xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีระบบโลก กับ การเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์โลก (1)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ไม่นานมานี้ ผมเพิ่งออกผลงานใหม่เรื่อง ฤๅทุนนิยมจะถูกทำลาย : วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่ขายดีมากเล่มหนึ่ง สาเหตุหนึ่งที่ขายดีก็เนื่องจากเพื่อนๆ จำนวนมากคงกังวลเรื่องผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กัน

ไม่ว่าผมจะไปพูดที่ไหน จะมีเพื่อนๆ ถามอยู่เสมอว่า

“ทุนนิยมจะถึงคราวล่มสลายจริงหรือ”

คำตอบของผมโดยมากคลุมเนื้อหาในทำนองว่า

ทุนนิยมที่กำลังจะล่มสลาย คือ ‘ทุนนิยมฟองสบู่’ ซึ่งพัฒนามากับกระแสโลกาภิวัตน์ (เงินไร้พรมแดน และสื่อไร้พรมแดน) และระบอบการเมืองแบบครอบโลก ที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงบทบาทหรือมีฐานะเป็นผู้นำเดียว รวมทั้งมีแบบแผนวัฒนธรรมโลกที่ผมเรียกว่า ‘ทุนนิยมคาวบอย’

ผมจะกล่าวเสมอว่า

การเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ ภายในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ผมคาดว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวอย่างน้อย 10 ถึง 15 ปี และนับจากนี้ไปจะมีวิกฤตอื่นๆ ตามมาอีกหลายลูก จนในที่สุดจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนยุคประวัติศาสตร์โลก

ในวงเสวนาและอภิปรายต่างๆ มีหลายครั้ง ผมได้กล่าวเชิงคาดเดาอนาคตว่า

“ถ้าวิกฤตยาวและหนักจริง ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นการสิ้นสุดลงของยุคเศรษฐกิจโลก (ทุนนิยม และสังคมนิยม) และการก้าวสู่ยุคโลกสีเขียวบนฐานระบบชุมชนที่ยั่งยืน”

มีการอภิปรายครั้งหนึ่ง เพื่อนคนหนึ่งถามต่อว่า

“ทิศทางการเคลื่อนตัวของระบบโลกจะมีลักษณะการเคลื่อนตัวแบบไหน อย่างไร”

นี่เป็นคำถามที่ตอบยากที่สุด ผมตอบเขาแบบง่ายๆ ว่า

“น่าจะเคลื่อนตัวแบบพลิกผัน หรือสวิงไปมา เหมือนคนไข้ป่วยหนัก บางครั้งดูคล้ายกับจะพลิกฟื้น หรือหายจากโรค แต่ผ่านไปสักพักหนึ่งก็ล้มป่วยหนักอีก”

เพื่อนยังติดใจ ถามว่า

“จะมีหลักคิด หรือทฤษฎีอะไรที่ช่วยอธิบายวิถีการเคลื่อนตัวแบบนี้”

ผมตอบเขา

“ผมเองใช้หลัก ทฤษฎี Chaos ว่าด้วยการพลิกผันที่เกินคาด”

มีเพื่อนอีกคนหนึ่งเสนอแนวคิดเชิงแย้งว่า

“ผมคิดว่า สหรัฐอเมริกามีเงินมหาศาลมาก เขาน่าจะสามารถใช้เงินพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ยากนัก”

และเขายังกล่าวเสริมอย่างมั่นอกมั่นใจว่า

“อีกไม่นาน สหรัฐฯ จะกลับมาเป็นใหญ่เหนือระบบโลกอีกครั้ง”

ผมตอบเขาว่า

“ก็เป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะง่ายอย่างที่คิด เรามักจะเชื่อกันว่า เงิน คือคำตอบของทุกอย่าง แต่...ต้องระวัง วิกฤตครั้งนี้มีรากมาจากเงิน หรือการปั่นเงินที่มีมากมายจนล้นโลก

ถ้าเราแก้วิกฤตโดยการใส่เงินจำนวนมหาศาลเข้าไปอย่างที่ชนชั้นนำอเมริกันกำลังทำอยู่ การทำเช่นนี้อาจจะก่อเกิด ฟองสบู่ลูกใหม่ ที่ไม่ยั่งยืนอย่างยิ่งขึ้นมาอีก”

และผมก็เล่าเรื่องย้อนประวัติศาสตร์กับวิกฤตการณ์แบบย่อๆ

หลังฟองสบู่แตกปลาย ค.ศ. 1929 (หรือที่เรียกว่า The Great Depression) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากนั้นประมาณปีหนึ่งผ่านไป มีการประเมินกันว่า “เศรษฐกิจผ่านจุดที่ต่ำที่สุดแล้ว” ตลาดหุ้นก็สวิงกลับไปยืนอยู่ ณ จุดก่อนเกิดวิกฤต จนก่อเกิดฟองสบู่ลูกใหม่ขึ้นอีก แต่ฟองสบู่ลูกนี้ไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจจริงยังไม่ฟื้นจริง

หลังจากนั้นไม่นานนัก ประมาณช่วงปลาย ค.ศ. 1931 มีข่าวร้ายด้านเศรษฐกิจ อย่างเรื่อง กระแสการตกงานที่เพิ่มขึ้น และ วิกฤตธนาคารรอบใหม่ ตลาดหุ้นจึงทรุดใหญ่รอบสอง และทรุดหนักลงกว่าเดิมหนึ่งเท่าตัว

