xs
xsm
sm
md
lg

สงครามข่าวฟรีทีวี

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ผมเพิ่งได้อ่านนิตยสาร Positioning ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 …

Positioning ฉบับครบรอบปีที่ 5 ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 6 นำเสนอประเด็นข่าวปกเป็นเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในแวดวงข่าวสารบนจอโทรทัศน์โดยทางกองบรรณาธิการ ระบุไว้บนปกว่า

“News Wars Episode II : หมดยุคเล่าข่าว ... สู่ยุคเรียลลิตี้ข่าว”

ซึ่งประเด็นหลักคือ สงครามรายการข่าวระหว่างฟรีทีวี ช่อง 3 และ ช่อง 7 ค่ายโทรทัศน์เชิงพาณิชย์สองค่ายใหญ่ของประเทศที่พยายามขับเคี่ยวกันในทุกแง่มุมไม่ว่าจะเป็นละครหลังข่าว รายการวาไรตี้ การถ่ายทอดสดกีฬา รวมไปถึงสนามข่าวที่หลังจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ช่อง 3 ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับกลยุทธ์ “ครอบครัวข่าว” ทั้งช่วงเช้า ช่วงเย็น รวมไปถึงตอนค่ำ ซึ่งบีบให้ช่อง 7 ต้องปรับตัวตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปั่นกระแสความนิยมของรายการเล่าข่าว ที่หยิบเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์-เว็บไซต์-นิตยสาร มาเล่าผ่านจอโทรทัศน์แบบเป็นวรรคเป็นเวร พุ่งขึ้นไปสูงถึงขั้นที่ว่าแม้เพื่อนสื่อมวลชนและนักวิชาการด้านสื่อจะกล่าวเตือน ตำหนิ หรือกระทั่งด่าแรงๆ ในทำนองว่า สื่อโทรทัศน์กำลังเอาเปรียบสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะ “การเล่าข่าว” ไม่ต้องลงทุนหรือมีต้นทุนอะไร เพียงแค่หาเงินจ้างพิธีกรชื่อดังมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าสัก 5 ฉบับ 10 ฉบับ ก็สามารถคิดค่าโฆษณาได้นาทีละ 2-3 แสนบาทแล้ว แต่เหล่าฟรีทีวีก็ไม่สนใจ

พูดง่ายๆ ว่า นอกจากฟรีทีวีจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เอาเปรียบ กินแรง เพื่อนสื่อด้วยกันแล้ว ยังเป็นการเอาเปรียบผู้ชม-ผู้บริโภคอีกด้วย เพราะเหมือนเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ มาเล่าให้ฟังวันนี้ และใส่ทัศนะของผู้อ่านข่าวเข้าไปเพิ่มเติมเท่านั้นเอง

ณ วันนี้ การเคลื่อนตัวของ “สงครามข่าว” ในฟรีทีวีได้ผ่านพ้นยุคของการเล่าข่าวแบบเฉยๆ การเล่าข่าวแบบใส่เทคโนโลยี (เช่นเอา Video Wall, Virtual Studio มูลค่าหลายสิบล้าน และเฮลิคอปเตอร์มาประกอบ) มาสู่ยุคสมัยของการซื้อตัว “ดาราอ่านข่าว” และยุคของ “เรียลลิตี้ข่าว” แล้ว

ราว 2 เดือนก่อน การประกาศทุ่มเงินระดับ 7 หลักของช่อง 3 เพื่อดูดตัว “ไก่” ภาษิต อภิญญาวาท ผู้ประกาศข่าวชายที่มีอายุงานในแวดวงข่าวเพียง 3 ปีกว่ามาอยู่กับครอบครัวข่าว สร้างความแปลกใจให้กับคนในแวดวงสื่อสารมวลชนไม่น้อย ไม่นับรวมกับการย้ายค่ายของ กรุณา บัวคำศรี พิธีกรข่าวเจนสนามจากโทรทัศน์เชิงอุดมการณ์อย่างทีวีไทย มาสู่โทรทัศน์เชิงพาณิชย์อย่าง ช่อง 3 ในทางกลับกันเมื่อช่อง 7 ถูกตบหน้าหลังจากช่อง 3 ดูดพิธีกรหนุ่มไป ช่อง 7 ก็เอาคืนด้วยกันดูดตัว ศศิวรรณ เลิศวิริยะประภา พิธีกรช่อง 3 มาเป็นพิธีกรในรายการเช้าของช่อง 7 บ้างเช่นกัน

