xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ฤาว่า ‘ทุนนิยม’ จะถูกทำลาย (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

การที่ โอบามา (Obama) ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา น่าจะมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปใกล้ชิดกันมากขึ้น ถ้า โอบามา สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและรัสเซีย ได้ โอกาสที่เราจะเห็น ‘ระบบโลกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน’ เกิดขึ้นได้ ก็มีเช่นกัน

ถ้าสามารถสร้างระบบโลกใหม่ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ความขัดแย้งในระบบโลกทั้งระบบจะลดลงอย่างมาก ทำให้สามารถควบคุมระบบเศรษฐกิจ การเมืองโลก และการไหลเวียนของระบบเงินตราโลกซึ่งก้าวผ่านพรมแดนได้อย่างรวดเร็วจนยากจะควบคุม

ดังนั้น การปฏิรูปใหญ่ครั้งนี้ คงต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อยกว่า 10 ปี และในช่วง 10 ปีนี้ บรรดาผู้นำโลกต้องมีเอกภาพกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องทิศทางการแก้ปัญหา

เพื่อนนักข่าวถามผมว่า

“ถ้าโลกไม่ได้ก้าวสู่ยุคสังคมนิยม หรือยุคคอมมิวนิสต์ อย่างที่ฝ่ายซ้ายกล่าวไว้ หลังยุคทุนนิยมคาว์บอย ระบบโลกจะก้าวไปสู่ยุคใด และแบบไหน”

ผมตอบว่า

“ถ้าเรามองในแง่ดี ระบบโลกกำลังก้าวสู่ยุคโลกสีเขียว”

มองในแง่นี้ วิกฤตทุนนิยมคาวบอย ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย แต่เป็นเรื่องที่ดี ผมเองเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำกล่าวของ Ban Ki Moon เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า

“เรากำลังยืนอยู่ ณ จุดเปลี่ยนผ่านระบบโลก ....... และเรากำลังก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียว”

ถ้าจะกล่าวแถมสักนิด ผมจะใช้คำว่า ยุคโลกสีเขียว เพราะยุคข้างหน้าไม่ใช่ยุคเศรษฐกิจสีเขียวเท่านั้น เรายังต้องก้าวสู่ยุคการเมืองสีเขียว และที่แน่ๆ คือ ยุควัฒนธรรมสีเขียว ด้วย

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้

คำตอบแรก ก็คือ ระบบโลกปัจจุบัน ไม่ได้เพียงแค่เผชิญวิกฤตใหญ่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ระบบโลกกำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมด้วย

วิกฤตวัฒนธรรมมีรากลึกมาก ก่อเกิดจากภูมิปัญญาตะวันตกแบบเก่า ที่ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องความเจริญในด้านวัตถุ และมองโลกแบบแยกส่วน แบบตัวใครตัวมัน (ผ่านแนวคิดเรื่อง สงคราม และการต่อสู้ทางชนชั้น)

มนุษยชาติต้องกล้ารื้อฐานภูมิปัญญาดังกล่าวทิ้ง มองโลกด้วยความรักและความเอื้ออาทรต่อกัน และต้องเข้าใจโลกแบบองค์รวม

การเข้าใจโลกแบบองค์รวมและเอื้ออาทรต่อกันเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้มนุษยชาติ ก้าวผ่านการติดอยู่ในผลประโยชน์แคบๆ ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งได้


แต่ถึงอย่างไร การปฏิวัติทางภูมิปัญญานี้ก็ไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลานับสิบๆ ปี แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเคลื่อนตัวของแนวคิดใหม่นี้แล้วก็ตาม

มองในแง่ดี ผมคิดว่า วิกฤตเศรษฐกิจน่าจะมีส่วนช่วยให้ชนชั้นนำทั่วโลกเห็นความสำคัญของการผนึกความเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมา

ที่สำคัญ วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ก่อตัวขึ้นในปัจจุบัน ได้มีส่วนช่วยให้เราเข้าใจว่า จะแก้วิกฤตดังกล่าวได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษยชาติต้องรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว

นอกจากนี้ วิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้ยังนำเสนอทางออกแก่วิกฤตเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะการปฏิวัติทางด้านพลังงานโลกใหม่ ที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กำลังมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ระบบโลกด้านเศรษฐกิจขยายตัวได้

