xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กมติชน-ทีวีไทย อัด “ASTVผู้จัดการ” สื่อการเมือง-เลือกข้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงเสวนาของสมาคมนักข่าว-กมธ.สิทธิฯ เดือด รุมจวกสื่อกลายเป็นเครื่องมือการเมือง สร้างความแตกแยก ด้าน 2 นักข่าวค่ายยักษ์ใหญ่ เปิดวิวาทะกลางวงเสวนาถึงการเสนอข่าวของเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการ แถมถูกกล่าวหากลางวงเป็นสื่อการเมือง-เลือกข้าง “เทพชัย ผอ.ทีวีไทย” ระบุเชื่อสื่อฝักใฝ่การเมืองจะเสื่อมศรัทธาเอง

วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท ได้จัดสัมมนาเรื่อง “สื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต : บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ว่าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การเมืองอยู่ในภาวะของการแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์ของคนสองฝ่าย โดยได้อ้างอิงการต่อสู้ของภาคประชาชนเป็นฐาน กลายเป็นสงครามการเมืองที่สู้กันไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่สื่อตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะวิทยุชุมชนบางส่วนได้ทำการปลุกระดมจนสังคมเกิดความแตกแยก ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อจะทำหน้าที่จุดปัญญาให้สังคม หรือจุดไฟแตกแยกให้มากขึ้น ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การจลาจลหรือก่อการร้ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้น นอกจากนี้ สื่อยังต้องเผชิญกับพลังของทุนนิยมกดดันทำให้สื่อต้องกลายเป็นกระบอกเสียงของนักธุรกิจหรือนักธุรกิจการเมือง

“เงื่อนไขเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้สื่อต้องเลือกข้าง ต้องทำการปลุกระดมตอกย้ำความรุนแรง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอยู่ที่รัฐจะจัดการอย่างไรกับสื่อลักษณะนี้ แต่ยืนยันว่าการใช้กฎหมายหรืออำนาจจัดการจะเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด” นพ.นิรันดร์ กล่าว

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของแต่ละสังคมย่อมมาจากรากฐานของชาติที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างในเยอรมนี หากมีการพูดว่าการไม่เชื่อว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเกิดขึ้นจริง หรือถ้าเกิดจริงก็เป็นการจัดฉากของสหรัฐฯ ผู้พูดจะถูกจับทันที เพราะเยอรมนีสร้างชาติมาจากการปฏิเสธอำนาจของนาซี ขณะที่สหรัฐฯ สร้างประเทศจากการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ของอังกฤษ ดังนั้น คนสหรัฐฯ จะวิจารณ์กษัตริย์ได้ทั่วโลก ปัญหาสิทธิเสรีภาพในเมืองไทยมาจากการที่มีปัญญาชนที่ไปเรียนจากเยอรมนี และสหรัฐฯ ได้รับอิทธิพลในเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่เหมือนกันจึงเกิดความขัดแย้งกัน

นอกจากนี้ ในเยอรมนีสื่อยังไม่สามารถนำเสนอข่าวของบุคคลที่ยุยงให้อีกฝ่ายถูกเกลียดชังหรือถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรี เปรียบอีกฝ่ายเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นแมลง เชื้อโรคต่อสาธารณะได้ แต่สื่อเมืองไทยนั้นยังไม่มีการกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพดังกล่าว เนื่องจากสื่อไทยยังมองว่าการทำสื่อ คือ การจำหน่ายสินค้า เปรียบคนที่ซื้อข่าวเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยเป้าหมายอยู่ที่เรตติ้งมากกว่าคุณธรรม ดังนั้น สื่อไทยจึงเลือกที่จะนำเสนอข่าวที่ตื่นเต้น หวือหวา โดยไม่คิดว่าตัวเองเป็นสะพานข้ามไปสู่การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตขอเรียกร้องให้สื่อเปิดเวทีถกเถียงบนหลักการและเหตุผล โดยทำให้น่าสนใจกว่าฟังการถกเถียงกันบนท้องถนน

นางพิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อในเมืองไทยสามารถแบ่งแยกได้เป็น 5 ประเภท คือ 1.สื่อการเมือง เช่น เอเอสทีวี ดีสเตชั่น 2.สื่อเชิงธุรกิจ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่แอบการเมืองด้วย 3.สื่อสาธารณะ เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี 4.สื่อชุมชน เช่น วิทยุชุมชน และ 5.สื่อภาคพลเมือง ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ เช่น บล็อกเกอร์ต่างๆ โดยในภาวะวิกฤตเช่นนี้การนำเสนอของสื่อต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้เหตุผล และการวิเคราะห์มากขึ้น

