วันที่ 28 พ.ค. ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (The Friedrich Ebert Stiftung)จัดสัมมนาเรื่อง “สื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต : บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ” โดยมีนักวิชาการ สื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างหนาตา โดยผู้ร่วมสัมมนาบางส่วนได้กล่าวพาดพิงถึงการทำหน้าที่สื่อของ “เอเอสทีวี-ผู้จัดการ” จึงขอนำคำอภิปรายดังกล่าวมานำเสนอแบบเต็มๆ ดังนี้
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ บรรณาธิการในเครือมติชน ในฐานะนายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
“...สิ่งที่อยากจะโยนประเด็น อยากทบทวนให้ชัดเจนว่าเรามีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง อันแรกคือเรื่องโครงสร้าง โครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญ บางคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ โครงสร้างหลักขณะนี้ถ้าพูดถึงทีวี วิทยุ ก็เป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ไทยพีบีเอสนี่ของรัฐนะครับ เพียงแต่อีกรูปแบบหนึ่ง ที่คิดว่าน่าจะเป็นอิสระได้ เพราะว่าเอาเงินของเราไปตั้งปีละ 1,700 ล้าน โดยประมาณ ก็เป็นของรัฐแบบหนึ่ง ที่อื่นเป็นของรัฐแบบของฝ่ายบริหาร ที่รัฐควบคุมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะทำ แต่เผอิญก็ถูกเซ็งลี้ไปหมด ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรที่จะ ตรงนี้ผมก็เคยถามนายกรัฐมนตรีว่าจะเอายังไง ของทหาร 200 ของกรมประชาฯ 100 กว่า ของ อสมท 60-70 รวมแล้ว 500 กว่าสถานี แล้วอีก 5-6 ช่อง จะเอายังไง กองทัพก็มี 2 ช่อง จริงหรือเปล่า อสมท ก็มี 2 ช่อง จริงหรือเปล่า กสช.ที่เกิดขึ้นจะกล้าสู้พวกนี้ไหม ถ้ารัฐบาลมีนโยบายว่ากระจายพวกนี้ให้หมด คุณไม่มีปัญญา ไม่ต้องไปเซ็งลี้ คุณจะจ่ายผลตอบแทน บนโต๊ะนะครับ ผมเน้นว่าบนโต๊ะ ที่อ้างว่าเป็นสวัสดิการทหาร บนโต๊ะเท่าไหร่ ใต้โต๊ะไม่เกี่ยว เอาเท่าไหร่ เพราะว่าพอรับได้เรื่องตอบแทนอย่างนั้น ให้สวัสดิการเป็นก้อนไป แต่จะมีใครกล้าหาญ ถ้าเกิดไม่กระจายตรงนี้ถึงจะมีสื่อชุมชนอีก 4,200 สถานี ซึ่งยังไม่รู้จะทำยังไง 4,200 สถานีถ้าเป็นยักษ์ออกจากตะเกียงแล้วจะทำยังไง ใครถูกจี้ เกินกฎเกณฑ์ โดนปิด โดนอะไร ก็เดินประท้วงกันอุตลุด 4 พันกว่าสถานีจะทำยังไง ผมคิดว่าเป็นปัญหาหนักมากซึ่งเราไม่รู้จะจัดการกับมันยังไงดี
