xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้ายบทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอน 6)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

หลักยุทธศาสตร์...... ‘ฟ้า’ กับ ‘ดิน’ ประสานเป็นหนึ่ง

เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเคยร่วมต่อสู้ในป่า กล่าวขึ้นว่า

“ผมเคยไปร่วมชุมนุมกับพวกพันธมิตร ถูกเพื่อนๆ หลายคนประณามว่า กลายเป็นพวกเจ้านิยม และได้ลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาไปแล้ว

ถ้าอาจารย์โดนตั้งคำถามแบบนี้ อาจารย์จะตอบอย่างไร”

ผมยิ้มและรู้สึกเห็นใจ ตอบเขาว่า

“เรื่องราวความรุนแรงในอดีต ทุกเหตุการณ์ล้วนมีที่มาและที่ไปซึ่งค่อนข้างสลับซับซ้อนกว่าที่เราคิด แต่เราชอบเข้าใจอะไรกันแบบง่ายๆ อย่างเช่น เที่ยวหาคนชั่วขึ้นมาคนหนึ่ง โดยมากมักจะเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามเรา อย่างเช่น คุณสมัคร แล้วก็ประณามหรือโยนความผิดทั้งหมดให้กับคนใดคนหนึ่งเท่านั้น


การเข้าใจโลกแบบนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจของคนที่มีจิตติดหลงในความเกลียดแบบไม่ยอมเลิกรา

ชาวพุทธมักจะสอนว่า เราก็คือ เขา เขาก็คือ เรา

หากเราทำร้ายผู้อื่น ที่แท้ก็คือการทำร้ายตัวเรา นั่นเอง


สงครามระหว่างมนุษย์ที่แท้แล้วล้วนเกิดจากการติดหลงในอวิชชา ฐานคิดของหลักอวิชชาคือ ที่มาแห่งการแยกเขาแยกเรา แยกคนเป็นกลุ่มๆ เป็นชั้นชน และทุกคนเข้าใจว่า ทุกคน หรือแม้แต่คนรอบๆ ข้างเรา คือ ศัตรู

เมื่อเรามองโลกเช่นนี้ เราจะแบ่งโลกเป็น ฝ่ายมิตร และ ฝ่ายศัตรู

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ก่อเกิดขึ้นจากการติดหลงในอวิชชาและความเชื่อในวัฒนธรรมสงคราม

ฝ่ายหนึ่งหันไปหลงเชื่อความคิดแบบฝ่ายซ้ายอย่างสุดๆ เชื่อว่าต้องทำสงครามทางชนชั้น ล้มล้างชนชั้นผู้มีอำนาจด้วยการใช้ความรุนแรง ส่วนอีกฝ่ายผู้มีอำนาจก็เชื่อแบบขวาสุดๆ ว่าต้องฆ่าฝ่ายซ้ายให้หมดแผ่นดิน

ซ้ายประกาศสงครามทางชนชั้น ขวาก็ต้องพิฆาตซ้าย

ใครเล่าผิด ใครเล่าถูก หรือว่าทั้ง 2 ฝ่ายล้วนหลงผิด และติดหลง (คลั่งความเป็นซ้ายและเป็นขวา) ด้วยกันทั้งคู่

ย้อนไปในช่วงนั้น ยังไม่มีใครตั้งคำถามต่อทฤษฎีต่างๆ ‘ซ้าย’ หรือ ‘ขวา’

ไม่ว่า
‘ซ้าย’ หรือ ‘ขวา’ เหล่านี้ที่แท้แล้วก็ถูกผลิตขึ้นมาจากโลกตะวันตก และพวกเราสมัยนั้นต่างก็หลงติดหลงเชื่อบรรดาทฤษฎีเหล่านี้ว่า เป็นวิทยาศาสตร์ หรือ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คำว่าศาสตร์ แปลว่า ความจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ยืนยันได้ และใช้ได้ทุกแห่งทุกที่

