xs
xsm
sm
md
lg

มัดบิ๊กกบข.ส่งป.ป.ช.เชือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.ยุติธรรม (ยธ.) นัดทีมตรวจสอบทุจริต กบข.สรุปสำนวน 3 มิ.ย.นี้ ก่อนส่งให้ ป.ป.ช.เชือด หลังพบข้อมูล "วิสิฐ" ซื้อหุ้นส่วนตัวดักหน้ากองทุนกบข.หลายครั้ง แฉขบวนการชั่ววิ่งเต้นนักการเมืองเพื่อให้ ป.ป.ท.ยุติการตรวจสอบ กบข. ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินการตามกฎหมาย ปรับปรุง กบข.ให้เสี่ยงน้อยลง ล่าสุดคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ รายงาน "กรณ์" เชือด "วิสิฐ" ผิดจรรยาบรรณกรณีซื้อหุ้นไออาร์พีซี แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของกองทุน กบข.

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในวันพุธที่ 3 มิ.ย.นี้ ตนได้เรียกนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมคณะทำงานตรวจสอบกบข.เข้าประชุม เพื่อสรุปแนวทางดำเนินการต่อไปของกระทรวงยุติธรรม โดยจะดูว่ามีประเด็นบ้างที่กระทรวงยุติธรรมต้องดำเนินการต่อ และส่วนใดที่จะต้องประสานต่อไปยังกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
"ยืนยันว่า การตรวจสอบกบข.ครั้งนี้ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นความเดือดร้อนของสมาชิกกบข. ที่ร้องเรียนเข้ามา ซึ่งถ้าผลตรวจสอบเบื้องต้นพบสิ่งไม่ถูกต้อง กระทรวงยุติธรรมต้องเข้าไปแก้ไขและดำเนินการให้ถูกต้อง"
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า การเมืองไม่เคยแทรกแซงกบข. และไม่มีความพยายามจะเปลี่ยนตัวเลขาธิการกบข. และตนก็ไม่เคยแทรกแซงการตรวจสอบของป.ป.ท. แต่ในทางตรงกันข้ามเชื่อว่ามีความพยายามแทรกแซงผ่านการเมือง เพื่อให้ป.ป.ท.หยุดการตรวจสอบ กบข. สำหรับ กบข. ตามหลักการถือเป็นองค์กรที่ดี เป็นหลักประกันที่ดีสำหรับข้าราชการ เลียนแบบมาจากกองทุนข้าราชการของสิงคโปร์ ตามกฎหมายการตั้ง กบข. กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ เป็นแหล่งออมทรัพย์ และเป็นแหล่งจัดสวัสดิการ แต่ที่ผ่านมา กบข. ของไทยมีบทบาทเฉพาะเป็นแหล่งออมทรัพย์ และนำเงินไปลงทุนในที่ต่างๆ ใช้เงินของสมาชิกไปในทางไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ กบข. ไม่ดำเนินการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ดังนั้น ถ้า กบข. ไม่สามารถดำเนินการให้สมบูรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องมีกบข. ขณะนี้ตนทราบว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวทางจะตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งอาจเป็นการยุบ กบข. มารวมไว้
"ครูเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่ในกบข. โดยครูทั่วประเทศมีปัญหาเรื่องหนี้สิน แต่ กบข. ไม่เคยมีบทบาทช่วยเหลือ หรือตั้งโครงการมาเพื่อช่วยครู ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาภาวะขาดทุน ตนได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งจากครู ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน สมัยที่ตนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยเสนอให้กองทัพแยกออกจาก กบข. ไปจัดตั้งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการทหาร แต่ช่วงนั้น กบข. กลับพยายามเสนอให้เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของ กบข. โดยให้คงเฉพาะเป็นแหล่งออมทรัพย์แล้วให้ตัดทิ้งเรื่องการจัดสวัสดิการให้สมาชิก"
ดังนั้น กรณีการตรวจสอบ กบข. จะเดินหน้าต่อไป ส่วนประเด็นที่ กบข. ยังสงสัยในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. นั้น ทุกคนมีสิทธิ์สงสัย แต่คนที่เข้าไปตรวจสอบอย่างป.ป.ท. ย่อมต้องรู้ในอำนาจหน้าที่ของตนเองดีแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. ควรแสดงสปิริตอย่างไรกับข้อมูลที่พบว่ามีการซื้อหุ้นดักหน้า กบข. นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนไม่แสดงความเห็นประเด็นนี้ เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังน่าจะต้องพิจารณา
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)กล่าวยืนยันว่า ตรวจสอบพบผู้บริหารระดับสูงของ กบข. มีความผิด กรณีใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์เทรด) ทำการซื้อขายหุ้นดักหน้า และหลังการขายหุ้นของกองทุน กบข. และหากการประชุมร่วมกับ รมว.ยุติธรรม มีมติไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิดต่อไป
"ยอมรับว่า มีความหนักใจ หากผลสอบของคณะกรรมการชุดที่กระทรวงการคลัง แต่งตั้งขึ้น ออกมายืนยันว่ากองทุนและผู้บริหารของ กบข. ไม่มีความผิด" นายธาริตกล่าว

นายกฯ ลั่นให้ดำเนินการตาม กม.
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการตรวจสอบ กบข. ว่า เบื้องต้นให้รายงานจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบมาแล้ว ซึ่งตนเองก็เป็นห่วง แต่หากผลออกมาอย่างไร ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเห็นว่าควรมีการปรับปรุงการจัดการไม่ให้มีความเสี่ยง
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ยืนยันที่จะรอผลการตรวจสอบ กบข.จากคณะกรรมการเฉพาะกิจที่บอร์ด กบข.แต่งตั้งนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน โดยได้สั่งให้เร่งดำเนินการโดยด่วนที่สุด

ตัดตอนเชือด "วิสิฐ" ผิดจรรยาบรรณ
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้แจ้งผลการตรวจสอบมายังกระทรวงการคลัง โดยเบื้องต้นพบว่านายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ได้กระทำผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารกองทุน เนื่องจากนายวิสิฐได้เข้าซื้อหุ้น บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ซึ่ง กบข.ก็ซื้อไว้เช่นกัน ซึ่งตามหลักการแล้วการกระทำดังกล่าวผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารกองทุน
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปซื้อหุ้นดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสียหายของกองทุน ที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้เป็นหลักหมื่นล้านบาท ยังยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงของความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก ในส่วนของเจ้าหน้าที่ กบข.และคณะกรรมการ กบข.พบว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบการลงทุนแล้วทั้งหมด และแม้จะการกระทำของนายวิสิฐจะผิดจรรยาบรรณและไม่เกี่ยวข้องกับความเสียหาย แต่คณะกรรมการมีข้อแนะนำว่า กบข.ควรเปลี่ยนวิธีการลงทุนเพื่อลดการขาดทุนของกองทุน.
กำลังโหลดความคิดเห็น