xs
xsm
sm
md
lg

ทหารรื้อใหม่ แผนดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดใจ "โฆษก กอ.รมน.ภ.4" เผยทหารเตรียมนำทฤษฎีใหม่มาใช้คลี่คลายวิกฤตไฟใต้ โดยแยกคดีผู้มีอิทธิพล-ขบวนการค้ายาออกจากคดีความมั่นคง ยันความรุนแรงช่วง 2 ปีที่ผ่านมาดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ทหารลงคลุกคลีกับชาวบ้านต่อเนื่องทำให้เกิดความไว้ใจ และการนำหลักนิติวิทยาศาสตร์ไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม ชี้รัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ จนท.ทำงานได้คล่องตัว ยอมรับว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวแต่ไม่รู้ชัดว่าใครอยู่เบื้องหลัง

ปฐมบทจากเหตุการณ์ปล้นปืนภายในกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 อันเสมือนไฟใต้ได้ถูกจุดให้ปะทุคุโชนขึ้นระลอกใหม่ และลุกลามอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ สำหรับหน่ายงานหนึ่งซึ่งคลุกคลีอยู่ในพื้นที่และคอยติดตามสถานการณ์ตลอดมาคือ ฝ่ายทหาร ในเรื่องนี้ "ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ASTVผู้จัดการรายวัน" ได้สัมภาษณ์ พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์และโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4) ถึงความคืบหน้าของการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคลี่คลายวิกฤตไฟใต้ของฝ่ายรัฐในเวลานี้

ทหารเตรียมใช้ทฤษฎีใหม่ดับไฟใต้

พ.อ.ปริญญา เผยว่า เกือบ 2 ปีแล้วที่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ใต้คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ถือได้ว่าดีขึ้นกว่าช่วงปี 2547-50 เป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของทหารที่ใช้ชีวิตปฏิบัติงานใกล้ชิดกับชาวบ้านมาตลอด และได้รู้ถึงเครือข่าย ผู้กระทำมากขึ้น แต่ยังมีความยากที่ในบางหมู่บ้านยังมีอิทธิพลทับซ้อนอยู่

"แม้แต่เหตุเผา-ระเบิด 8 จุดในเขตเทศบาลนครยะลาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ถือว่ารุนแรงเท่าที่เคยเกิดในช่วงแรกๆ และไม่มีการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ระเบิดก็ทำได้เพียงก่อกวน แต่การวางเพลิงที่มีมูลค่าความเสียหายมาก เนื่องจากเลือกก่อเหตุในจุดที่เป็นโกดังเก็บสินค้าที่มีมูลค่าสูง และเลี่ยงก่อเหตุในห้วงเวลาที่เจ้าหน้าที่อ่อนล้าจากการดูแลความปลอดภัย ซึ่งหลังจากทุ่มกำลังส่วนใหญ่ดูแลในบริเวณสถานที่จัดงานสมโภชศาลหลักเมืองยะลาและงานกาชาดประจำปี"

พ.อ.ปริญญา กล่าวต่อว่า ในส่วนการทำงานของทหารนั้น ได้มีชุดพัฒนาสันติลงพื้นที่ 217 หมู่บ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ใช้ชีวิตในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อดูแลและช่วยเหลือชาวบ้านให้มีความมั่นใจในการดำรงวิถีชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พัฒนาความสัมพันธ์ ใกล้ชิดระหว่างภาครัฐสู่ชุมชน เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งชาวบ้านที่บริสุทธิ์ก็อยากจะช่วยภาครัฐคลี่คลายสถานการณ์ และอยากใช้ชีวิตแบบปกติสุข ดังนั้น เมื่อมีเหตุความผิดปกติภายในหมู่บ้านหรือมีเบาะแสใดๆ ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่

ความความมือเหล่านี้ ส่งผลต่อความเชื่อมันด้านเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักมากขึ้น จะเห็นได้จากมีการลงทุนร้านค้า ห้องแถว โดยเฉพาะที่ด่านหม้อแกงในพื้นที่ จ.ปัตตานี เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น และอีกสัญญาณหนึ่งคือ เมื่อมีงานกาชาด ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัดเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย ประชาชนจำนวนมากก็หลั่งไหลมาร่วมงาน โดยไม่ได้กังวลถึงความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งต้องมีการตรวจพาหนะเดินทาง และจอดรถไกลจากงานมาก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค ถ้าจะทำให้การเที่ยวงานนั้นมีความปลอดภัย

