xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้าย บทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ทุกวันนี้ เวลาผมเจอเพื่อนเก่าๆ ที่สนิทกันจำนวนหนึ่ง พวกเขามักจะขอให้ช่วยเขียนงาน “แนวคิดเรื่องการเมืองใหม่” ราวกับว่า นี่...เป็นหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ซึ่งผมหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีเพื่อนคนหนึ่งนอกจากขอให้เขียนแล้ว แถมสั่งเพิ่มอีกว่า

“อยากเห็นการเมืองไทยก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ก้าวถอยหลังเข้าคลองแบบ 70 และ 30”

จำได้ว่า เพื่อนอีกคนหนึ่งก็เสนอด้วย

“...ช่วยคิดแนวทางการเมืองวิถีแบบตะวันออกให้หน่อยเถอะ…”

ผมจำต้องรับปากเพื่อนๆ ว่าจะช่วยคิดเรื่องนี้ แต่บอกไปว่า

“จะพยายามเขียน เข้าท่าแค่ไหน ก็ไม่รู้ได้”

วันหนึ่งที่ไปทำเนียบรัฐบาล ลูกศิษย์ผมเดินตรงรี่เข้ามาทักพร้อมกับคำถามมากมาย เขาเริ่มต้นว่า

“อาจารย์ครับ ขอเวลาให้ผมสักนิดเถอะ ผมมีเรื่องสงสัยเยอะ อยากจะให้อาจารย์ช่วยตอบให้หายข้องใจหน่อย”

ด้วยความเป็นอาจารย์ ผมจะปฏิเสธลูกศิษย์ได้อย่างไร จึงชวนให้นั่งคุยกันและถามเขา

“จะถามเรื่องอะไรบ้างเล่า”

เขาเริ่มอย่างไม่รีรอ

“ผมมีคำถามอยู่ในหัวมากมาย ยังหาคำตอบไม่ได้ เรื่องแรกนะครับ อะไรคือ สงครามครั้งสุดท้าย

วันก่อน ผมฟังนักการเมืองท่านหนึ่งอภิปรายในสภาฯ ท่านกล่าว...คำว่า ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ มีที่มาจากบทเพลงปฏิวัติของกรรมกรฝ่ายซ้ายที่ลุกขึ้นสู้ ที่ประเทศฝรั่งเศส...”

ผมได้แต่หัวเราะ และตอบว่า

“ต้องขอตอบว่า ผมเองไม่รู้จริงๆ อาจจะเป็นสงครามของนักสู้แก่ๆ ที่อายุเกิน 60 แล้ว ท่านเหล่านี้อาจจะคิดว่า นี่คือ สงครามครั้งสุดท้ายของเขา เพราะหลังจากนี้ ท่านอาจจะออกบวชแบบไม่สึก

แต่ผมไม่คิดว่า คำนี้จริงๆ มาจากความเชื่อเรื่องการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรที่ฝรั่งเศส เพราะการต่อสู้ครั้งนี้จะใช้ว่า ‘การต่อสู้ของประชาชน’ ซึ่งน่าจะก้าวผ่านความเชื่อเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น”

ผมหยุดนึกพักหนึ่ง แล้วกล่าวขยายความต่อ

“ผมเคยใช้คำว่า สงครามครั้งสุดท้าย ในงานที่เขียนนานมาแล้ว ผมหมายถึง...สงครามที่ต้องเกิดขึ้นอันเป็นผลต่อเนื่องจากสภาวะกลียุคซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเป็นสงครามนำสู่การสรรค์สร้างระบบอารยธรรมใหม่ (เศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรมใหม่)

ผมคิดว่า สงครามครั้งนี้จะถือเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่มนุษย์จะต้องเผชิญหน้ากัน (แบบสงคราม) ก่อนที่ระบบโลกและสังคมจะก้าวเข้าสู่ช่วงประวัติศาสตร์ใหม่ คือ ก้าวผ่านยุคแห่งสงคราม หรือสิ้นยุคสงคราม เข้าสู่ยุคแห่งสันติภาพที่ยาวนานอีกครั้งหนึ่ง

