xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดกบข.เลิกจ้าง“วิสิฐ”จ่อฟันความผิดย้อนหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ด กบข.เลิกจ้าง “วิสิฐ” หากพบสร้างความเสียหายและสามารถคำนวณออกมาเป็นมูลค่าเงินได้ กบข.จะเรียกร้อให้ชดใช้ในภายหลัง ด้านป.ป.ท.ส่งหนังสือถึง กบข.ขอให้จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนย้อนหลังตั้งแต่ปี 40 พร้อมให้ “วิสิฐ” ชี้แจง 6 ประเด็น เน้นตรวจสอบพฤติการณ์ซื้อหุ้นดักหน้ากองทุน พร้อมให้แจงการตัดสินใจซื้อหุ้นยานภัณฑ์

ภายหลังจากที่มีการประชุมบอร์ดคณะกรรมการ กบข. เมื่อวานนี้ (8 มิ.ย.) นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ กบข. เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณากรณีการยื่นใบลาออกของ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. คณะกรรมการมีมติให้เลิกจ้าง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 52 เป็นต้นไป และได้แต่งตั้งให้นางสาววริยา ว่องปรีชา รองเลขาธิการสายบริหารงานสมาชิก รักษาการเลขาธิการ จนกว่าจะมีเลขาธิการคนใหม่
ปลัดกระทรวงการคลังชี้แจงว่า การที่ที่ประชุมไม่อนุมัติให้นายวิสิฐลาออกตามที่ได้ยื่นจดหมายลาออกมาก่อนหน้านี้ แต่ได้อนุมัติให้เลิกจ้างแทน เนื่องจากนายวิสิฐไม่ได้ทำตามระเบียบการลาออก ที่ระบุไว้ว่าพนักงานจะต้องยื่นหนังสือลาออกก่อน 30 วัน ประกอบกับในหนังสือลาออกนายวิสิฐได้ชี้แจงว่า มีการดำเนินการไม่ถูกตามระเบียบของกบข.จริง แต่เพิ่มเติมว่าไม่มีเจตนาทุจริต ดังนั้นบอร์ดจึงเห็นว่าการอนุมัติให้เลิกจ้างจึงสมเหตุสมผล และมีน้ำหนักที่ชัดเจนกว่า
ในส่วนของการพิจารณา ของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบผลการดำเนินงานกบข. ที่มีนาย สมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการชุดเฉพาะกิจนั้น ระบุว่า นายวิสิฐมีความผิดว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น ส่วนจะผิดกฏเกณฑ์ข้อใดอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดที่มีนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา เป็นประธานคณะกรรมการ พิจารณาสอบสวนในเชิงลึกต่อไป ทั้งนี้ ตามคำสั่งของที่ประชุม ได้กำหนดไว้ว่าคณะกรรมการชุดของนายปกรณ์ จะต้องพิจารณาตรวจสอบให้เสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
"หากเป็นข้อมูลที่ตามระเบียบ และอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ให้เปิดเผยได้ คณะกรรมการพร้อมจะส่ง หรือเปิดเผยทุกเรื่อง ที่เป็นข้อมูลสาธารณะ" นายสถิตย์ย้ำ
สำหรับการสรรหาเลขาธิการ กบข.คนใหม่นั้น ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาแล้ว โดยมีนายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ซึ่งล่าสุดบอร์ดกบข.ได้เร่งให้คณะกรรมการฯสรรหาเลขาธิการคนใหม่ก่อนวันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งเป็นกรอบเวลาเดิมที่นายวิสิฐ จะหมดวาระการรับหน้าที่
อย่างไรก็ตามในระหว่างการสรรหาเลขาธิการคนใหม่นี้ ได้มีการแต่งตั้งให้ นางสาววริยา ว่องปรีชา รองเลขาธิการสายบริหารงานสมาชิก รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กบข.แทนก่อน
นายสุจินดา สุขุม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กบข. กล่าวว่า แม้นายวิสิฐจะพ้นจากการเป็นเลขาธิการ กบข.แล้ว แต่นายวิสิฐยังต้องรับผิดชอบต่อ กบข.หากมีหลักฐานบ่งชี้ว่า นายวิสิฐสร้างความเสียหายแก่ กบข. หากความเสียหายนั้น สามารถคำนวณเป็นตัวเงินออกมาได้ ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์
"หากคณะกรรมการชุดนายปกรณ์สอบสวนแล้วพบว่านายวิสิฐได้สร้างความเสียหายให้แก่ กบข. และสามารถคำนวณออกมาเป็นมูลค่าเงินได้ กบข.ก็สามารถเรียกร้องความเสียหายคืนจากนายวิสิฐในภายหลัง" นายสุจินดากล่าวและว่า จากการที่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจของนายสมพลก็ได้เสนอให้ กบข.มีการปรับปรุงข้อบกพร่องภายใน ทั้งด้านนโยบายการลงทุน และกระบวนการตรวจสอบของการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งบอร์ด กบข.ก็ได้รับให้มีการนำไปปรับปรุงและมาเสนอในครั้งต่อไปด้วย