ปัจจุบัน หลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ได้ทุ่มเงินมหาศาลเข้าไปแก้วิกฤตเศรษฐกิจ และมีความพยายามสร้างความคาดหวังอนาคต อย่างเช่น มีการประเมินกันว่า ‘ระบบเศรษฐกิจน่าจะก้าวผ่านจุดต่ำสุดแล้ว’ และมีการสร้างข่าวว่า ‘ธนาคารใหญ่ของสหรัฐอเมริกา 19 แห่ง ที่ดูเหมือนจะมีปัญหารุนแรง ขณะนี้ไม่ได้มีปัญหามากนัก’

ทุนโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่า ทุนโลกาภิวัตน์ นั้นสามารถเคลื่อนตัวไป หรือไหลขึ้นอย่างง่ายๆ ได้จากการสร้างคาดหวังที่ดูดีทั้งหลาย รวมทั้งการพยายามปิดข่าวร้าย กระจายเฉพาะข่าวดี

ฟังแล้ว เพื่อนบอกว่า

“ที่คุณยุคกล่าวถึง...น่าสนใจมาก คุณยุคช่วยเขียนเล่าเรื่องวิกฤต ค.ศ. 1929 ถึง 1933 ให้อ่านสักเรื่องหนึ่งด้วยเถอะ ผมว่าน่าจะมีประโยชน์ อย่างน้อยคนไทยจะได้รู้ อะไรเป็นอะไร”

ผมรับปากจะเขียนถึงเรื่องนี้ และบอกย้ำเพื่อนว่า

“ผมไม่เชื่อแนวคิดเรื่อง จุดต่ำสุด มากนัก เพราะหลักคิดนี้ดูจะง่ายๆ ไป ผมเองเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจเคลื่อนตัวแบบลูกคลื่น และสวิงไปมา เมื่อลงหนักแล้วก็ต้องไหลขึ้น เมื่อขึ้นแล้วก็มีโอกาสลงอีกได้

ในช่วงวิกฤตใหญ่ สภาวะ Chaos หรือ การพลิกผันแบบสวิงไปมา คือสองด้านของสิ่งเดียวกันนี่คือเรื่องธรรมดา หรือเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง

ดังนั้น ‘จุดต่ำสุดจริง’ อยู่ตรงไหนแน่ เมื่อไหร่แน่ เป็นเรื่องที่บอกได้ยาก เราต้องตระหนักเสมอว่า “ยิ่งวิกฤตมากเท่าไร โอกาสแห่งความพลิกผันจะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น”

เพื่อนผมคนเดิมเล่าเพิ่มว่า

“ผมเพิ่งอ่านเรื่องทฤษฎี Chaos ซึ่งอธิบายความพลิกผันที่เกินคาดจากงานชิ้นเก่าที่คุณยุคเขียนไว้ ดูน่าสนใจมาก แต่ผมเองกลับสนใจเรื่องทฤษฎีระบบโลก อยากให้คุณยุคเขียนถึงบ้าง”

ผมกล่าวกับเขา

“ทฤษฎีระบบโลก ถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์”

หลักพื้นฐานของแนวคิดนี้จะสอนให้เรารู้ “ค่า” เรื่องราวในอดีต เริ่มเรียนรู้จากโลกที่เป็นจริง (ไม่ได้ยึดเอาทฤษฎีเป็นตัวตั้ง)

เราใช้อดีต ช่วยอธิบายปัจจุบันและอนาคต

แต่วิชาประวัติศาสตร์ที่ผมเรียนแตกต่างจากวิชาประวัติศาสตร์ทั่วไปอยู่หลายประการ

ประการแรก ผมเรียนประวัติศาสตร์ในกรอบที่กว้างมาก คือกรอบของระบบโลก ซึ่งจะต่างจากนักประวัติศาสตร์ทั่วไปที่ศึกษากันในกรอบของประเทศเป็นสำคัญ

ประการที่สอง ผมเรียนประวัติศาสตร์แบบบูรณาการ ไม่ใช่เรียนรู้แบบแยกส่วน เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างเช่น เรียนเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ หรือประวัติศาสตร์เทคโนโลยี แต่ผมจะเรียนประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และการเปลี่ยนผันไปของสภาวะแวดล้อม ราวกับหน่วยที่เคลื่อนตัวไปด้วยกัน

ประการที่สาม ผมเรียนประวัติศาสตร์แบบเชื่อมต่อกับปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะแตกต่างจากวิชาประวัติศาสตร์ทั่วไปที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ราวว่าเป็นวิชาที่สามารถแยกอดีตออกจากปัจจุบันและอนาคตได้

หรือกล่าวได้ว่า

ประวัติศาสตร์ คือความต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน และสู่อนาคต หากเรียนรู้อดีตมากขึ้นเท่าไรก็เท่ากับรู้ความเป็นปัจจุบันมากขึ้นเท่านั้น เมื่อรู้ปัจจุบันมากขึ้นเท่าไรก็เท่ากับรู้อนาคตมากขึ้นเท่านั้น

ผมกล่าวขยายความต่อว่า

เดิมที ทฤษฎีระบบโลก เป็นทฤษฎีเชิงระบบ ที่ถือว่าระบบมีระเบียบที่ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งแนวคิดแบบนี้จะใช้อธิบายระบบได้ในช่วงที่ระบบมีการเคลื่อนตัวแบบมีระเบียบเท่านั้น

ต่อมา ชาวทฤษฎีระบบโลกเริ่มเห็นจุดอ่อน หรือความจำกัดของตัวเอง จึงได้พยายามปรับทฤษฎีใหม่ ด้วยการนำเอาหลักฟิสิกส์สมัยใหม่ว่าด้วยเรื่อง Chaos มาใช้อธิบายการเคลื่อนตัวของระบบโลกในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยทำให้ทฤษฎีระบบโลกมีความสามารถในการอธิบายช่วงประวัติศาสตร์ที่มีจังหวะ หรือการเคลื่อนตัวแบบที่พลิกผันค่อนข้างมากได้ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น