นี่คือ วิถีการอธิบายประวัติศาสตร์แบบสวิงไปมา และแบบเป็นวัฎจักร จากด้านหนึ่งไปสู่ด้านตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง”

ลูกศิษย์ผมทำหน้าฉงน ผมจึงอธิบายต่อ

ในช่วงอดีตกาล ก่อนช่วงยุคสงคราม โลกเคยมียุคสันติภาวะมาก่อน นั่นคือช่วงพัฒนาการจากยุคชุมชนลุ่มน้ำโบราณสู่อารยธรรมเมืองขนาดเล็กๆ ตามลุ่มน้ำขนาดใหญ่ อย่างเช่น ลุ่มแม่น้ำคงคา แม่น้ำเจ้าพระยา

นี่คือ อารยธรรมชุดแรกของมนุษยชาติ

ถือได้ว่า เป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่สงบและสันติ ปราศจากสงคราม ช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้ยาวมาก อาจนานนับหมื่นๆ ปี

พอระบบสังคมโลกพัฒนาสู่ความเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่เรียกว่า นครรัฐ และก้าวสู่ยุคอาณาจักร จนมาถึงยุคระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ช่วงประวัติศาสตร์นี้ถือว่าระบบสังคมโลกก้าวสู่ยุคสงคราม

มาถึงวันนี้ ระบบสังคมโลกกำลังพลิกผันอีกครั้งหนึ่ง พลิกแบบสวิงตัวไปอีกด้าน โลกกำลังก้าวเข้าสู่ ‘วิกฤตใหญ่’ ซึ่งใหญ่มาก

วิกฤตใหญ่นี้น่าจะพาโลกไปสู่การเกิดก่อสงคราม ก่อนที่ระบบโลกจะก้าวเข้าสู่ยุคโลกไร้พรมแดนจริงๆ (ไร้พรมแดนทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม) หรือก่อนจะเกิดอารยธรรมใหม่ที่ไร้สงครามอีกครั้งหนึ่ง

ลูกศิษย์ถามผมแบบแหย่ๆ ว่า

“ยุคพระศรีอาริยะเมตไตย ใช่หรือไม่ครับ

ถ้าระบบโลกเคลื่อนตัวเช่นนี้จริง น่าจะหมายความว่าระบบโลกเคลื่อนตัวเป็นวงกลม เป็นวัฎจักรแบบกลับไปกลับมา ใช่ไหมครับ”

ผมยิ้ม ตอบเขาว่า

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นวัฎจักรแบบก้นหอยมากกว่า ดูคล้ายจะย้อนกลับ แต่ไม่ได้ย้อนกลับจริงๆ ส่วนยุคข้างหน้าจะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ความเชื่อ ชาวตะวันตกอาจจะเรียก ยุคโลกสีเขียว ถ้าคิดแบบคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา อาจเรียกตามความเชื่อของชาวพุทธ

สงครามครั้งสุดท้ายแบบนี้จะแตกต่างจากสงครามในสมัยเก่าที่จำกัดตัวอยู่ในรูปสงครามทางชนชั้น สงครามครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นสงครามที่ก้าวผ่านกรอบจำกัดทางชนชั้น กลายเป็นสงครามของประชาชน

ประชาชนที่มีความหลากหลาย แตกต่างกันทางชนชั้นและชั้นชน แต่กลับมาผนึกร่วมกัน รวมเป็นหนึ่งเดียว”

ผมชี้ไปรอบๆ ที่ชุมนุม

“เห็นไหมล่ะ...ที่นี่ มีคนทุกหมู่เหล่า ทุกชั้นชน มีทั้งพระ มีทั้งพวกที่เคยเป็นเจ้าเป็นนาย มีนายทุนใหญ่ มีทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง มีทั้งคนจน พวกเขากำลังผนึกกำลังและพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน

วันนี้...คนมีเงินกับคนจนต้องจับมือกัน

วันนี้...เจ้ากับไพร่ต้องจับมือกัน

พวกเขาจับมือร่วมกันเพราะเขารักชาติ ต้องการสร้างไทยที่งดงาม มีความสุข และมีสันติ

ทุกคนร่วมกันเสียสละ คนละเล็กคนละน้อย คนรวยก็เอาเงินมาช่วย คนที่มีอิทธิพลมีอำนาจ เช่น ทหาร ข้าราชการ ก็เอาพลังอิทธิพลมาช่วย คนมีปัญญาอย่างนักวิชาการก็เอาแนวคิดมาช่วย ฝ่ายกรรมกรก็เอาพลังของพวกเขามาช่วยกัน