***ปปท.รุกขอเอกสารลงทุนตั้งแต่ปี 40
วันเดียวกันที่กระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ป.ป.ท.ได้ส่งหนังสือถึง นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการ กบข. และประธานคณะกรรมการ กบข.เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ และการลงทุนของ กบข.พร้อมทั้งร้องขอให้ กบข.จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับสำเนารายงานการประชุมของบอร์ด กบข.ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน สำเนารายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการการจัดการการลงทุน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ถึงธันวาคม 2551 สำเนาเอกสารเกี่ยวกับการกำหนดการลงทุนวิธีการลงทุน และวิธีการตัดสินใจลงทุน และการติดตามประเมินผลการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้ ป.ป.ท.ทำได้เพียงร้องขอความอนุเคราะห์ให้กบข.ชี้แจง และจัดส่งเอกสารข้อมูล หากพ้นระยะเวลาที่เหมาะสม กบข.ไม่ให้ความอนุเคราะห์ ป.ป.ท.คงต้องดำเนินการขั้นตอนอื่นต่อไป
สำหรับประเด็นขอความอนุเคราะห์ให้ นายวิสิฐ เข้าชี้แจง ประกอบด้วย ประเด็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรม (Restricted List) ว่า 1.กบข.มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนดให้หลักทรัพย์ตัวหนึ่งตัวใดเป็นWatch List และ Restricted List และมีหลักทรัพย์ตัวใดบ้างที่เป็น Watch List และ Restricted List พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
2.มีผู้บริหาร พนักงานหรือผู้ใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งทราบว่าหลักทรัพย์ใดเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกกำหนดให้อยู่ใน Watch List และ Restricted List พร้อมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง 3.มีกระบวนการและขั้นตอนในการตรวจสอบการฝ่าฝืนการทำธุรกรรมหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Watch List และ Restricted List อย่างไร และหน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจสอบ พร้อมเอกสารหลักฐาน
4.หากตรวจสอบพบว่ามีผู้บริหาร พนักงาน หรือบุคคลใดที่เป็น Pre-Clearing Employee ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของ กบข.โดยมีการทำธุรกรรมหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Watch List และ Restricted List แล้ว มีขั้นตอนการแจ้งให้ทราบและกระบวนการลงโทษหรือไม่อย่างไร และที่ผ่านมามีการบังคับใช้บทลงโทษกับบุคคลที่ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ 5.กรณีของเลขาฯ กบข.ที่ฝ่าฝืนทำการซื้อขายหลักทรัยพ์ IRPC ที่เป็นหลักทรัพย์ใน Restricted List เมื่อตรวจสอบพบแล้วมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร และมีผลดำเนินการอย่างไร 6.ยังมีกรณีผู้บริหาร พนักงาน หรือผู้ใดที่เคยฝ่าฝืนทำธุรกรรมหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Watch List และ Restricted List อีกหรือไม่
นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังร้องขอให้ นายวิสิฐ ชี้แจงประเด็น การซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้บริหาร พนักงาน หรือผู้อื่นที่เข้าข่ายซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้ากองทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ในทิศทางตรงข้ามกับกองทุน และการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย 1.ในการซื้อขายหลักทรัพย์และการรายงานการทำธุรกรรมของผู้บริหาร พนักงานที่เป็น Pre-Clearing Employee มีระเบียบปฏิบัติ หรือขั้นตอนการขออนุญาตและการรายงานอย่างไร 2.กบข.มีระบบการตรวจสอบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่อย่างไร
3.มีกระบวนการและขั้นตอนการตรวจสอบผู้บริหาร พนักงาน ที่ฝ่าฝืนทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ขออนุญาตและไม่รายงานการทำธุรกรรมอย่างไร 4.มีขั้นตอนในการแจ้งให้ทราบหรือไม่หากตรวจสอบพบว่าผู้บริหาร หรือพนักงานฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ 5.มีกระบวนการลงโทษอย่างไรและที่ผ่านมามีการลงโทษหรือไม่
ในส่วนของประเด็นการให้สัตยาบันในการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด ประกอบด้วย รายละเอียดการลงทุนในหลักทรัพย์ของฝ่ายลงทุนทางเลือก และสาเหตุที่เลือกลงทุน กระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์เป็นอย่างไร ต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นอย่างไร กบข.ได้รับการเสนอขายหลักทรัพย์จากผู้ใด อย่างไร จำนวนเท่าใด และคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของหลักทรัพย์ทั้งหมด เหตุผลและความจำเป็นในการให้สัตยาบันการลงทุนทั้ง 2 ครั้ง กรณีที่ฝ่ายลงทุนทางเลือกชี้แจงต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ว่า ได้รับแจ้งให้ยืนยันความสนใจในการซื้อหุ้น โดยมีระยะเวลาเพียง 5 วันนั้น ผู้ใดเป็นผู้แจ้ง โดยวิธีใด และแจ้งแก่ผู้ใด เมื่อได้รับแจ้งมีการดำเนินการอย่างไร หลักปฏิบัติในการยืนยันความสนใจในการซื้อหุ้นเป็นอย่างไรโดยเฉพาะเรื่องระยะเวลา