จริงๆ การดึงตัวไป ดูดตัวมา หรือการย้ายค่ายของผู้ประกาศข่าวนั้นไม่ถึงว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะการย้ายค่ายของผู้ประกาศนั้นมักจะมี “ปัจจัย” เข้ามาเกี่ยวข้องและแรงจูงใจด้วยเสมอ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตหลังจากได้อ่านสกู๊ป “สงครามข่าว” ของนิตยสาร Positioning ก็คือ นอกจากทีมงาน Positioning จะทำสกู๊ปเจาะลึกถึงกลยุทธ์และยุทธวิธีในการทำสงครามข่าวระหว่างฟรีทีวีค่ายใหญ่ๆ อย่าง ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 แล้วก็ยังมีบทสัมภาษณ์ของผู้ประกาศข่าวตามช่องเคเบิลทีวีด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ช่องเนชั่นแชนแนล เอเอสทีวี และ TNN

พูดตามตรงเมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้บริหาร พิธีกรข่าวทั้งมือเก๋า และมือใหม่แล้ว ผมกลับไปสะดุดคำพูดของ คุณอัญชลีพร กุสุมภ์ หัวหน้าทีมผู้ประกาศข่าวของเอเอสทีวีและผู้ดำเนินรายการข่าวยอดฮิตอย่าง News Hour ที่ว่า “สื่อไม่ได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าในการตีแผ่ความจริง ข่าวทุกวันนี้พยายามทำเรื่องหนักให้เป็นเรื่องเบา มันไม่ตอบสนองต่อปัญหาสังคม (แต่) ตอบโจทย์อยู่อย่างเดียวคือความอยู่รอดของสื่อ”

ในทัศนะส่วนตัว จริงๆ แล้ว คำให้สัมภาษณ์ของคุณอัญชลีพรเพียงประโยคนี้ประโยคเดียวนั้น แทบจะครอบคลุมและให้คำจำกัดความเนื้อหาใหญ่และใจความสำคัญที่นิตยสาร Positioning ทำมาได้ทั้งหมดทีเดียว

เมื่อได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ประโยคนี้ของคุณอัญชลีพร ทำเอาผมหวนกลับไปนึกถึงคำสั่งสอนของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ครูข่าวคนแรกของผมเมื่อ 9 ปีก่อน โดยตอนนั้นนักข่าวรุ่นแรกของผู้จัดการออนไลน์อาจเรียกได้ว่าเป็น “ศิษย์หนังสือพิมพ์รุ่นสุดท้าย” ของคุณสนธิ ก่อนที่คุณสนธิจะก้าวเข้าสู่แวดวงโทรทัศน์ด้วยการทำรายการ “ก่อนจะถึงวันจันทร์” และ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ทางช่อง 9 และพัฒนาขึ้นเป็นช่อง News1 และ ASTV ในปัจจุบัน

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่คุณสนธิยังมานั่งประชุมข่าวของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันตอนเช้าเอง และเปิดคอร์สสอนศิษย์ในช่วงสายของทุกวันอาทิตย์ มีคำสอนหนึ่งที่ผมจำได้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะนั่นคือ

“ทุกวันนี้สื่อไม่เพียงต้องนำเสนอ ‘ข่าวที่คนอยากรู้’ แต่มีภาระและหน้าที่ในการนำเสนอ ‘ข่าวที่คนต้องรู้’ ด้วย”

ทั้งนี้ในปัจจุบัน “ข่าวที่คนอยากรู้” อย่างเช่น กรณีหมีแพนด้า เด็กชายเคอิโงะตามหาพ่อ ข่าวเต๋า-สมชาย แต่งงานใหม่ ข่าวญาติพุ่มพวงทะเลาะกัน เป็นต้น

ส่วน “ข่าวที่คนต้องรู้” และสื่อมีภารกิจ และหน้าที่ในการหามานำเสนอให้ผู้รับสื่อเสพ อย่างเช่น ข่าวความเป็นไปของบ้านเมือง ข่าวการทุจริต-คอร์รัปชัน ข่าวความไม่ชอบมาพากลในกรณีกระทรวงคมนาคมซึ่งรัฐมนตรีพยายามผลักดันโครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน หรือข่าวที่ช่อง 3 พยายามต่อสัญญาสัมปทานที่มีแนวโน้มจะเป็นการเอาเปรียบ อสมท และภาครัฐ เป็นต้น