ทั้งหมดของสงครามจึงเป็นที่มาของพลังแห่งการสร้างสรรค์ พลังการเมืองใหม่ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสงครามของชนชั้นซึ่งติดอยู่ในกรอบชนชั้นอันคับแคบ

พลังการเมืองใหม่นี้ หากสามารถผนึกเป็นหนึ่งเดียวได้ จะก่อเกิด พลังประชาธิปไตย ที่แท้จริง

ดังนั้น ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ จึงถือว่าเป็น ‘สงครามประชาธิปไตย’ ไม่ใช่สงครามแบบสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพแบบเก่าๆ

สาเหตุที่ทุกฝ่ายจะสามารถก้าวผ่านความแตกต่างทางชนชั้นได้ ต่างต้องตระหนักร่วมกันว่า ประเทศชาติและสังคมวัฒนธรรมกำลังเผชิญวิกฤตใหญ่

การพยายามหาทางออกจากวิกฤตรุนแรงและหนักหน่วงใหญ่ครั้งนี้ เราต้องนำเสนอ ‘แนวทาง’ หรือ ‘ยุทธศาสตร์’ ร่วมกันในการสร้างชาติและสังคมให้เป็นประชาธิปไตยและเจริญรุ่งเรือง

ดังนั้น การต่อสู้ร่วมกันของประชาชนไทยทั้งชาติ เพื่อสร้างสรรค์สังคมวัฒนธรรมและการเมืองใหม่ในวันนี้ คือจุดเริ่มต้นของการก่อเกิด ขบวนการประชาธิปไตย หรือ การก่อเกิดการเมืองใหม่

มองในแง่นี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นทั้ง ‘กระบวนการ’ และ ‘เป้าหมาย’ ในตัวเอง

ถ้าผมจะกล่าวแบบนักรัฐศาสตร์คนหนึ่ง (ที่คิดอย่างตะวันตกหน่อยๆ) หากมีใครถามผมว่า อะไรคือ การเมืองใหม่ ผมจะตอบเขาว่า

การเมืองใหม่ คือ การค้นคิดสร้างระบบการเมืองและการปกครองที่ก้าวหน้ากว่า และสามารถก้าวผ่านความจำกัดของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและรัฐราชการขนาดใหญ่ สู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยโดยตรงนั่นเอง”

ลูกศิษย์ผมกล่าวแซมขึ้นว่า

“ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมเห็นด้วยกับการเมืองใหม่อย่างยิ่ง แต่ผมขอถามอาจารย์อีกนิดหนึ่งเพราะยังไม่เข้าใจคำว่า อารยะขัดขืน”

ผมตอบเขาว่า

คำว่า อารยะ หมายถึงบุคคลผู้มีจิตใจดีงาม หรืองดงาม ถ้าใช้ในความหมายแบบพุทธ หมายถึงคนที่ยึดหลักโพธิสัตว์หรืออุทิศตัวเองเพื่อสิ่งอื่นๆ

การต่อสู้ที่เรียกว่า อารยะขัดขืน กำเนิดขึ้นในโลกตะวันออก ตัวอย่างที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การต่อสู้ของท่านมหาตมะคานธี

ท่านคานธีตระหนักว่า ท่าน คือคนตะวันออกที่มีอารยะ หรือมีจิตใจงาม คนจิตใจงดงามจะใช้วิธีทำสงครามหรือใช้ความรุนแรงตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างไร

ท่านจึงหาวิธีการต่อสู้แบบใหม่ สู้แบบสันติวิธี

บางคนอาจสงสัยว่า สู้แบบนี้แล้ว เมื่อไรจะชนะ

คำตอบคือ ชนะได้ด้วย ‘ใจ’