อันที่ 2 เรื่องของทุน ก็ต้องยอมรับกันว่าสื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเครื่องมือทางการเมืองบ้าง อะไรบ้าง จะทำยังไงกับมัน กำไรก็ต้องมี พนักงาน 2,000 คน จะทำยังไง จะให้อยู่รอดไหม ยิ่งเค้กก้อนเล็กลง โฆษณาก้อนเล็กลงขณะนี้จะเอายังไง แล้วก้อนที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้บอกให้ตรงๆ นะครับ ก้อนใหญ่ที่สุดคือโฆษณา งบประมาณของเรา ในแง่โฆษณาประชาสัมพันธ์จะทำยังไง ซึ่งคนที่คุมก็คือนักการเมือง แต่ถ้านักการเมืองคุม นักการเมือง สปอตโฆษณาออกทีวีนี่หน้านักการเมืองทั้งนั้นเลยนะ จะทำยังไง จะให้อยู่รอดไหม พวกผมเอาให้ตกงานไหม พูดลงลึกไปถึงระดับลูกจ้าง ลูกน้องจะตกงานหรือเปล่า อันนี้พูดความจริงกัน
โครงสร้างการจัดการจะยอมให้เป็นสื่อแบบทุนนิยมแบบนี้ ทุนโดยรัฐ จะเอายังไงกับมัน สังคมจะทำยังไง จะตอบยังไง ก็พูดข้อเท็จจริงว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ ผมแก้ไม่ได้หรอก ให้ผมแก้ผมจะไปยอมได้ไง นี่ข้อที่ 1
ข้อที่ 2 ศักยภาพนักข่าว จะเห็นว่านักข่าวมีรายได้ค่อนข้างน้อย แต่ผมไม่ได้เรียกร้องแบบตำรวจนะครับว่า รายได้น้อยก็ต้องขอไถกันบ้าง ไม่ใช่ แต่ปัญหาว่าเราเป็นนักข่าวจะทำยังไง ศักยภาพของนักข่าวโดยตัวมันเองมีปัญหา ทุกคนยอมรับ ผมเองหงุดหงิดจริงๆ ต้องขอโทษน้องๆ ที่รัฐสภา เรื่องตั้งพรรคพันธมิตรฯ ล้มละลายกับล้มละลายเป็นทุจริตนี่ มันชัดเจนอยู่แล้ว คุณไม่รู้กฎหมายก็ไปเปิดดูเสียหน่อย มานั่งถามให้ กกต.พูดเลอะเทอะอยู่ได้ เคยล้มละลายโดยทุจริต มันก็ 10 ปี ง่ายๆ ของพวกนี่ ไม่ยาก ก็ไปถามให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่มาเล่นคนละประเด็น แล้วโฆษก พิธีกรใหญ่ในทีวีก็มาพูดกันเรื่อง เสียเวลาตั้งหลายนาที
และก็มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือเรื่องอำนาจขององค์กรอิสระ ถูกคุมโดยคนคนเดียว โดยที่วุฒิสภาก็ไม่ทำอะไร ไม่ใช่นักข่าวอย่างเดียวนะครับ ที่เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาไม่ทำอะไร แล้วนักข่าวก็ไม่ได้ค้นหา ปล่อยให้คนๆ เดียวใช้อำนาจของคณะกรรมการ คตง.อยู่ได้เป็นเวลา 12 ปี ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้สรรหาใหม่ตั้งแต่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ภายใน 120 วัน ผู้นำฝ่ายค้านตั้งวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ป่านนี้มันกี่วันแล้วครับ เฮ้ย ทำไมไม่มีการเลือกกรรมการ คตง.และผู้ว่าฯ คตง.ล่ะ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินน่ะ ให้คนๆ เดียวใช้อำนาจของผู้ว่าการ และกรรมการ คตง.อยู่ได้ ไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ด้วยครับ ไปดูอันไหนขัดแย้ง รัฐธรรมนูญเขามีกระบวนการสรรหาอยู่ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว นักข่าวไม่เคยถาม ประธานวุฒิฯ ก็นั่งใบ้ ส.ว.ก็นั่งใบ้ทั้งสภา แล้วจะไปหวังอะไรกับนักข่าวล่ะครับ นักกฎหมายเต็มสภา
