xs
xsm
sm
md
lg

จี้พาณิชย์ล้มโควตาจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ชาวนาร้องพาณิชย์ยกเลิกกำหนดโควตาจำนำรายจังหวัด อ้างเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถจำนำข้าวได้ เพราะโรงสีต้องรอให้ได้รับจัดสรรโควตาก่อน ระบุเงื่อนไขจำนำคนละ 3.5 แสนบาทคุมได้ดีอยู่แล้ว “ยรรยง”เผยการกำหนดโควตาโปร่งใส ยึดตามจำนวนข้าวที่มีในแต่ละจังหวัด ด้านสภาหอการค้าฯ ส่งหนังสือถึง “กอร์ปศักดิ์” ขอความชัดเจนสัญญาซื้อข้าว 2 ล้านตัน ด้าน“พงษ์ลาภ”ทนไม่ไหวฟ้องศาลปกครองอีกทาง “พาณิชย์”เตรียมชง 3 แนวทางให้ คชก.พิจารณาช่วยเหลือกุ้งวันนี้

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ยกเลิกการจำกัดโควตารับจำนำข้าวในรายจังหวัดตามที่กรมการค้าภายในจัดสรร เพราะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ชาวนาไม่สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 2552 ได้ แม้รัฐจะขยายปริมาณรับจำนำเพิ่มอีก 2 ล้านตันจากเดิมที่รับจำนำแล้ว 4 ล้านตัน
เนื่องจากบางจังหวัดมีโควตาจำนวนน้อยทั้งที่มีปริมาณข้าวที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และวิธีการดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ยุ่งยากเนื่องจากกรมการค้าภายในจะจัดสรรโควตาให้แต่ละจังหวัด และจังหวัดจะจัดสรรให้แต่ละโรงสี ซึ่งพบว่าบางโรงสีจะเลือกให้ชาวนาที่เป็นลูกค้าเข้าร่วมโครงการก่อน
“สมาคมฯ เห็นว่า สิทธิ์ที่ชาวนาสามารถนำเข้ามาร่วมโครงการได้ไม่เกิน 3.5 แสนบาทนั้นสามารถจำกัดข้าวและคัดสรรชาวนาที่แท้จริงมาร่วมโครงการได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการจัดสรรโควตาอีก และปัจจุบันชาวนากำลังมีปัญหาไม่สามารถนำข้าวไปจำนำได้ เพราะโรงสีต้องรอการจัดสรรโควตาก่อนจึงจะรับจำนำจากเกษตรกร ทำให้ชาวนาเสียโอกาส” นายประสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ สมาคมฯยังต้องการให้สั่งสีแปรสภาพข้าวสารเป็นกำหนดเดิม คือ ทุกๆ 15 วัน แทนที่จะเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบ 30 วัน เพราะทำให้โรงสีมีสต๊อกเต็ม ไม่สามารถรับจำนำข้าวเพิ่มได้ ส่งผลให้การรับจำนำติดขัด
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การจัดสรรโควตารับจำนำให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตามข้อมูลปริมาณผลผลิตที่มีอยู่ ซึ่งโควตาที่จัดสรรไปสะท้อนความต้องการเข้าร่วมโครงการอย่างแท้จริงและโปร่งใสแล้ว อย่างไรก็ตาม
จะเร่งส่งหนังสือแจ้งปริมาณโควตาใหม่สำหรับการขยายปริมาณรับจำนำของแต่ละจังหวัดให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวภายหลังร่วมประชุมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและผู้ส่งออกที่ทำสัญญาซื้อข้าวจากรัฐปริมาณ 2 ล้านตันจำนวน 17 ราย วานนี้ (8 มิ.ย. ) ว่า ที่ประชุมได้มีมติทำหนังสือถึงนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายข้าวดังกล่าว
หลังจากที่เกิดปัญหาจนไม่สามารถขนข้าวออกจากโกดังได้ และทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ
นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า วานนี้ (8 มิ.ย.) ได้ให้ทนายยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แจ้งความกับรัฐ หลังจากที่มีความชัดเจนกรณีที่บริษัทชำระเงินค่าข้าวแล้วจำนวน 3 หมื่นตันมูลค่า 700 ล้านบาท จากปริมาณข้าวที่ชนะการประมูลทั้งสิ้น 2.5 แสนตัน แต่ไม่สามารถขนข้าวออกจากโกดังได้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจเพราะต้องการความชัดเจนโดยเร็วที่สุด และหากจะยกเลิกสัญญาก็จะไม่ดำเนินการอะไรเพียงต้องการเงินที่ชำระไปแล้วคืนพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายเช่น ค่าค้ำประกันแอลซี ค่าระวางเรือที่จอดรอรับซื้อข้าว เป็นต้น
“ผมแค่ต้องการข้าวที่จ่ายเงินไปแล้ว โดยในส่วนของบริษัท ก็ไม่กี่หมื่นตัน หรือหากรวมทั้ง 17 ราย คิดเป็น 4% ของข้าว 2 ล้านตัน ก็มีปริมาณแค่ 1.24 แสนตัน เท่านั้น ตรงนี้อยากให้บอกชัดเจนว่าจะให้ขนออกได้หรือไม่ จะได้ทำแผนธุรกิจต่อไปได้ ส่วนสัญญาซื้อข้าวทั้งหมด หากรัฐจะยกเลิก หรือต่อรอง ก็สามารถหารือกันได้” นายสมพงษ์กล่าว
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย และสมาคมผู้ประกอบการห้องเย็น เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งตามที่คณะกรรมการนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มอบหมายให้กรมการค้าภายในร่วมหาแนวทางการแทรกแซงราคากุ้งกับภาคเอกชนนั้น วานนี้ (8 มิ.ย.) ว่า
ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือ 3 รูปแบบได้แก่ 1.ภาครัฐจะปล่อยกู้ให้กับเอกชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ไปรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรในราคาแทรกแซงที่รัฐกำหนด โดยมีวงเงินสำหรับกู้ยืมเพื่อการรับซื้อกุ้ง 1,400 ล้านบาทรับซื้อในปริมาณ 10,000 ตัน และกำหนดระยะเวลาที่เอกชนจะต้องชำระเงินกู้คืนภายใน 1 ปี ซึ่งหลังจากรับซื้อไปแล้วเอกชนมีสิทธิ์ที่จะนำไปแปรรูปและขายได้เลยทันที
2.วิธีประกันราคารับซื้อกุ้ง โดยให้ภาคเอกชนรับซื้อกุ้งในราคาตลาดในปริมาณ 10,000 ตัน โดยหากราคากุ้งลดลงกว่าราคาตลาดอีกรัฐบาลจะชดเชยเงินให้กับเกษตรกรตามราคาส่วนต่างที่ขาดไป โดยมีวงเงินในการจัดการไม่เกิน 250 ล้านบาท และ 3. วิธีการรับจำนำกุ้งในปริมาณ 10,000 ตัน ในราคาที่กำหนดโดยวิธีการนี้จะเป็นวิธีการสุดท้ายในการที่จะมีการจัดการกับปัญหาราคากุ้ง เนื่องจากการรับจำนำเดิมมีภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งทางคชก.ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้
“ผลสรุปทั้งหมดจะนำเสนอที่ประชุม คชก.พิจารณาอนุมัติอีกครั้งในวันนี้ (9 มิ.ย.) โดยคาดว่าจะสามารถสรุปแนวทางการช่วยเหลือแทรกแซงราคากุ้งได้ภายในสัปดาห์นี้”นายยรรยงกล่าว
สำหรับราคากุ้งที่กำหนดให้มีการแทรกแซง ดังนี้ ขนาด 40 ตัว/ก.ก. ราคา 155 บาท ขนาด 50 ตัว/ก.ก.ราคา 135 บาท ขนาด 60 ตัว/ก.ก.ราคา 125 บาท ขนาด 70 ตัว/ก.ก. ราคา 110 บาท ขนาด 80 ตัว/.ก.ก. ราคา 100 บาท
นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า จะนำแนวทางดังกล่าวไปหารือกับสมาชิกว่ามีเอกชนรายไหนสามารถที่จะเข้าไปปฏิบัติตามแนวทางการแทรกแซงราคากุ้งที่กำหนดได้บ้าง เพราะราคาที่รัฐกำหนดให้มีการแทรกแซงนั้น เป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มว่าราคาตลาดจะไม่ขยับสูงขึ้นไปกว่านี้ นอกจากนี้ยังต้องดูทิศทางค่าเงินบาทด้วย เพราะหากซื้อกุ้งในราคาที่แพงมาก จะทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น