ชนชั้นนำทั้งในยุโรปและอเมริกา (โดยเฉพาะ Obama) จึงคาดหวังว่า ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ น่าจะเป็น ‘ทางออก’ ที่สำคัญมากทางหนึ่ง เพราะการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพลังงานทางเลือก จะช่วยให้เกิดการเพิ่มการจ้างงาน และช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจเคลื่อนตัวใหม่ได้

Obama จึงประกาศแผนทางยุทธศาสตร์ว่าจะทุ่มเงินถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปี เพื่อจะสร้างให้สหรัฐอเมริกาสามารถพึ่งตัวเองทางด้านพลังงานได้ และสามารถสร้างการจ้างงานใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน

แม้แต่ฝ่าย McCain ก็หันมาสนใจเรื่องนี้ และเสนอแนวคิดว่า สหรัฐอเมริกาต้องเป็นผู้นำ ในการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวจึงจะสามารถดำรงฐานะเป็นผู้นำระบบโลกต่อไปได้

คำตอบที่สอง ก็คือ นักคิด และชนชั้นนำในยุโรป เริ่มหันมาเชื่อว่า การปฏิวัติพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีในด้านนี้ น่าจะเป็นพลังขับดันระบบเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ได้ เพราะปัจจุบันระบบโลกได้ก้าวสู่โลกหลังยุคไฮเทค

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศในย่านยุโรปมีการศึกษาและค้นพบว่า อุตสาหกรรมที่มีอนาคตร้อนแรงคือ อุตสาหกรรมอันเกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างพลังงานทางเลือก เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนี ได้ใช้เงินดำเนินการกว่า 240,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งสามารถจ้างงานได้กว่า 250,000 คน ซึ่งมีการคาดกันว่า กิจการด้านพลังงานดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเพิ่มการจ้างงานมากกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี ประมาณหลังปี 2020

ประเทศอังกฤษเองก็มีแผนทุ่มเงินไปกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาพลังงานลม ซึ่งสามารถเพิ่มการจ้างงานได้ถึง 160,000 คน

วันนี้ ทั้งผู้นำฝรั่งเศส Sarkozyผู้นำอังกฤษ Brownและผู้นำสหรัฐฯ Obamaเริ่มเห็นคล้ายกันว่า ระบบโลกกำลังต้องการสิ่งที่เรียกว่า Green New Dealคล้ายๆ กับแผนที่เรียกว่า New Dealซึ่งเกิดขึ้นในยุควิกฤตใหญ่ (The Great Depression)ซึ่งในสมัยนั้น ท่านประธานาธิบดี Rooseveltของสหรัฐฯ เป็นผู้นำเสนอแผนนี้เพื่อแก้เศรษฐกิจโลกในยุคนั้น

จะเกิด Green New Dealหรือไม่

เราคงต้องรอดู หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา

วิกฤตใหญ่ทางเศรษฐกิจครั้งนี้จึงมีแง่ดีมากๆ ตรงที่กำลังเปิดช่องทาง และเปิดเงื่อนไขทางเวลาให้เกิดการรื้อถอนระบบเศรษฐกิจโลกแบบเก่า (ที่ทำลายและล้างผลาญสิ่งแวดล้อม) และสร้างระบบเศรษฐกิจ และการเมืองโลก ที่เอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติขึ้นมาได้

ที่สำคัญ วิกฤตนี้ ช่วยผลักให้เกิดการปฏิวัติพลังงานโลกใหม่ สู่ยุคพลังงานทางเลือก และสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจสีเขียว

ในเวลาเดียวกัน การวางฐานระบบเศรษฐกิจแบบใหม่จำเป็นต้องมีการสร้างระบบวัฒนธรรมใหม่

ถ้าระบบโลกเคลื่อนสู่ยุคโลกสีเขียว การเคลื่อนตัวไปในทิศทางดังกล่าวจะช่วยเลื่อนช่วงเวลา (วิบัติใหญ่ทางธรรมชาติ) และลดทอนอันตรายที่ยิ่งใหญ่กว่าซึ่งกำลังจะก่อเกิดขึ้นในอนาคต

นั่นคือ ความตาย และหายนะใหญ่ของมนุษยชาติจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม ในช่วงประมาณปี 2030 ถึง 50


ดังนั้น การก้าวสู่ยุคโลกสีเขียว และ โลกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน กำลังเป็นคำตอบร่วมของมนุษยชาติ ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

จนกว่าจะพบกันอีก

ยุค ศรีอาริยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น