั้งของผู้แทนของพรรคและของรัฐบาลอย่างเป็นกิจลักษณะหลายๆ มาตรการด้วยกัน รวมทั้งมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมของผู้แทนราษฎรด้วย
เหตุของการเลือกตั้งซ่อมมีหลายอย่าง ที่ธรรมดาๆ ก็แพราะ ส.ส.ตายหรือลาออก ที่ไม่ธรรมดาก็เพราะถูกไล่ออก หรือลาออกให้หัวหน้าพรรคที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยมิได้เป็น ส.ส.ให้ได้เป็น ส.ส. เช่น กรณีลอร์ดฮูมซึ่งเป็นนายกฯ พระราชทานของควีนอลิซาเบธ เป็นต้น น่าเสียดายที่นายกฯ สุจินดาไม่ยอมลงเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดหนองคาย ที่มี ส.ส.พร้อมจะลาออกให้ มิฉะนั้น พฤษภาทมิฬอาจจะไม่เกิดก็ได้

ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2505 สถิติการเลือกซ่อมถึงพฤศจิกายนปี 2508 มี 12 ครั้ง รัฐบาลหรือ Labour ของแบลร์กับบราวน์ รักษาที่ไว้ได้ 2 เสียไป 3 (ให้พรรคเล็ก 2 และ Conservative 1) ส่วน Conservative ได้ของเก่ากลับมาทั้ง 3 และแย่งเลเบอร์มาได้อีก 1 พรรคเล็กป้องกันที่ไว้ได้หมดทั้ง 3 และกำไรมาจากเลเบอร์ 2

แค่นี้เขาก็สำนึกว่าประชาชนสั่งสอน และเลเบอร์ยังต้องตระหนกที่พรรคเสียที่นั่งท้องถิ่นและเทศบาลที่เคยครอบครองไปมาก แต่ที่ช็อกที่สุดคือผลการเลือกผู้แทนไปนั่งในสภายุโรป เพราะพรรคใหญ่ทั้งสองคะแนนลดฮวบ และปล่อยให้พรรคปฏิกิริยาใหม่คือ British National Party คว้าที่นั่งไปได้เป็นครั้งแรก

ทั้งหมดนี้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ของผู้ใช้สิทธิ เพราะข่าวอื้อฉาวชั่วช้าของบรรดา ส.ส.พรรคใหญ่ทั้ง 2 รวมทั้งบรรดาผู้นำที่พากันใช้เงินหลวงสุรุ่ยสุร่ายเกินสิทธิ จนประธานสภาล่างต้องลาออก รัฐมนตรีลาออก ส.ส.ถูกปลด นายกฯ ถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบ รายชื่อผู้ต้องคืนเงินให้หลวงยาวเหยียด รวมทั้งอดีตนายกฯ แบลร์ นายกฯปัจจุบัน หัวหน้าฝ่ายค้าน รัฐมนตรีและรัฐมนตรีเงาเกือบจะถ้วนหน้า เป็นความอัปยศครั้งใหญ่ของสภาอังกฤษ

ผมไม่อยากเทียบสภาอังกฤษกับไทยในวันนี้ แต่อยากจะพูดว่ามนุษย์ทั่วไปล้วนแต่ทำชั่วได้ทั้งสิ้น แต่ในระบบที่ดีเขามีมาตรการป้องกันหรือแก้ไขภายในตัวเมื่อเกิดการกระทำความชั่ว นั่นข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง ผมอยากจะทวงสัญญาของนายกฯ อภิสิทธิ์ที่เคยเขียนว่า จะปฏิรูปนักการเมือง ในขณะที่บราวน์บอกว่า เพียงแก้ตัวเท่านั้นไม่พอ เขาจะแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมดให้ได้

“I am determined to do whatever it takes to clean up politics, starting of course with expenses, but I also think we have to go further, to reform parliament itself. We need to reform if we are to regain the trust of the British people and the respect of the rest of the world”

เราจึงอยากฟังอภิสิทธิ์พูดหรือทำอะไรอย่างบราวน์บ้าง แต่ถึงบราวน์จะถอดใจลาออกไป ผมก็ยืนยันว่าขอให้อภิสิทธิ์อยู่

บทเรียนจากเลือกตั้งซ่อมไทย

ทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทยเป็นน้ำอสุจิที่ยังไม่ปฏิสนธิในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว เลือกตั้งแต่ละครั้ง ส.ส.เปลี่ยนไปหาพรรคที่เงินมากกว่า อำนาจมากกว่า บทเรียนอะไรก็ไม่เห็นมี ข้อดีข้อเสียสำหรับรัฐบาลฝ่ายค้านก็ยังงั้นๆ ประชาชนไม่เคยเปรียบว่า พรรคนั้นต่างกับพรรคนี้อย่างใด อภิสิทธิ์เปลี่ยนพรรคกี่ครั้ง (0) จาตุรนต์กี่ครั้ง (3-4?) อดิศรกี่ครั้ง (4-5?) เฉลิมกี่ครั้ง (4-5?) ตราบใดที่พรรคยังเป็นแก๊งเลือกตั้งของหัวหน้า การเลือกตั้งซ่อมหรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปจะมีความหมายอะไร นอกจากผลาญงบประมาณ มีงานให้ กกต.ทำ มีเงินสะพัด ฯลฯ

ทีแรกหัวข้อบทความของผมคือ “เลือกกี่ครั้งก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย” (จนกว่าจะมีระบบพรรคที่มิใช่แก๊งเลือกตั้งของหัวหน้า)

มีมือดีมาเปลี่ยนให้ว่า “เลือกซ่อมซังกาบ๊วยฤาจะช่วยประชาธิปไตย?”
กำลังโหลดความคิดเห็น