xs
xsm
sm
md
lg

เรืองไกรเล็งบี้พิธีกรเล่าข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัมมนาสื่อกับความมั่นคง "สาทิตย์" ครวญบ้านเมืองแตกแยกทำงานด้านสื่อลำบาก "บิ๊กบัง" ติงสื่อขาดอุดมการณ์รักชาติ เรียกร้องให้เป็นกลาง "เจิมศักดิ์" เฉ่งชอบสร้างข่าวเอง ละเลยข่าวสืบสวน ด้านอีกวงเสวนาระบุทุนนิยมต้นเหตุสื่อเอียง เน้นเรตติ้งมากกว่าคุณธรรม ค่ายมติชนรับทุนคือปัจจัยสำคัญสื่อยุคนี้โดยเฉพาะค่าโฆษณาที่ส่วนใหญ่ได้มาจากภาครัฐ "เรืองไกร" เล็งตรวจสอบรายได้พิธีกรเล่าข่าว ขณะที่ 2 บิ๊กค่ายยักษ์วิวาทะกันเลอะ กรณีมติชนปลด "เสถียร จันทิมาธร"
ที่กรมประชาสัมพันธ์ วานนี้ (28 พ.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเสวนาสื่อมวลชนเพื่อความมั่นคง โดยนายสาทิตย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า 5-6 เดือนที่ผ่านมา ทำงานด้านสื่อยากลำบาก เพราะความคิดเห็นในสังคมไม่ตรงกัน ความต้องการรับรู้ข่าวสารสูงมาก ดังนั้น บทบาทสื่อควรจะนำความเป็นคนไทยที่แท้จริงกลับคืนมา โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ไปตามที่รัฐบาลต้องการ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ต้องการให้สื่อ มีความเป็นอิสระ มีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ เสนอข่าวในทางที่สร้างสรรค์ ส่วนรัฐเองก็ต้องปรับบทบาทเช่นเดียวกัน ในวันเสาร์ที่ 30 พ.ค. จะมีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อว่าควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร
ขณะที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. และ กล่าวตอนหนึ่ง ในการ เสวนาเรื่อง สื่ออย่างไรสร้างสรรค์ สมานฉันท์ของคนในชาติว่า สื่อมีบทบาทสำคัญนำพาบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า เปรียบเหมือนคนมองกระจก เมื่อได้รับข้อมูลที่ดี ก็มองเห็นนางฟ้า ถ้าให้ข้อมูลแง่ร้ายก็มองเห็นแม่มด สื่อต้องสร้างแรงจูงใจให้มีความรักสามัคคี ถ้าสื่อขาดอุดมการณ์รักชาติ จะมีความเบี่ยงเบนในการนำเสนอข้อมูลข่าว
ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องมีจรรยาบรรณ ความเป็นกลาง และ จริยธรรม จากปัญหาความขัดแย้งจะทำอย่างไรให้รากแก้วซึ่งเป็นปลายทางเข้าใจในข้อเท็จจริง ที่สื่อสารจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่การสมานฉันท์ สภาการหนังสือพิมพ์ณ ต้องกำกับสื่อให้มีจริยธรรม เสรีภาพของสื่อไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ได้ ประชาธิปไตย มีกรอบไม่ใช่เดินไปในทิศทางใดก็ได้ ประเทศมหาอำนาจ มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุมวินัยประชาธิปไตย มิเช่นนั้นบ้านเมืองจะสับสน ล้มลุกคลุกคลาน
พล.อ.สนธิ เชื่อว่าสื่อไม่ได้เป็นตัวสร้างความข้ดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม แต่สื่อสามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้ โดยการทำสื่อสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเผด็จการ แค่สร้างวินัยให้คนในชาติก็เพียงพอแล้ว
ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า สมานฉันท์ ไม่ใช่อาหารจานด่วน การละเว้นกลบเกลื่อนไม่พูดความจริงไม่ใช่สมานฉันท์ เป็นเพียงการเก็บเรื่องเพื่อให้คนลืมด้วยการไม่พูดถึง การไม่จัดการกับสิ่งผิดไม่ใช่การสมานฉันท์ระยะยาว คณะกรรมการในสภาฯยังพูดเท็จ สมานฉันท์กันไม่ได้ แล้วคนข้างนอกจะสมานฉันท์กันได้อย่างไร
ทั้งนี้สื่อต้องเลือกว่าจะผสมบทบาทความเป็นกระจกกับตะเกียงอย่างไร สะท้อนความจริงโดยแยกให้ชัดจากความคิดเห็นที่หลากหลาย สื่อในเมืองไทย ไม่ทำหน้าที่เชิงสืบสวนสอบสวน บางครั้งสื่อก็สร้างประเด็นข่าวเสียเอง โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะสื่อถูกอิทธิพลจากทุนและผู้มีอำนาจทางการ เมือง เมืองไทยเผชิญปัญหาหนักเพราะเล่นพรรคเล่นพวก มองประโยชน์ของตนเอง ก่อนผลประโยชน์ชาติ ดังนั้นสื่อควรมีบทบาทในการรณรงค์เพื่อให้เกิดความรักชาติ ซึ่งสามารถทำได้เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้สังคมตะหนักถึงพิษภัยของบุหรี่