คนที่หลงใหลศาสตร์ตะวันตกทั้งหมดจึงกลายเป็นพวกสุดขั้วแบบหนึ่งแบบใดทั้งนั้น

พุทธได้เสนอแนวคิดแบบพุทธที่มีค่ามากคือ หลักว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง อย่าหลงติดและคิดแบบสุดขั้ว พุทธสอนเราเสมอว่า มนุษย์ที่เกิดมาไม่ว่าจะยืนอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ใด ก็คือ เพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น

ไม่มีคำว่า ‘ศัตรู’ ในความเชื่อทางพุทธ

คนเราแม้จะเกิดในชนชั้นที่แตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นต้องทำสงครามกัน

แต่ฐานที่มาของวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มาจากวัฒนธรรมชนเผ่าที่มีชีวิตอยู่กับสงคราม คนตะวันตกขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือระบบโลกได้ ก็เนื่องจากทำสงครามไล่ล่าอาณานิคม

ฐานคิดหลักของทฤษฎีตะวันตก ไม่ว่า
ทฤษฎีฝ่ายซ้าย หรือ ทฤษฎีฝ่ายขวา ต่างตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องการวิวัฒนาการ ซึ่งเกิดจากการต่อสู้แบบปฏิวัติหรือการทำสงคราม

ฝ่ายขวาชื่นชอบ
การปฏิวัติประชาธิปไตย มากๆ จึงชื่นชอบการล้มล้างสถาบันกษัตริย์เอามากๆ ส่วนฝ่ายซ้ายก็หลงชื่นชม การปฏิวัติสังคมนิยม ล้มล้างระบบทุนนิยมด้วยความรุนแรง

เราจึงหลงยกย่องสรรเสริญมรรควิธี “การใช้ความรุนแรง” เพราะถือว่า นี่คือมรรควิธีซึ่งเป็นหัวใจของคำว่า ‘การปฏิวัติ’

นอกจากนี้ แนวคิดแบบวิวัฒนาการของตะวันตก จะอธิบายความเชื่อด้านแนวคิดเชิงวิวัฒน์ ดังนั้น สิ่งที่ก่อกำเนิดในอดีตล้วนล้าหลังหรือโบราณ จำเป็นต้องถูกล้มล้างให้สิ้นซาก

ปฏิวัติล้มล้างสิ่งเก่า และแทนที่
‘สิ่งเก่า’ ด้วย ‘สิ่งใหม่’

จุดอ่อนสำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ การมองข้าม “ค่า” ของแนวคิดแบบเก่าๆ และของเก่าๆ

สิ่งเก่าๆ เหล่านี้อาจจะโบราณจริง แต่อาจกลับมีค่า “มหาศาล” ในปัจจุบัน

บางสิ่งนั้น แม้เกิดขึ้นนานมาแล้วนับพันๆ ปี ก็ยังใช้ประโยชน์ได้ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ความเชื่อทางปรัชญา และความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็น พุทธ หรือ เต๋า ยังคงสืบทอดจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ได้และน่าจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต

มองในแง่นี้ เราคงต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งหนึ่งจะ
‘มีค่า’ หรือ ‘ดำรงอยู่’ หรือไม่ นั่นไม่น่าจะเกี่ยวกับว่า สิ่งนั้นก่อเกิดขึ้นในสมัยโบราณหรือไม่ แต่น่าจะอยู่ที่ ค่าของสิ่งนั้นสามารถนำมารับใช้ความจริงในปัจจุบันหรือในอนาคตได้หรือไม่

จนถึงวันนี้ สถาบันกษัตริย์ ทั้งๆ ที่เป็นสถาบันโบราณก็ยังคงดำรงอยู่ข้ามยุคสมัยมาได้ เพราะคนปัจจุบันรู้วิธีที่จะนำเอาสถาบันแบบเก่านี้มาใช้ประโยชน์สำหรับโลกปัจจุบัน

ในช่วงแรกๆ ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิโณมิกส์ ผมถูกเพื่อนคนหนึ่งถาม ‘ทำไมจึงวิพากษ์กลุ่มทักษิโณมิกส์’ เขาเชื่อว่า ‘กลุ่มทุนนี้คือกลุ่มทุนใหม่ เมื่อใหม่ ต้องก้าวหน้าที่สุด’