หากเรียบเรียงและสังเคราะห์ความรู้จากคำสอนของคุณสนธิและคำให้สัมภาษณ์ของคุณอัญชลีพร เราจะเห็นได้ชัดว่า “สงครามข่าว” ที่เกิดขึ้นในช่องฟรีทีวีทุกวันนี้นั้นแทบจะไม่มีนัยอะไรต่อการสร้างบ้านแปงเมือง ให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่จากความล่มสลายทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น หรือทำให้สังคมส่วนใหญ่ดีขึ้นเลย เพียงแต่เป็นการแข่งขันกัน “หาข่าว” และ “สร้างข่าว” เพื่อให้คนอยากรู้เท่านั้น

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ในกรณี เด็กชายเคอิโงะตามหาพ่อชาวญี่ปุ่น หรือกรณีตู้คอนเทนเนอร์ใต้น้ำที่จังหวัดตราดซึ่งถูกรายการข่าว 3 มิตินำไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และข่าวลูกหมีแพนด้าคลอดที่จังหวัดเชียงใหม่

ในกรณีแรก “เด็กชายเคอิโงะ” ได้ตกเป็นเครื่องมือของสื่อ (โดยที่เจ้าตัวเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม) ในการดึงความสนใจของสาธารณชนจากเรื่องคอขาดบาดตายต่างๆ ของบ้านเมืองให้มาสู่ข่าวเชิงนวนิยายที่ในเวลาต่อมาถูกปั่นให้กลายเป็น “กระแส” ในสังคม ด้วยการทำเรียลลิตี้ชีวิตของ ด.ช.เคอิโงะ ตั้งแต่ตื่นเช้า ไปโรงเรียน ไปขายของ ไปเล่นกับเพื่อนๆ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปสถานทูตญี่ปุ่นเพื่อโทรศัพท์หาพ่อ ฯลฯ

กรณีที่สอง “ตู้คอนเทนเนอร์” ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมารายการข่าว 3 มิติ พยายามฉวยโอกาสในวาระครบรอบ 17 ปีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดึงเรตติ้งของรายการด้วยการปั่นกระแสว่าในคอนเทนเนอร์ที่จมอยู่ในน้ำ อาจจะมีศพของเหยื่อพฤษภาทมิฬ ทั้งๆ ที่สุดท้ายก็เป็นแค่เรื่องโอละพ่อ

จนถึงกรณีท้ายสุดคือ กรณีลูกหมีแพนด้า ที่สื่อโทรทัศน์ต่างสบโอกาสในการปั่นกระแส “หมีแพนด้า” ให้ติดลมบน ทั้งๆ ที่ในห้วงเวลาเดียวกัน กรณีเรื่องรถเมล์ NGV 4,000 คัน ซึ่งมีมูลค่าโครงการมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่ปราศจากความโปร่งใสโดยสิ้นเชิง กำลังถูกพรรคการเมืองหนึ่งบิดเบือนอย่างไร้ยางอาย ด้วยการใช้งบประมาณของทางราชการเช่าป้ายโฆษณาไปทั่วกรุงเทพฯ แถมพรรคการเมืองดังกล่าวยังเกาะกระแสหมีแพนด้าโดยนำคนใส่ตุ๊กตาหมีแพนด้ามาเดินแจกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อโครงการดังกล่าวอีกต่างหาก

พูดตามตรง ในฐานะสื่อมวลชนและผู้เสพสื่อคนหนึ่ง ผมอยากเห็นสื่อฟรีทีวีทั้งหลายหันมาเน้นที่เนื้อหา หรือ “แก่นของข่าว” มากกว่ารูปแบบหรือ “กระพี้ของข่าว” มากกว่านี้ มิฉะนั้นไม่ว่าสงครามข่าวนี้จะเกิดขึ้นอีกสักกี่รอบ ประชาชนก็จะไม่ได้อะไร นอกจากตกเป็นเหยื่อของการปั่นกระแสข่าวที่มีค่าแค่เพียง “ละครน้ำเน่า” เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น