ชี้ทุนนิยมต้นตอทำสื่อเลือกข้าง
วันเดียวกันคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้จัดสัมมนาเรื่อง สื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต : บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ
น..นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ว่าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การเมืองอยู่ในภาวะของการแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์ของคนสองฝ่าย โดยได้อ้างอิงการต่อสู้ของภาคประชาชนเป็นฐาน กลายเป็นสงครามการเมืองที่สู้กันไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่สื่อตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะวิทยุชุมชนบางส่วน ได้ทำการปลุกระดมจนสังคมเกิดความแตกแยก ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้สื่อจะทำหน้าที่จุดปัญญาให้สังคมหรือจุดไฟแตกแยกให้มากขึ้น ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การจลาจลหรือก่อการร้ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้น นอกจากนี้สื่อยังต้องเผชิญกับพลังของทุนนิยมกดดันทำให้สื่อต้องกลายเป็นกระบอกเสียงของนักธุรกิจหรือนักธุรกิจการเมือง
เงื่อนไขเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้สื่อต้องเลือกข้าง ต้องทำการปลุกระดมตอกย้ำความรุนแรง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอยู่ที่รัฐจะจัดการอย่างไรกับสื่อลักษณะนี้แต่ยืนยันว่าการใช้กฎหมายหรืออำนาจจัดการจะเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด

เฉ่งสื่อเน้นเรตติ้งมากกว่าคุณธรรม
นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในเยอรมนีสื่อไม่สามารถนำเสนอข่าวของบุคคลที่ยุยง ให้อีกฝ่ายถูกเกลียดชังหรือถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีได้ แต่สื่อเมืองไทยนั้นยังไม่มีการกำหนด ขอบเขตการใช้เสรีภาพดังกล่าว เนื่องจากสื่อไทยยังมองว่า การทำสื่อคือ การจำหน่าย สินค้า เปรียบคนที่ซื้อข่าวเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยเป้าหมายอยู่ที่เรตติ้ง มากกว่าคุณธรรม ดังนั้นสื่อไทยจึงเลือกที่จะนำเสนอข่าว ที่ตื่นเต้น หวือหวา โดยไม่คิดว่าตัวเองเป็นสะพานข้ามไปสู่การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตขอเรียกร้องให้สื่อเปิดเวทีถกเถียงบนหลักการและเหตุผล โดยทำให้ให้น่าสนใจกว่าฟังการถกเถียงกันบนท้องถนน
นางพิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อในเมืองไทยสามารถแบ่งแยกได้เป็น 5 ประเภท คือ 1.สื่อการเมือง เช่น เอเอสทีวี ดีสเตชั่น 2.สื่อเชิงธุรกิจ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่แอบการเมืองด้วย 3.สื่อสาธารณะ เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี 4.สื่อชุมชน เช่น วิทยุชุมชน และ 5.สื่อภาคพลเมือง ซึ่งปรากฎในเวปไซต์เช่น บล็อกเกอร์ต่างๆ โดยในภาวะวิกฤตเช่นนี้การนำเสนอของสื่อต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้เหตุผล และการวิเคราะห์มากขึ้น