"แม้ว่าการเกิดเหตุความไม่สงบจะล่วงเลยมากว่า 5 ปีและยังไม่รู้ถึงตัวผู้บงการก่อเหตุชัดเจน แต่ก็พอจะเห็นเครือข่ายอยู่บ้าง ซึ่งเดิมทีใช้เรายุทธวิธีแยกปลาดีออกมาจากปลาเน่า แต่พบว่าเมื่อล้วงมือไปจับปลาก็ทำให้น้ำขุ่น มองไม่เห็นทางและกว่าจะจับปลาที่ไม่ดีออกได้ก็กระทบต่อปลาดีที่อ่อนแอให้อยู่ไม่ได้ แต่ทฤษฎีการแก้ปัญหาหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งได้เขียนไว้ว่า ในวิกฤตที่มีความซับซ้อน ให้แยกเรื่องง่ายๆ ออกไปแก้ไขก่อน เช่น ปัญหายาเสพติด ผู้มีอิทธิพล สินค้าผิดกฎหมาย แล้วสุดท้ายจะเห็นเรื่องยากที่เป็นเนื้อร้ายคือ ปัญหาความมั่นคงของชาติ ซึ่งเรากำลังจะประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้"

มั่นใจ"นิติวิทยาศาสตร์"ช่วยคลายปม

ในส่วนการทำงานของกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น พ.อ.ปริญญา ยอมรับว่า รูปแบบการก่อเหตุความไม่สงบมีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหลบเลี่ยงการติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ และคงไว้ซึ่งการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดกับประชาชน ทั้งในเรื่องของชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้เห็นว่าภาครัฐดูแลความปลอดภัยให้ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้นก็จะต้องหาวิธีการให้ทำให้เกิดความกลัว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการจับกุมตัวผู้ต้องหานั้น มีความเสี่ยงต่อการถูกต่อต้านจากชาวบ้าน แต่ก็เริ่มคลี่คลายลงเมื่อได้นำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์ มาร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมๆ กับสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่มีความโปร่งใส ยุติธรรม และไม่มีการใส่ร้ายป้ายสีอย่างแน่นอน

"เคยมีกรณีคนร้ายนำอาวุธฝังไว้นอกหมู่บ้าน เมื่อก่อเหตุเสร็จแล้วก็กลับเข้าหมู่บ้าน แล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่คนในหมู่บ้านที่ร่วมเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐจะทราบความเคลื่อนไหว จึงแจ้งเจ้าหน้าหน้าที่และจับกุมตัว ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่เป็นอาวุธเลย แต่กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะเรื่อง DNA หรือสารพันธุกรรมที่ถูกทิ้งไว้ในวัตถุพยานและสถานที่เกิดเหตุ สิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญที่สามารถหาตัวผู้ต้องหา แยกผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหากับผู้ก่อเหตุได้"

พ.อ.ปริญญา กล่าวต่อว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์สามารถตอบสนองความต้องการ และช่วยให้การคลี่คลายคดีมีความต่อเนื่อง จึงได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ชายแดนภาคใต้ขึ้นมา โดยให้มีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อสนับสนุนการหาข้อมูลเชิงลึก และรวบรวมข้อมูลในระยะยาวที่จะเป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายสถานการณ์

"แม้ว่าข้อมูลและหลักฐานที่ได้ในขณะนี้จะหยุดแค่ตัวผู้ก่อเหตุ แต่มีข้อมูลที่เชื่อว่าขบวนการใหญ่ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นมีอย่างแน่นอน ซึ่งต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งในด้านการข่าวของทหารก็พยายามหาข่าว หาข้อมูลมากขึ้น โดยใช้หลักการเมืองนำการทหาร ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ โดยจะเห็นว่าการก่อเหตุถึงจุดที่สูงสุดในปี 2550 และกราฟกำลังไต่ระดับลง ทำให้เหตุการณ์รุนแรงแทบจะไม่มี ก็เชื่อว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้"

ยัน พรก.ฉุกเฉินฯ ยังจำเป็น

ต่อกรณีที่มีการต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการ (พ.ร.ก.) ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ในเรื่องนี้ พ.อ.ปริญญา กล่าวว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเปรียบเสมือนการเพิ่มดาบในการทำงานฝ่ายความมั่นคงให้สะดวกขึ้นเท่านั้นเอง เพราะหากยังมีการก่อเหตุเกิดขึ้น แล้วยังใช้กฎหมายทั่วไปในการติดตามผู้ต้องหานั้น ก็จะไม่เหมาะกับพื้นที่ ด้วยต้องมีการขอหมายจับจากศาลเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งใช้เวลา แต่คนที่ก่อเหตุในพื้นที่นั้นมีการโยกย้ายและเปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายในทันที หมายความว่าหากจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ก็สามารถสกัดไม่ให้เกิดเหตุในจุดอื่นได้ด้วยนั่นเอง