2 ปีแล้วนะครับ จะ 2 ปี จะปีครึ่ง ถ้ารวมทางกฎหมาย 2 ปีแล้วไม่มี คตง.หมดวาระวันที่ 18 กันยายน 2550 ไม่มีการทำอะไรเลย นักข่าวก็ไม่ถาม บอกนักข่าวที่โรงพิมพ์ เฮ้ย ช่วยถามประธานวุฒิฯ หน่อยซิว่าเมื่อไหร่จะเริ่มสรรหา ก็ไม่มีคำถาม คำตอบ วุฒิฯ 150 คนนั่งทำอะไรครับ ผมก็ไม่รู้ เพราะงั้นไม่ต้องหวังกับนักข่าว นักกฎหมาย วุฒิ ครึ่งสภานักกฎหมายทั้งนั้น นี่เรื่องคุณภาพ ศักยภาพ วันนี้กลับไปถามวุฒิฯ ถามประธานวุฒิฯ ด้วยนะนักข่าว นี่คุณเรืองไกร (ลีกิจวัฒนะ) ตรวจหมด แต่ไม่ยอมตรวจ คตง.เหมือนกัน ปล่อยไม่ได้นะ นี่คือปัญหาเรื่องศักยภาพ นี่คือข้อเท็จจริง มีปัญหาครับ ผมเองผมก็มีปัญหา ผมไม่รู้ทุกเรื่อง เผอิญ อ.กิตติศักดิ์ สอนผม เลยมีความรู้งูๆ ปลาๆ มาพูดได้ในวันนี้
อันที่ 2 คือเรื่อง เราจะยอมรับหรือเปล่าให้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ เราจะยอมรับความจริงไหม วันนี้ถ้าเกิดพรรคพันธมิตรฯ ตั้ง ASTV บอกไม่ใช่ของพรรคหรอก มันเป็นเครื่องมือทางการเมืองแน่นอน จะยอมรับกันหรือเปล่า ถ้ายอมรับก็ต้องแก้มาตรา 48 ครับ นี่เถียงกันให้ตกนะครับ อย่าไปอีแอบอยู่ จะเอาให้ตกก็ตก นักการเมืองควรไปจัดรายการไหม คนที่เป็นนักการเมืองครึ่งหนึ่ง เดี๋ยววันดีคืนนี้วันนี้เป็น ส.ว. วันนี้เป็นนักการเมือง พอตกงาน สอบตก พอคุณเกษียณไปจัดรายการวิทยุ จะเอาไหม พอเราปรับกิจการจะเอายังไง จะเล่นบทไหน วันหนึ่งสอบตกโผล่มาเป็นกลุ่มนี้ วันหนึ่งสอบได้กลับมาเป็นนักการเมือง วันหนึ่งตกไปโผล่ตรงนี้อีก จะเอายังไงครับ เอาให้ตกนะครับตรงนี้ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันแล้ว เพราะสามารถบริหารจัดการสื่อโดยตรง โดยอ้อม จะเอายังไงก็เอาให้ชัด ถ้าแก้ไม่ได้ แล้วสื่อท้องถิ่นทุกวันนี้ นักการเมืองท้องถิ่นทั้งนั้นเป็นเจ้าของ หนังสือพิมพ์ เขาโวยวายตั้งแต่ต้นตอนร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้าเกิดทำไม่ได้ผมก็ไม่รู้ยังไง ของเยอรมันบอกต้องทำตามรัฐธรรมนูญให้ได้ ของเราบอกขอแหกให้ได้ก่อน มันตรงกันข้าม เรื่องวัฒนธรรม เถียงให้ตกนะครับ แล้วแก้ ถ้าไม่แก้ก็อยู่อย่างนี้ เถียงกันไป เดี๋ยวก็ยื่น ก็คงยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คุณเรืองไกรต้องยื่นมากหน่อยแล้วกัน ยื่นทั่วประเทศ
อันที่ 3 ผมเห็นด้วยทุกอย่าง ที่เครือข่ายหยุดความรุนแรงเขาใช้คือ คุณแตกต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง อย่ายุให้เกิดความเกลียดชัง ที่ผ่านมาก็ยุการให้เกลียดชัง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำไมเมื่อกี้ผมพูดเล่นๆ กับอาจารย์พิรงรอง (รามสูต) ว่าทำไมถึงด่าสัตว์เดียรัจฉาน เพราะเราด่าคนเป็นควายกันอยู่แล้ว เวลาปกติเราด่ากันเราก็ด่า เราด่าคนเปรียบเทียบกับสัตว์อยู่แล้วเราอาจจะรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ เพราะงั้นถ้าเราด่าเราก็ด่าเลวยิ่งกว่าเดียรัจฉาน มันอาจเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมที่รู้สึกว่าเวลาด่ากันบนเวทีพวกนี้เราไม่ค่อยรู้สึก