มติชนรับทุนคือปัจจัยสำคัญของสื่อ
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จากค่ายมติชน กล่าวว่า การเสนอข่าวของสื่อจะถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมและความเชื่อ อย่างสื่อไทย ก็จะถูกสอนว่าอย่าไปแตะหรือวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่อง บางองค์กร นอกจากนี้ยอมรับว่า ทุนเป็นปัจจัยสำคัญของสื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ 100% โฆษณาจากหน่วยงานภาครัฐถือเป็นรายได้หลัก เพราะถ้าไม่มีตรงนี้พนักงานก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ติดใจในเรื่องศักภาพของนักข่าว โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งตนอยากตั้งข้อสังเกตอย่างกรณีการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯที่ หยิบประเด็นว่า คนที่ล้มละลายจะสามารถเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองได้หรือไม่ โดยเสนอเป็นประเด็นใหญ่ ทั้งที่สามารถไปดูในข้อกฎหมายได้ก็เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ คตง.หมดอายุไปแล้วถึง 2 ปีแต่ปรากฏว่าวุฒิสภา มีหน้าที่สรรหาผู้ว่า คตง.คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน กลับไม่ดำเนินการอะไรเลย ทั้งประธานวุฒิและส.ว.ที่เป็นนักกฎหมายเกือบทั้งสภา กลับนั่งไบ้ โดยเฉพาะนาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.ตรวจสอบทุกเรื่อง แต่ทำไมไม่ตรวจเรื่องของ คตง.บ้าง และนักข่าวก็ไม่ถาม

หย่องชื่นชมสื่อตัวเองที่อยู่ตรงกลาง
ด้านเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย กล่าวว่า การที่สื่อไปงานวันเกิดนักการเมือง ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าภูมิหลังเขาเป็นเช่นไร สื่อก็ยังเสนอข่าวและให้ความสำคัญเขาอีก สำหรับประเด็นสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนนั้น แต่ทำไมเราถึงไปมองสื่อเลือกข้าง อย่าง เอเอสทีวี หรือ ดีทีวี แต่สื่อที่เป็นแมส อยู่ตรงกลางหายไปไหน ปล่อยให้สื่อ 2 ขั้วเป็นคนกำกับความรู้สึกของประชาชน ซึ่งถือว่าสูงมาก และการถกเถียงเรื่องการเมืองแทนที่จะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่กลับไปปรากฏในหน้าเว็ปไซต์เอง ตนมองว่าถ้าสื่อหันมามองตัวเอง ก็จะหาทางออกได้โดยการมีส่วนร่วม โดยมีการถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลนั่นจะเป็นทางออกได้
ส่วนสื่อที่เลือกข้างจะอันตรายมาก เพราะประชาชนจะไม่ฟังสื่อที่พูดจาไพเราะ เพราะมันไม่เหมือนสื่อที่พูดจาหยาบคาย ซึ่งในอนาคตข้างหน้าสื่อเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย และมีสื่อบางสื่อคอยเป็นสื่อเลือกข้างอยู่กับพรรคการเมือง ทั้งนี้ตนไม่กังวลเลยที่กลุ่มพันธมิตรฯตั้งพรรคการเมือง และไม่น่าจะมีปัญหาที่มีสื่อคอยอยู่ข้าง เพราะอีกหน่อยสื่อเหล่านี้ก็จะหมดศรัทธาจากประชาชน

เรื่องไกรจองกฐินฟันพิธีกรเล่าข่าว
นายเรืองไกร กล่าวว่า ขอตั้งคำถามถึงคนทำสื่อว่าให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคข่าวหรือไม่ ตนรู้สึกแปลกใจที่พิธีกร ที่มานั่งเล่าข่าวมีรายได้สูงมาก สามารถคืนบริษัทถึง 100 ล้าน ถามว่าแค่เล่าข่าวจะมีรายได้ขนาดนั้นได้หรือ เป็นการเอาเปรียบสื่ออื่น ตนไม่ทราบว่าสื่อจะกล้าตรวจสอบกันเองหรือไม่ นอกจากนี้ตนกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบสื่อที่รับบริจาคและทำมูลนิธิ อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการสิทธิมุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ตรวจสอบว่าสื่อเหล่านี้มีรายได้เกินจริงหรือไม่

ประสงค์เลี่ยงตอบเหตุปลดเสถียร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายของการสัมมนาบรรยากาศดุเดือดขึ้นเมื่อนาย ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น สอบถามนายประสงค์ ถึงข่าวการปลด นายเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการนิตยสารมติชน สุดสัปดาห์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างกลุ่มสีแดง เป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายประสงค์ ยืนยันว่าไม่มีการปลดตำแหน่งดังกล่าว แต่นาย ประวิตร ถามต่อว่า เว็ปไซต์ผู้จัดการรายงานว่ามีการปลด แต่นาย ประสงค์ ถามกลับว่า คุณเชื่อถือเวปไซต์ดังกล่าวหรือ นายประวิตร พยายามจะถามเอาความจริงให้ได้ แต่นาย ประสงค์ กลับไม่ตอบ แต่ถามกลับไปว่ามีเจตนาอะไรที่มาถามเช่นนี้ มติชนถูกด่าหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยแก้ข่าว เพราะเราให้ประชาชนตัดสินว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น