xs
xsm
sm
md
lg

“วิสิฐ” ชิงตัดหน้าแจง ป.ป.ท. - บอร์ด กบข.ส่อพ้นผิด!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาฯกบข.
“วิสิฐ” นัดขอเข้าชี้แจง ป.ป.ท.ตัดหน้าก่อนกระทรวงยุติธรรม ส่งสำนวน กบข.ให้ ป.ป.ช.“ธาริต” เผยบอร์ด กบข.อาจพ้นผิดอาญาเพราะไม่เจตนาทำผิด ขณะที่ “พีระพันธุ์” สั่งสอบเชิงลึกหาเจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลวงในเก็งกำไรหุ้น

วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมสรุปผลตรวจสอบการบริหารขาดทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และทีมงานชุดเฉพาะกิจ โดยใช้เวลาในการประชุมตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดนานกว่า 2 ชั่วโมง

นายธาริต แถลงผลการประชุม ว่า รมว.ยุติธรรม ได้ สั่งให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบเชิงลึกในหลายประเด็น เช่น เรื่องการซื้อหุ้นยานภัณฑ์ ที่มีการตัดสินใจเข้าซื้อเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท แบบไม่ปกติ โดยผู้มีอำนาจตัดสินใจซื้อไปก่อน จากนั้นจึงกลับมาลงสัตยาบัน จึงอาจมีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบ้าง ส่วนเรื่องบอร์ด กบข.ตามกฎหมายกำหนดให้หน้าที่ หรืออำนาจในการตัดสินใจลงทุนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เป็นผู้ตัดสินใจลงทุน แต่บอร์ดก็ไปมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการจัดการลงทุนแทนในวงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท กลายเป็นการบริหารจัดการไม่ตรงตามกฎหมาย และนายวิสิฐ ก็เป็นประธานในคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องเชิญบอร์ดมาชี้แจงว่า ทำไมจึงมอบอำนาจให้อนุกรรมการฯ หากการดำเนินการพบว่า ไม่มีเจตนาที่จะทุจริตก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดทางอาญา เพราะการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายนั้น ไม่จำเป็นต้องมีโทษทางอาญาเสมอไป แต่ให้ดูที่เจตนา

นายธาริต กล่าวว่า ตามกฎหมาย กบข.ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท กำหนดว่า ถ้า กบข.จะลงทุนต้องออกกฎกระทรวงว่าจะลงทุนอย่างไร การที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้เพราะวางหลักเกณฑ์ที่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีร่วมพิจารณาการลงทุนในภาพรวม กบข.เสนอออกกฎกระทรวงเพื่อวางหลักเกณฑ์การลงทุนครั้งแรกในปี 2546 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย แต่ในปี 2547, 2550 และ 2551 ได้มีการอ้างถึงสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ แต่กฎเกณฑ์ของการลงทุนกลับระบุว่า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการ กบข.ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับการดำเนินการภายหลังออกกฎกระทรวงโดยไม่ชอบผู้ออกกฎจะมีความผิดหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่าขณะนั้นใครเป็นบอร์ดบ้าง ส่วนผลของการใช้จะเป็นโมฆะหรือไม่ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ตนเห็นว่าเมื่อกฎกระทรวงออกโดยไม่ชอบ ผลที่ตามมาก็ต้องผิดด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในเรื่องดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม มีทั้งระดับ บอร์ด ผู้ปฎิบัติการและผู้ริหารที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการลงทุน ประมาณ 7 คน

“ที่ผ่านมา ป.ป.ท.ไม่ได้รับการตอบสนองในการขอข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ดีที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาฯกบข. พร้อมจะเข้ามาชี้แจง เพราะการตรวจสอบเบื้องต้นยังมีประเด็นที่ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่หลายประเด็นหากนายวิสิฐ ชี้แจงได้จะทำให้ประเด็นนั้นๆชัดเจน คลายข้อสงสัยได้ โดยวันนี้ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาฯ กบข.ได้ทำหนังสือมายัง ป.ป.ท.ขอเข้าชี้แจง ดังนั้น ที่ประชุมวันนี้ จึงจะยังไม่ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.โดยจะรอให้ นายวิสิฐ เข้าชี้แจงในอีกหลายประเด็นที่สงสัย รวมทั้งจะมีหนังสือเชิญไปยังบอร์ด กบข.ทั้งหมด ซึ่งขอความอนุเคราะห์ให้ความร่วมมือมาชี้แจงเพื่อตอบข้อสงสัยบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน” นายธาริต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลักฐานอะไรที่ระบุถึงการนำข้อมูลภายในไปใช้ในการซื้อหุ้น นายธาริต กล่าวว่า ป.ป.ท.จะประสานไปยัง ก.ล.ต.เพื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก อย่างไรก็ตาม หากผลสอบสรุปว่า มีเจ้าหน้าที่ไม่ว่าระดับใดเข้าไปเกี่ยวข้อง จะแยกส่วนในการดำเนินการโดยพิจารณาทางวินัยหากต้นสังกัดไม่ดำเนินการ ป.ป.ท.จะส่งข้อมูลเพื่อชี้มูลความผิดไปให้ ส่วนการดำเนินคดีทางอาญา ป.ป.ท.จะส่งให้อัยการพิจารณาและหากพบว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องมีความร่ำรวยผิดปกติจะเข้าไปตรวจสอบด้วยตาม พรบ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

ด้าน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กรณี กบข. หากเป็นความผิดของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ป.ป.ท.จะสรุปผลการตรวจสอบส่งให้ ป.ป.ช.หากเกี่ยวพันถึงข้าราชการที่ต่ำกว่าระดับ 8 จะรอจนกว่าจะมีบอร์ด ป.ป.ท.ขึ้นมาพิจารณาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากมีเหตุต้องสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ กบข.หลายระดับใช้ข้อมูลที่ได้จากการทำงาน ซื้อขายหุ้นผิดหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลของ กบข.มีการออกกฎกระทรวงเรื่องการลงทุนซึ่งไม่น่าทำได้ และมีผลกระทบกับการลงทุนหลายเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น