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ได้มีจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่การรับผิดชอบที่มีมากถึงกว่า 2,000 หมู่บ้าน กำลังทั้งหมดต้องมีการผลัดเปลี่ยนดูแลความปลอดภัยทั้งสถานที่ราชการ ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ โดยกำลังทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ผู้ปฎิบัติหน้าที่, กองหนุน และกลุ่มที่พักผ่อนก่อนปฏิบัติงานในผลัดต่อไป จึงไม่สามารถป้องกันเหตุได้ในทุกจุดในเวลาเดียวกัน และเป็นโอกาสของฝ่ายก่อเหตุที่จะจ้องโจมตีในจุดอ่อน ทำให้ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ฝ่ายตั้งรับเสียส่วนใหญ่

"การดูแลความปลอดภัยภายใต้ข้อจำกัดนี้ ทำได้โดยเฝ้าระวังในจุดเสี่ยง เช่น สถานที่ราชการ ที่เหลือก็จะเป็นการลาดตระเวนรอบๆ ยกเว้นว่าจะมีกำลังเจ้าหน้าที่ 3-4 คนต่อผู้ก่อเหตุ 1 คน และต้องมีการสร้างพลังใหม่มาทดแทนเป็นสิ่งสำคัญ นั่นคือ การดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐด้วยความเข้มแข็ง ถ้ามีทำได้อย่างนี้กำลังที่อยู่ในพื้นที่ก็พร้อมจะออกภายใน 5 ปี แต่ใน 3 ปีแรกนั้นต้องสร้างกำลังประชาชนให้พร้อมรับ แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น"

พ.อ.ปริญญา กล่าวว่า การก่อเหตุของคนร้ายมีจุดประสงค์เพื่อให้เห็นว่าภาครัฐดูแลประชาชนไม่ได้ จึงพุ่งเป้าทั้ง 2 กลุ่มคือ เจ้าหน้าที่รัฐ-ข้าราชการในพื้นที่ และกลุ่มประชาชน เพื่อส่งสัญญาณว่าอำนาจรัฐสิ้นสภาพ และไม่สามารถคุ้มครองใครได้เลย แต่การทำงานของทหารก็ได้ยึดแนวทางพระราชทานของในหลวงคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เมื่อเห็นปัญหาก็ปรับยุทธวิธี เช่น ให้กองกำลังปฏิบัติงานในพื้นที่ 2 ปีถึงจะมีการปรับเปลี่ยน จากเดิมที่มีระยะเวลา 6 เดือน-1 ปีเท่านั้นเพื่อให้คนที่เข้าใจพื้นที่และชาวบ้านได้ทำงานนานขึ้น

"นอกจากนี้ยังได้มีโครงการช่วยเหลือเยาวชนให้มีงานทำ หลีกเลี่ยงยาเสพติดที่เป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เยาวชนถูกชักจูงไปในทางที่ผิด เช่น โครงการญาลันนันบารู ที่มีการนำเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาร่วมกิจกรรมให้ความรู้เรื่องยาเสพติด ซึ่งมีดำเนินการมากว่า 100 รุ่นแล้ว"

ยอมรับกลุ่มอิทธิพล-ค้ายาร่วมซ้ำเติม

พ.อ.ปริญญา เผยด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์ต่อถึงเบื้องหลังผู้ก่อความไม่สงบนั้น ในอดีตเมื่อก่อเหตุแล้วจะมีกลุ่มขบวนการออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นผู้กระทำ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป กลุ่มเหล่านี้อ่อนกำลังและลดบทบาทลงตามโลกที่เปลี่ยนไป แต่การสู้รบที่เกิดขึ้นกับโลกมุสลิมก็อาจจะมีกลุ่มผลประโยชน์นำมาฉกฉวยโอกาสปลุกระดมและสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในชายแดนใต้นั้นมีความเชื่อว่า มีขบวนการก่อเหตุที่มีความมุ่งหมายแบ่งแยกดินแดนดำรงอยู่ และมีเงินบริจาคเข้ามาในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม

"แต่ปัจจัยหลักที่หนุนหลังการก่อเหตุในพื้นที่นี้และเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้คือ ในหลายเหตุการณ์ที่ถูกก่อขึ้นมามีความโยงใยกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลและปัญหายาเสพติด และอาจทำให้รัฐกำลังหลงประเด็นในการแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะข้อมูลเรื่องคดีที่เกิดในพื้นที่ที่มีทั้งหมดกว่า 50,000 คดีนั้นมีเพียงประมาณ 9,000 คดี หรือไม่ถึง 1 ใน 5 ที่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงจริงๆ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของอาชญากรรมธรรมดาๆ ที่อาศัยจังหวะนี้เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ให้ดูรุนแรงขึ้น" พ.อ.ปริญญา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น