xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิจจสมุปบาท กับลัทธิแก้กรรม (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

บทสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องธรรมะ ผมได้เขียนงานอีกชิ้นหนึ่งชื่อ “โลกาวิกฤต : เส้นทางสู่พุทธธรรม” งานชิ้นนี้ลงพิมพ์ในวารสารชื่อ Vote

งานชิ้นนี้เริ่มต้นจากคำถามที่เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวสันติอโศก ถามผมว่า “ทำไมคุณยุคไม่ไปปฏิบัติธรรม มัวแต่ยุ่งกับการศึกษาเรื่องโลกอยู่ได้ ไม่เห็นจะได้ประโยชน์แต่อย่างใด”

ผมจึงเขียนบทความขึ้นเพื่อตอบว่า “การเรียนรู้โลก หรือระบบโลก คือการเรียนรู้ธรรม” เพราะระบบโลกก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เข้าใจโลกก็เข้าใจธรรม

คำว่า ธรรมชาติ ไม่ได้หมายถึงเรื่องราวของต้นไม้ ภูเขา จักรวาลที่อยู่นอกตัวมนุษย์เท่านั้น ธรรมชาติยังกินความถึงสังคมมนุษย์และตัวมนุษย์ รวมทั้งจิตใจของมนุษย์ด้วย

ศึกษาเรื่องอะไร ก็เข้าถึงธรรมทั้งนั้น

ในเวลาเดียวกัน เราต้องเข้าใจว่า ‘ธรรม’ นั้นไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง มีกฎตายตัว สภาวธรรมของแต่ละสิ่งเปลี่ยนแปรไปทุกวัน หรือพูดง่ายๆ ว่า ทุกขังและพลิกผันไปตลอดเวลา เรียกว่า ‘อนิจจัง’

เมื่อธรรมชาติไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนไป การเข้าใจธรรมหรือการอธิบายธรรมก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเวลาที่เปลี่ยนไป

เมื่อเข้าใจสภาวธรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมหรือสอนธรรมให้สอดคล้องกับช่วงเวลาแต่ละช่วงได้

การรู้ธรรมแบบนามธรรมก็สามารถอธิบายธรรมได้แบบนามธรรมเท่านั้น มีประโยชน์บ้างแต่ก็น้อยนัก

เช่นเราบอกว่า อะไรคือ อนิจจัง อะไรคือ อนัตตา อะไรคือ ทุกขัง แล้วก็มุ่งคิดหลอกตัวเองว่า ‘ทั้งหมด’ ไม่มีอะไรน่ายึดถือ ไม่มีอะไรน่าหลงใหล หรือล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น

แล้วก็หนีเข้าป่า ไม่ต้องทำอะไร เพราะทุกสิ่งในโลกล้วนเลวร้าย เป็นโลกแห่งโลกียะ อยู่ในโลกแห่งโลกุตระดีกว่า

นี่คือการคิดอย่างแยกส่วนแบบหนึ่ง ไม่เข้าใจว่า “ธรรมนั้นก็คือ ธรรมชาติ” แยกเป็น 2โลกไม่ได้

ผู้ศึกษาธรรมจึงหลีกหนีไม่พ้นที่ต้องศึกษาให้เข้าใจโลกแห่งธรรมชาติที่เป็นจริงและเปลี่ยนผันไปทุกวัน ว่าเป็นอย่างไร และจะใช้ธรรมข้อใดอธิบายเรื่องราวที่เปลี่ยนไป

ส่วนผลงานชิ้นนี้ ผมต้องการเสนอแนวคิดว่าด้วยเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” ว่าไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ แต่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก

อัตตา (หรือตัวกูของกู) นั้นมีหลายรูปหลายแบบมากๆ และก่อตัวขึ้นทุกเวลา แม้เราจะเข้าใจว่า อะไรคือ อัตตา และ อนัตตา แล้วก็ตาม เราก็ยังติดหลงอยู่ในโลกของอัตตาได้

อย่างเช่น บางคนที่ติดหลงนิพพาน ก็หลงคิดว่า นิพพานคือความสูงสุด ชีวิตนี้จึงมุ่งแต่นิพพานเท่านั้น ไม่ทำสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น

