xs
xsm
sm
md
lg

กก.สมานฉันท์จุดไฟการเมือง ให้โละกกต.-ป.ป.ช.-ยกเลิกโทษยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (3มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม พิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง 4 ข้อ
นายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่าการปฏิรูปประเด็นแรก คือโครงสร้างทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจตามรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น
ก) องค์กรตามรัฐธรรมนูญได้แก่ ประเด็นการได้มา คณะอนุกรรมการฯ เสนอให้เพิ่มตัวแทนภาคประชาชนอย่างน้อย 2 คน เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหา เพราะปัจจุบัน กรรมการสรรหาส่วนใหญ่อยู่วงการผู้หลักผู้ใหญ่ และต้องมีกลไกตรวจสอบกรรมการสรรหาได้
นอกจากนี้ ยังเสนอว่า กกต. ,ป.ป.ช., คตง. ควรยุติบทบททันที เพราะเป็นการแต่งตั้งของ คมช. ไม่ได้มีการโปรดเกล้าฯ ส่วนเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสรรหา เกณฑ์ปัจจุบันไม่ได้เปิดกว้างขวางให้คนมีคุณสมบัติสมัครได้ จึงเสนอให้ กำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการสรรหาเปิดกว้างขวางขึ้น เพื่อเปิดให้เอกชนหรือ บุคคลทั่วไปที่มีผลงานซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่แค่ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ อธิบดีเท่านั้น นอกจากนี้ ให้องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ เช่น ที่ประชุมอธิการบดี เสนอชื่อได้ นอกจากนี้ วุฒิสภาหากไม่เห็นชอบ ให้สรรหาใหม่เลย แทนที่จะให้คณะกรรมการสรรหายืนยัน
นายประเสริฐ กล่าวว่า กรณีอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ เช่น ระเบียบหาเสียงของ กกต.ที่ห้ามผู้สมัครไปงานต่างๆ แล้วให้เงินช่วยเหลือตามประเพณี ทำยากในทางปฏิบัติ เพราะรู้กันทั่วไปว่า มีการแอบใส่ซอง จึงเสนอว่า ให้แก้ไขระเบียบให้คำนึงตามประเพณีของสังคมด้วย ส่วนอำนาจการตัดสินใบแดงใบเหลือง ควรต้องตรวจสอบได้ เพราะการวินิจฉัยของ กกต. ใช้ลักษณะดุลพินิจ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจจากประชาชน และยังมีปัญหา สวมสิทธิ์ หีบบัตรหาย
นอกจากนี้ การตรวจพบการทุจริตเลือกตั้งให้ยื่นให้ศาลเลือกตั้งวินิจฉัย และให้บุคคลนั้นทำหน้าที่ได้ตามปกติ จนกว่าศาลจะตัดสิน นอกจากนี้ ต้องเพิ่มให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดเลือกตั้งและตรวจสอบกกต.ได้
ข) พรรคการเมืองและนักการเมือง หลักการคือ นักการเมืองและพรรคต้องเข้มแข็ง ปัญหาที่ปรากฏคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพรรค ยังไม่ชัดเจน อาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เช่น บริจาคโดยหักจากภาษี การลดหย่อยภาษีให้ผู้บริจาคให้พรรค เพื่อให้รู้สึกเป็นเจ้าของ
ส่วนการยุบพรรคและตัดสิทธิ์หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค อนุ กรรมการฯ เห็นว่า การยุบพรรคทำให้เกิดความอ่อนแอในการพัฒนาไปเป็นสถาบันการเมือง จึงเสนอว่า ไม่ควรยุบพรรค ส่วนจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องศึกษาว่า อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมฯเห็นว่า ยังควรคงโทษผู้ทำผิดอยู่ มองได้ 2 ทาง คือ ลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำผิด และผู้สนับสนุน กับลงโทษทั้งหมดตามที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนด นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองโดยซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อสังคม เพราะที่ผ่านมามีปัยหาการเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์