หลักใหญ่ใจกลางของการต่อสู้คือ หลัก ‘ผนึกใจ’ คนทั้งชาติให้เป็นหนึ่งเดียว

กุญแจแห่งความสำเร็จของท่านคานธีก็คือ ตัวท่านอุทิศตนเอง(ตายเป็นตาย) เพื่อสร้างศูนย์รวมใจ และสร้างพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่

การต่อสู้ในยุคปัจจุบัน เรามีเครื่องมือมากมายที่สามารถช่วยเชื่อมและผนึก ‘ใจ’ ผู้คนทั้งประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวได้

เช่น การใช้สื่อทีวี สื่อวิทยุ และหนังสือพิมพ์

สื่อเหล่านี้สามารถช่วยสร้าง ‘ใจร่วมที่เป็นหนึ่ง’ ของผู้คนทั้งประเทศได้

แต่ ‘การผนึกใจ’ บางครั้งเราจำเป็นต้องอาศัยสัญลักษณ์ร่วมในอดีต อย่างเช่น ความรู้สึกชาตินิยม ความรักชาติ ...เป็นต้น

ความรักชาติ จะช่วยให้ผู้คนมี ใจ(อุทิศ) และ ใจ(ศรัทธา) เป็นหนึ่งเดียวกัน

แต่ ‘ใจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน’ นี้จะไม่สามารถผนึกได้ ถ้าเราไม่มีเป้าหมายต่อสู้หรือโค่นล้มร่วมกัน

นี่คือที่มาของคำว่า ‘ศัตรู’ หรือ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ หรือ ‘ฝ่ายอธรรม’


นั่นไม่ได้หมายความว่า เป้าหมายแท้จริงคือการทำลายฝ่ายศัตรูหรือฝ่ายอธรรมให้สิ้นซาก แท้จริงแล้ว ภาพศัตรูที่เลวร้ายเป็นเพียงมายาภาพหรือเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ที่ช่วยกระตุ้นให้เราสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน

เป้าหมายที่แท้จึงไม่ใช่อยู่ที่การทำลายศัตรู กลับอยู่ที่การคิดสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่งดงาม

‘การค้นคิด’ หรือ ‘การใช้ปัญญา’ หรือคำว่า ‘ปัญญาภิวัฒน์’ จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้แบบอารยะขัดขืน

เราต้องช่วยกันระดมสติปัญญา สร้างสรรค์สังคมการเมืองใหม่ที่งดงาม แทนที่สังคมการเมืองเก่า ที่กำลังเน่าและตาย

ทุกวันนี้ ระบบการเมือง และ การเลือกตั้ง ได้กลายเป็นระบอบธนาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย ระบบการเมืองและการเลือกตั้งไม่สามารถทำหน้าที่ผลิตศูนย์ระบบการนำที่ดี และไม่สามารถผลิตนักการเมืองที่อุทิศตัวเพื่อประเทศชาติได้ หากปล่อยให้ระบบดังกล่าวดำรงอยู่และก้าวไปข้างหน้า ก็ยิ่งคอร์รัปชันและสร้างความเสียหายหนักหน่วงขึ้น

ในยามที่ระบบโลกวิกฤตหนักหน่วงเช่นนี้ เราจะยอมให้ระบบการเมืองเช่นนี้ดำรงฐานะเป็นศูนย์การนำของประเทศต่อไป...ได้อย่างไร

นี่คือที่มาของการพยายามแสวงหา‘การเมืองใหม่’

ลูกศิษย์ได้ถามต่อไปว่า

“อารยะขัดขืนแบบไทยๆ ต่างจากของท่านคานธีหรือไม่ครับ”

ผมตอบเขาว่ามีความแตกต่างหลายประการ

ในกรณีของไทย ‘ใจร่วม’ นี้เริ่มก่อกำเนิดขึ้นจากการผนึกพลังฟ้า (เจ้า) และดิน (ไพร่) ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อ ‘ฟ้า’ และ ‘ดิน’ เป็นหนึ่ง

นี่คือรากของการก่อเกิดพลังที่จะสร้างสรรค์การเมืองใหม่ได้
(ผมจะขยายรายละเอียดเรื่องนี้ ภายหลัง)

นอกจากนี้ คำว่า อารยะ กำลังมีความหมายอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น