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเสนอข่าวของสื่อจะถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมและความเชื่อ อย่างสื่อไทยก็จะถูกสอนว่าอย่าไปแตะ หรือวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่อง บางองค์กร นอกจากนี้ ยอมรับว่าทุนเป็นปัจจัยสำคัญของสื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ 100 เปอร์เซ็นต์ โฆษณาจากหน่วยงานภาครัฐถือเป็นรายได้หลัก เพราะถ้าไม่มีตรงนี้พนักงานก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ติดใจในเรื่องศักยภาพของนักข่าว โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งตนอยากตั้งข้อสังเกตอย่างกรณีการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯที่หยิบประเด็นว่าคนที่ล้มละลายจะสามารถเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองได้หรือไม่ โดยเสนอเป็นประเด็นใหญ่ ทั้งที่สามารถไปดูในข้อกฎหมายได้ก็เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของผู้ว่าการ คตง.หมดอายุไปแล้วถึง 2 ปี แต่ปรากฏว่าวุฒิสภามีหน้าที่สรรหาผู้ว่า การ คตง.คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน กลับไม่ดำเนินการอะไรเลย ทั้งประธานวุฒิฯ และ ส.ว.ที่เป็นนักกฎหมายเกือบทั้งสภา กลับนั่งใบ้ โดยเฉพาะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.ตรวจสอบทุกเรื่อง แต่ทำไมไม่ตรวจเรื่องของ คตง.บ้าง และนักข่าวก็ไม่ถาม

ด้าน นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย กล่าวว่า การที่สื่อไปงานวันเกิดนักการเมือง ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าภูมิหลังเขาเป็นเช่นไร สื่อก็ยังเสนอข่าวและให้ความสำคัญเขาอีก สำหรับประเด็นสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนนั้น แต่ทำไมเราถึงไปมองสื่อเลือกข้าง อย่าง เอเอสทีวี หรือ ดีทีวี แต่สื่อที่เป็นแมส อยู่ตรงกลางหายไปไหน ปล่อยให้สื่อ 2 ขั้วเป็นคนกำกับความรู้สึกของประชาชน ซึ่งถือว่าสูงมาก และการถกเถียงเรื่องการเมืองแทนที่จะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่กลับไปปรากฏในหน้าเว็บไซต์เอง ตนมองว่าถ้าสื่อหันมามองตัวเอง ก็จะหาทางออกได้โดยการมีส่วนร่วม โดยมีการถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลนั่นจะเป็นทางออกได้

“ส่วนสื่อที่เลือกข้างจะอันตรายมาก เพราะประชาชนจะไม่ฟังสื่อที่พูดจาไพเราะ เพราะมันไม่เหมือนสื่อที่พูดจาหยาบคาย ซึ่งในอนาคตข้างหน้าสื่อเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย และมีสื่อบางสื่อคอยเป็นสื่อเลือกข้างอยู่กับพรรคการเมือง ทั้งนี้ ไม่กังวลเลยที่กลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง และไม่น่าจะมีปัญหาที่มีสื่อคอยอยู่ข้าง เพราะอีกหน่อยสื่อเหล่านี้ก็จะหมดศรัทธาจากประชาชน” ผอ.ทีวีไทย ระบุ

นายเรืองไกรกล่าวว่า ขอตั้งคำถามถึงคนทำสื่อว่าให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคข่าวหรือไม่ ตนรู้สึกแปลกใจที่พิธีกร ที่มานั่งเล่าข่าวมีรายได้สูงมาก สามารถคืนบริษัทถึง 100 ล้านบาท ถามว่าแค่เล่าข่าวจะมีรายได้ขนาดนั้นได้หรือ เป็นการเอาเปรียบสื่ออื่น ตนไม่ทราบว่าสื่อจะกล้าตรวจสอบกันเองหรือไม่ นอกจากนี้ ตนกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบสื่อที่รับบริจาคและทำมูลนิธิ อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ตรวจสอบว่าสื่อเหล่านี้มีรายได้เกินจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายของการสัมมนาบรรยากาศดุเดือดขึ้น เมื่อนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น สอบถามนายประสงค์ถึงข่าวการปลดนายเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างกลุ่มสีแดง เป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายประสงค์ยืนยันว่า ไม่มีการปลดตำแหน่งดังกล่าว แต่นายประวิตรถามต่อว่า เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่ามีการปลด แต่นายประสงค์ถามกลับว่า คุณเชื่อถือเว็บไซต์ดังกล่าวหรือ ซึ่งนายประวิตรพยายามจะถามเอาความจริงให้ได้ แต่นายประสงค์กลับไม่ตอบ แต่ถามกลับไปว่ามีเจตนาอะไรที่มาถามเช่นนี้ มติชนถูกด่าหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยแก้ข่าว เพราะเราให้ประชาชนตัดสินว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน







กำลังโหลดความคิดเห็น