บางคนติดหลงความสุขสงบ ก็หลีกหนีชีวิตโลกโลกียะ ไปอยู่ในโลกสงบๆ และไม่ขอเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรทั้งนั้น คิดว่า “ความสงบ ความว่าง คือ ความสูงสุด”

นี่คืออัตตาในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน แม้จะถือว่าเป็น ‘อัตตาที่ดี’ ก็ตาม ก็ยังมุ่งการบรรลุธรรมที่ติดยึดแค่ตัวเองเท่านั้น

ปัจจุบัน คนทั่วโลกเริ่มหันกลับมาเรียนรู้ภูมิปัญญาตะวันออก อย่างเช่น พุทธ กับ เต๋า กันมากขึ้น และพยายามทำความเข้าใจกับแนวคิดแบบนี้

แต่ไม่ได้หมายความว่า “จะง่ายๆ”

วันหนึ่งมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาศึกษางานเขียนของ Ken Wilber และกำลังจะเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องนี้

เพื่อนคนนี้ถามผม

“คุณคิดอย่างไรกับแนวคิดของ Ken”

ผมตอบเขาว่า

“แนวคิดเขาน่าสนใจมาก แต่เขายังติดเรื่องขั้นตอนการวิวัฒน์แบบสูงๆ และต่ำๆ อยู่ มีสูงสุด และมีต่ำสุดอยู่”

ผมอธิบายว่า

“ธรรมชาติไม่มี อะไร สูงสุดหรือต่ำสุด ไม่ว่าอะไรล้วนมีค่าด้วยกันทั้งนั้น”

ผมพูดต่อ

การบรรลุธรรมก็ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นผู้สูงสุด หรือถ้าพูดแบบเต๋า เมื่อถึงความสูงสุด ความสูงสุดก็จะกลับคืนสู่ความเป็นสามัญ

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า

ระหว่าง พระโพธิสัตว์กวนอิมผู้มีเมตตายิ่งกับพระพุทธเจ้าผู้ทรงปัญญาเป็นเลิศ จะบอกได้ไหมว่า “ใครเล่าสูงค่ากว่ากัน”

เพื่อนผมยอมรับว่า

“ตอบไม่ได้”

ผมจึงย้ำกับเขาว่า “ความเชื่อเรื่องความสูงสุด คือความเชื่อโบราณที่หลอกหลอนผู้คน ทำให้ผู้คนหลงติดในอัตตาอีกแบบหนึ่ง”

ธรรม คือความเป็นธรรมดา

ผมมักจะเปรียบคนที่ติดยึดอัตตา ว่าคือ ‘คนตาดีที่ตาบอด’ เพราะเขามองเห็นแค่ตัวเขา เรื่องของเขา ความฝันของเขา เงินทองและอำนาจของเขา หรือสิ่งที่เขาสนใจเท่านั้น ดังนั้นโลกที่เขามองเห็นคือ ‘โลกแคบๆ’ ที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลางเท่านั้นเอง

โลกนั้นกว้าง แต่ ใจของเขากลับคับแคบยิ่ง

ทางเดินชีวิตก็แคบยิ่ง เพราะสนใจอยู่กับเรื่องๆ เดียว มุ่งมั่นต่อสิ่งเดียว

โลกนั้นกว้างไกล และทางเดินก็หลากหลาย แต่กลับมองไม่เห็น


‘อัตตา’ จึงเปรียบเสมือนกรงที่ขังวิญญาณผู้คนไว้ในโลกแคบๆ ที่มีเพียงตัวเขา ลูกเขา ครอบครัวเขาเท่านั้นเป็นศูนย์กลาง

ยากที่จะปลดปล่อยได้เพราะเขาหลงคิดว่า นี่คือตัวตนแห่งความเป็นอย่างที่เขาเป็นอยู่ ช่วยส่งเสริมและทำให้เขายิ่งใหญ่

ผู้ที่มีอัตตาสูงมาก เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะการสิ้นไปสูญไป ก็จะยิ่งทุกข์มากเท่านั้น

เราจะชนะทุกข์ ได้ จำต้องชนะ ‘ใจ’ ตัวเองก่อน

                                                         จนกว่าจะพบกันอีก

                                                                ยุค ศรีอาริยะ

กำลังโหลดความคิดเห็น