ผมตอบเขาสั้นๆ
‘อย่าคิดแบบง่ายๆว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ต้องดีและก้าวหน้าที่สุด อะไรดี หรือไม่ดี อยู่ที่เราต้องแยกแยะและศึกษา หรือทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของทุนในแต่ละแบบให้ดี’

ทุนโลกาภิวัตน์ และทักษิโณมิกส์ คือ ระบบทุนที่เคลื่อนตัวด้วย “ความโลภอย่างอภิมหาโลภ”

นี่คือ การพัฒนาแบบสุดขั้วแบบหนึ่ง

ยิ่งเติบใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ จะทำให้เกิดการเสียดุลอย่างยิ่ง และจะหันกลับมาทำลายระบบการผลิตจริง รวมทั้งจะนำมาซึ่งหายนะและวิกฤตขนาดใหญ่

ดังนั้นคำว่า ‘ทุนใหม่’ ไม่ใช่ทุนที่ดี มีค่า และงดงามเสมอไป

หรือกล่าวได้ว่า นี่คือ ‘ทุนที่อันตราย’ อันตรายและเลวร้ายกว่าทุนเก่าๆ เสียอีก

เพื่อนผู้ตั้งประเด็นถามครั้งแรกได้ถามว่า

“แล้ว....จะสู้กับทักษิโณมิกส์ได้อย่างไร”

ผมตอบเขาว่า
“สู้ด้วยสันติธรรม (เผยแพร่ความจริง) ผสานกับยุทธศาสตร์ ‘พลังฟ้า’ และ ‘พลังดิน’ ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน

หากเป็นหนึ่งเดียวกันได้...ก็ชนะได้”

ผมย้ำว่า “มีเพียงเส้นทางนี้ เท่านั้น”

อะไรคือ การเมืองเก่าที่เน่าสนิท

เพื่อนคนหนึ่งกลัวว่าผมจะพูดนอกประเด็นไปมาก จึงตั้งประเด็นถาม

“คุณยุคครับ
อะไร คือ การเมืองใหม่”

ผมตอบว่า

ก่อนที่เราจะเข้าใจว่า อะไรคือ การเมืองใหม่ เราน่าจะย้อนประวัติศาสตร์ให้เห็นภาพระบบการเมืองเก่าเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนตรงไหน

ในช่วงล่าอาณานิคม ชนชั้นนำในสังคมไทยสมัยนั้นเริ่มตระหนักว่า โลกตะวันตก คือ ศูนย์กลางแห่งอารยธรรม เราจึงส่งคนไทยจำนวนหนึ่งไปเรียนรู้และศึกษาอารยธรรมใหม่

ดังนั้น แนวคิดทางการเมืองและการปกครองแบบตะวันตกได้แพร่เข้ามา และส่งผลต่อมาทำให้ ประเทศไทยเกิดการปฏิรูประบบการเมืองใหม่ทั้งระบบ

ช่วงเวลานั้น ชนชั้นนำไทยรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกในแง่การสร้างระบบการเมืองการปกครองสมัยใหม่ที่เรียกว่า การสร้างรัฐชาติสมัยที่มีพรมแดนแน่นอน เข้ามา

เราได้เลือกเอาวิถีการสร้างระบบการเมืองการปกครองขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าใหญ่มาก และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง

ผมขอเรียกตัวระบบการเมืองการปกครองนี้ว่า
รัฐราชการรัฐราชการดังกล่าวในเวลาต่อมาได้เอื้อต่อการขึ้นมามีอำนาจของข้าราชการ อย่างเช่น ทหาร หรือ ตำรวจ

ขณะเดียวกัน เราก็รับความเชื่อที่เรียกว่า
ประชาธิปไตยตัวแทน เข้ามาด้วย จึงมีความพยายามสร้างและสถาปนาระบบการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง วางไว้ ณ ตำแหน่งศูนย์กลางนำ หรือทำหน้าที่ควบคุมรัฐราชการอีกทอดหนึ่ง (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น