สำหรับประเด็นการลงทุนทางเลือก ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง มีการคาดหวังผลตอบแทนอย่างไร กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ SPF มีเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาของทุนหรือไม่อย่างไร และ กบข.มีแผนสิ้นสุดระยะการลงทุน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ SPF อย่างไร ประเด็นข้อสงสัยตามหนังสือเรียกร้องของสมาชิก กบข.ที่ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ประกอบด้วย 1.การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมีข้อสงสัยว่าอาจเป็นการมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนแก่พวกพ้อง เมื่อประสบภาวะขาดทุน กบข.ไม่สามารถชี้แจงแก่สมาชิกได้ จนกระทั่งปรากฏเป็นข่าวจึงออกมาชี้แจงว่าเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่มีข้อมูลน่าเชื่อว่าเกิดจากเหตุผิดปกติหรือ การทุจริตในการบริหารจัดการ 2.สมาชิก กบข.ส่วนใหญ่ยืนยันว่าไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กบข.อย่างเสมอภาค 3.การดำเนินงานของ กบข.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการสำหรับการสะสมเงินออมและการลงทุนในผลประโยชน์ที่มั่นคงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนสมาชิก
4.สมาชิกส่วนใหญ่ต้องการลาออกจากการเป็นสมาชิก 5.การคำนวนบำเหน็จบำนาญข้าราชการบางประเภทไม่ชัดเจนโดยเฉพาะการไม่นับรวมระยะเวลาทวีคูณ 6.สมาชิกร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับเลขาฯกบข.และคณะกรรมการกบข. เกี่ยวกับการนำเงินกองทุนของสมาชิกไปจ่ายโบนัสให้กับตนเองและพนักงาน ทั้งที่ผลดำเนินงานในปี 2551 ประสบภาวะขาดทุน
ส่วนของบอร์ด กบข.นั้น ป.ป.ท.ร้องขอให้ชี้แจงประเด็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการในการมอบหมายหรือมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการจัดการลงทุนพิจารณา อนุมัติการลงทุน ว่า อำนาจการอนุมัติการลงทุนเป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการหรือไม่ การที่ กบข.มอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการจัดการลงทุนมีอำนาจอนุมัติแทนจะถือเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนหรือไม่ กรณีการลงทุนทางเลือกวงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท หากการลงทุนยังไม่ผ่านการอนุมัติของคณะอนุกรรมการ ต่อมาภายหลังจะนำมาเสนอคณะอนุกรรมการให้สัตยาบันได้หรือไม่ ประเด็นการตราอนุบัญญัติเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทุน และการนำเงินของกองทุนไปลงทุนตามมาตรา 70 แห่ง พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ว่า การลงทุนหาของ กบข.สามารถลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้หรือไม่ และ กบข.มีการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่เมื่อใด การกำหนดประเภทหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ และการแยกประเภทหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงและหลักทรัพย์อื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บอร์ด กบข.กำหนด เป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้หรือไม่
นอกจากนี้ ยังขอให้บอร์ด กบข.ชี้แจงถึงการกำหนดให้สัญญาชื้อขายล่วงหน้าเป็นหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่บอร์ด กบข.กำหนดนั้นเป็นการกระทำเกินขอบเขตที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้หรือไม่ รวมถึงประกาศบอร์ด กบข.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการปรับราคาหลักทรัพย์ของกองทุน ที่กำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการเป็นไปตามที่เลขาฯกบข.กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการจัดการลงทุน เป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้หรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น