ส่วนเรื่องการต้องสังกัดพรรค มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม สำหรับเรื่องกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ควรเอาเงินส่วนนี้สนับสนุนให้ผู้สมัครหรือพรรคที่ไม่มีเงินแต่มีความเหมาะสม ลงสมัครได้ นอกจากนี้ แรงจูงใจในการให้คนดีเข้ามาสู่การเมือง เสนอให้ ปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ ให้ดำรงชีพอยู่ได้ เหมาะสมตามสถานภาพ โดยไม่ต้องไปประกอบอาชีพ หรือแสวงหาผลประโยชน์ทางอื่น รวมถึงผู้ที่พ้นวาระ ส.ส. ส.ว. โดยไม่มีมลทิน
จากนั้นเป็นการอภิปราย โดย พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ กกต. , ป.ป.ช.หมดสภาพทันที โดยอ้างว่า มาจาก คมช. เพราะรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลได้รับรองทั้งสององค์กรไว้แล้ว ส่วน คตง. ผู้ว่าการ สตง. บทเฉพาะกาลกำหนดให้สรรหาใหม่ใน 120 วัน หลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่ที่ผ่านมาวุฒิสภาเห็นว่า ต้องรอมี พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ก่อน แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า ให้ดำเนินการได้เพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับ ในที่สุดก็มีการสรรหาและวุฒิสภาได้เห็นชอบไปแล้ว ดังนั้นกรณี คตง.ขณะนี้วุฒิสภา ก็ทำเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการสรรหา คตง.แล้ว
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กรรมการสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อกำหนดในการหาเสียงปัจจุบันมาถูกทางแล้ว ถ้าจะแจกซองตามงาน ก็ต้องรายงานค่าใช้จ่าย โดยมีเพดานการใช้จ่าย เพื่อไม่ให้มีการทุ่มเงินในการเอาชนะ ญี่ปุ่นยังห้ามแจกซอง และวันนี้ประชาชนเริ่มยอมรับมาตรการนี้แล้ว ไม่ควรย้อนกลับ ส่วนการพัฒนาพรรคการเมือง และนักการเมือง ต้องทำให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค ไม่ใช่ อยู่ๆดี เห็นคนมีชื่อเสียงก็เอามาเป็นรองหัวหน้าพรรคเลย นี่คือแนวทางการเมืองใหม่
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องปฏิรูปการกระจายอำนาจ และปรับปรุงส่วนท้องถิ่นให้มีประชาธิปไตย การตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นในส่วนท้องถิ่น การปกป้องทรัพยากรส่วนท้องถิ่น ตนเสนอให้เพิ่ม
ค) ระบบในการบริหารราชการแผ่นดิน และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีประเด็นย่อยเรื่อง ธรรมาภิบาล ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของราชการ และระบบตรวจสอบเลือกตั้งท้องถิ่น
นายคณิน บุญสุวรรณ กรรมการสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ศาลเข้ามาในด้านการเมืองมากไป เพราะนอกจากจะมีอำนาจตามหน้าที่ของตนเองแล้ว ยังมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ทั้ง กกต. , ป.ป.ช., คตง. ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าเป็นบิ๊กโฟร์ และศาลยังมีอำนาจเสนอกฎหมาย กลายเป็นศาลมีอำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ จึงเสนอว่า เพิ่ม
ง) ปัญหาโครงสร้างทางอำนาจ และการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
หลังจากที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้เพิ่มกรอบที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ทั้งด้านที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาพรรคการเมือง ปัญหาโครงสร้างทางอำนาจ และการแบ่งแยกโครงสร้างอำนาจประชาธิปไตยทางรัฐธรรมนูญ ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง และที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาขององค์กรรัฐธรรมนูญ ที่อนุกรรมการเสนอ และเพิ่มข้อความให้ชัดเจน ให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งก่อนการเลือกตั้ง และหลังวันการเลือกตั้ง โดยที่ประชุมไม่มีใครคัดค้านข้อเสนอที่ให้มีการสรรหา กกต.และ ป.ป.ช. ชุดใหม่ ขณะที่ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาพรรคการเมือง และนักการเมือง คณะกรรมการสมานฉันท์ มีมติให้ยกเลิกโทษยุบพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดให้ได้รับโทษเฉพาะตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น