เราพูดเล่นแต่อาจเป็นจริงก็ได้ แต่ว่าสื่อที่ใช้ความรุนแรง จริงๆ องค์กรที่เราน่าส่งเสริมให้เติบโตและมีความโปร่งใสในการทำงานมากขึ้น คือมีเดียมอนิเตอร์ เสียดายมันมีคนอยู่ไม่กี่คน มีการมอนิเตอร์มา พอมอนิเตอร์เสร็จ สมมุติว่ามอนิเตอร์ทีวี เวลาจะเสนอข่าว นักข่าวทีวีไม่เคยมาทำข่าวเลย เวลาทำหนังสือพิมพ์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ไม่ต้องมาทำข่าว มีแต่ข่าวทีวีออก ต้องฟังสิ่งที่วิจารณ์ตัวเองจากมอนิเตอร์ไม่ได้ นั่นคือปัญหาว่าเราไม่ยอมฟังความผิดพลาดของตัวเองส่วนหนึ่งด้วย
ลองดูสิครับ ข่าวทีวีจะไม่ค่อยออกในเรื่องที่มีเดียมอนิเตอร์ มอนิเตอร์ทีวี หรือบางทีก็ประท้วงเลย ประท้วงก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่จะประท้วงก็ต้องเข้าใจ ตรงนี้ผมคิดว่าส่งเสริมเรื่องการควบคุมกันเอง ผมยอมรับว่าสภาหนังสือพิมพ์ฯ ก็ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สภานักข่าวของวิทยุโทรทัศน์กำลังร่างอยู่ ก็ไปลอกสภาหนังสือพิมพ์มา ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้ผล เพราะว่าทุกคนรักษาหน้ากันหมด สังคมไทยเป็นสังคมรักษาหน้า กลัวเสียหน้า เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าคนที่ต้องมีการคุยกันว่าจะเอายังไง ต้องคุยกันให้ตก ถ้าเกิดเราอยู่ในสภาพอย่างนี้ต้องมีการปรับให้มีคนนอก มีอะไรต่างๆ ว่ากันมากกว่านี้ เพราะเราไม่ต้องการให้กฎหมายมาเป็นตัวควบคุมในด้านนี้ ก็ใช้สังคมของสื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องทบทวนสิ่งเหล่านี้หมด ผมไม่มาแก้อะไร แต่ผมว่าตรงนี้เป็นปัญหา ซึ่งใครถามผมจะแก้ยังไง ผมก็ตอบไม่ได้หรอก ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะต้องเอามาโยนแล้วก็นั่งเถียงกัน เป็นเรื่องๆๆๆ หรือจะเป็นภาพรวมทั้งหมด ทุกคนต้องช่วย ทุกคนต้องมีแรงกดดันทั้งภายนอกภายในเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย
“...สื่อมวลชนอยากได้โอกาส เราก็มีเวทีให้เขาในการทำและพูดในสิ่งที่มีส่วนในการมุ่งไปสู่การทำให้เกิดวิกฤตมากขึ้น จะว่ารู้แล้วแต่ก็ยังเฉยๆ ไม่มีความรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะหลีกเลี่ยง และควรที่จะมีการปรับปรุงกันยาวนานมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าประเด็นที่ ดร.ชูลส์ พูดถึงเมื่อเช้านี้ ซึ่งผมอยากฟังความเห็นของ ดร.ชูลส์ด้วยในประเด็นนี้ ที่พูดถึงบทบาทของสื่อในเยอรมัน ซึ่งผมคิดว่ามันสะท้อนบทบาทของสื่อที่นี่ ระดับหนึ่งเหมือนกัน คือประเด็นที่บอกว่าบทบาทของสื่อในเยอรมันตามความคาดหวัง ตามกฎหมายที่มีอยู่ ไม่มีหน้าที่แค่การรายงานข่าวอย่างเดียว แต่ต้องอธิบายด้วย Not only to report, but also to explain.
ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ ถ้าจะถามเพื่อจะตอบคำถามของคุณก่อเขต (จันทเลิศลักษณ์) ที่ถามว่าสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนในช่วงวิกฤต หรือก่อนวิกฤตที่เกิดขึ้นมา ผมคิดว่าคำถามนี้ต้องถามเลยว่าสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ report ได้ดีมากเลย ใครยิงใคร ใครฆ่าใคร ใครเป็นอะไร ได้ดีมาก แต่ว่า explain อธิบายให้คนเข้าใจบริบท เข้าใจที่มาที่ไป เพื่อจะรู้เท่าทันมากขึ้น ผมคิดว่าตรงนี้ค่อนข้างที่จะขาดมากๆ เลย
แล้วคำว่าไม่ใช่ report อย่างเดียว แต่ explain ด้วย มันจะนำมาสู่อีกประเด็นหนึ่งที่ ดร.ชูลส์ พูดถึงก็คือว่า ยอมรับความสำคัญของสื่อมวลชนในการใช้ opinion making ก็คือการทำให้สังคม คนในสังคม มีความเห็น มีความเห็นเพื่ออะไร เพื่อนำไปสู่ในประเด็นที่ ดร.ชูลส์ พูดถึง ก็คือ to argue ก็คือเมื่อมีความเห็นแล้วก็สามารถเอาข้อมูลที่มีอยู่ไปถกเถียงในสังคมได้ ซึ่งในสังคมไทยนั้นข้อมูลที่จะนำไปสู่การถกเถียงกัน มันมีจำกัด สิ่งที่ได้ยินทุกวันหรือบ่อยๆ มันจะเป็นความเห็นมากกว่าเป็นข้อมูล ก็คือเอาความเห็นมาเป็นพื้นฐานในการโต้เถียงกันมากกว่าเป็นข้อมูล หรือว่าสิ่งที่ควรจะรู้ มันก็เลยกลายเป็นการพูดแสดงความเห็นมากกว่าการโต้เถียงกันบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง หรือว่าที่หลากหลาย ที่รอบด้าน
เพราะฉะนั้นมันก็เป็นคำถามใหญ่เหมือนกันว่า มี 2-3 ท่านพูดถึงว่าทำไมคนไทยถึงได้หันไปหาสื่อที่เป็น จะเรียกว่าสื่อทางเลือก หรือสื่อเลือกข้างก็แล้วแต่ ที่เป็น ASTV และเป็น D-Station ถามว่าทำไมสื่อมวลชนที่เป็น Main Stream Media มันหายไปไหน ทำไมสื่อมวลชนทุกวันนี้ที่มีบทบาทอย่างมากเลยในการทำให้คนมีอารมณ์ ทำให้คนโกรธแค้น ทำให้คนชอบ/ไม่ชอบ เอาอะไร/ไม่เอาอะไร มันกลายเป็นสื่อที่เลือกข้าง มีสีของตนชัดเจนหมดเลย แต่สื่อที่ตามหลักการแล้วควรจะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้ประชาชนมีความคิดเห็นที่ดี ที่ถูกต้อง และสามารถนำความคิดเห็น นำข้อมูลเหล่านี้มาโต้เถียงกันได้ ค่อนข้างที่จะบทบาทหายไปจากสังคมนี้มากทีเดียว กลับกลายเป็นสื่อสองขั้วเป็นคนกำกับความรู้สึก เป็นคนกำกับความเห็นของประชาชน ค่อนข้างสูง
นี่ยังไม่พูดถึงสื่อที่ อาจารย์พิรงรอง ที่เราพูดถึงนี่เป็นสื่อออนไลน์ กลายเป็นว่าการถกเถียงกันในเรื่องของการเมืองอาจจะถกเถียงกันด้วยความรู้สึกหรือความเห็นก็แล้วแต่ ไปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ ในแชตรูม มากกว่าปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรืออยู่บนทีวี ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ ที่ประชาชนแคร์ สนใจที่จะถกเถียงกันในเรื่องนี้ แต่อันตรายอยู่ที่ว่าเป็นการถกเถียงบนข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลที่รอบด้าน หรือถกเถียงด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นการถกเถียงตามความเห็นที่ได้ยินมาจากที่อื่น หรือจากแหล่งที่เป็นสื่อที่เลือกข้างแล้วเข้ามาทุกวันๆ กรอกหู ก็เลยเชื่อไปตามนั้น
ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า สื่อมวลชนคงมีความจำเป็นอย่างมากในการที่จะต้องถามตัวเองเหมือนกันว่าในภาวะวิกฤตที่ดูเหมือนว่ายังหาจุดจบไม่ได้ โอกาสที่จะทำให้ประชาชนรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อบุคคล คณะบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อจะได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ที่รอบด้าน เพื่อนำไปถกเถียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล จะทำหน้าที่ได้ดีกว่าปัจจุบันนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะว่าถ้าประชาชนมีข้อมูล มีความเข้าใจเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น มันก็นำไปสู่ความถามและคำตอบเกี่ยวกับเรื่องของความโปร่งใส เรื่องของการถูกตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยขาดมาก และเรื่องของความโปร่งใส การถูกตรวจสอบได้ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Transparency กับ Accountability มันเป็นกุญแจหลัก 2 อันของการปกครองที่เรียกว่า Good governance หรือประชาธิปไตยนั่นล่ะ แต่ว่าประชาชนจะทำให้เกิดสองสิ่งนี้ไม่ได้ถ้าหากข้อมูลที่ได้รับทุกวันนี้มันไม่มากเพียงพอ หรือไม่รอบด้าน หรือไม่ลึกเพียงพอ ถ้าเป็นแต่เพียงความเห็นอย่างเดียวมันไม่เพียงพอในการที่จะทำให้ประชาชนรู้เท่าทันได้มากขึ้น
ประเด็นที่ผมอยากจะพูดตอนท้ายก็คือ นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าถ้าสื่อมวลชนจะหันมามองตัวเอง และคุยกันเพื่อจะดูซิว่าสื่อมวลชนจะมีส่วนร่วมในการหาทางออกจากวิกฤตปัจจุบันนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าบทบาทในการที่จะเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน ที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ และเป็นเวทีให้มีการถกเถียงกันอย่างมีเหตุมีผล ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราในฐานะสื่อมวลชน ควรจะทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วและกว้างขวางมากที่สุด
ผมคิดว่าเมืองไทยคงเป็นไม่กี่ประเทศในโลกขณะนี้ที่ความรู้สึกความเห็นของคนถูกกำหนดด้วยสื่อที่เลือกข้างแบบนี้ และผมคิดว่าระยะยาวแล้วอันตราย เพราะว่าทันทีที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าสื่อที่พูดจาไพเราะเพราะพริ้ง มีเหตุมีผล ถกเถียงอย่างมีที่มาที่ไป มันไม่สนุกไม่ตื่นเต้นเหมือนกับสื่อที่มันสุดขั้ว ที่มันใช้ภาษาหยาบคาย ที่มันด่ากันฟังแล้วมันมันสะใจแล้วก็เชื่อเลย ผมคิดว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ออกไปนานวันมากขึ้น ผมคิดว่าอันตรายที่มีต่อประชาธิปไตยผมคิดว่ามีสูงแน่
ผมขอตั้งข้อสังเกตนิดเดียวกับข้อกังวลของบางท่านที่บอกว่าถ้ามีกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และมีสื่อในมือของตัวเอง และแยกไม่ออกระหว่างความเป็นสื่อ กับการเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตรงนี้จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยเป็นห่วงมากนัก เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคุณค่าที่สำคัญที่สุดของสื่อมันอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ เพราะว่าทันทีที่สื่อไหนก็ตามที่มีภาพชัดเจนว่าเป็นพรรคพวกของฝ่ายไหน เป็นของพรรคการเมืองไหน เป็นของการเมืองกลุ่มไหน ผมคิดว่าความน่าเชื่อถือก็คงจะค่อยๆ หายไป ผมคิดว่าพยายามมองในแง่ดีนะครับ แต่ว่าผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคือทำยังไงให้สื่อที่เรียกว่าสื่อกระแสหลัก Main Stream Media กลับกลายมาเป็นสถาบันที่ประชาชนคนในสังคมให้ความเชื่อถืออีกครั้งหนึ่ง”