xs
xsm
sm
md
lg

พลิกบทบาทเชิงรุก โฉมใหม่ ป.ป.ช. !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากย้อนกลับไปพิจารณาบทบาทของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าส่วนใหญ่จะต้องรอให้มีการร้องเรียนในเรื่องทุจริตเกิดขึ้นเสียก่อน จึงจะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง จนถึงขั้นสรุปผล ไปจนถึงการแจ้งข้อหาผู้กระทำความผิด
แต่ล่าสุดมีบทบาทที่น่าสนใจก็คือ ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันป้องกันการทุจริตภาคเศรษฐกิจ ที่มี เมธี ครองแก้ว เป็นประธานไปดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่วงเงินล่าสุด จำนวน 6.4 หมื่นล้านบาท
ต่อมาก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งมี ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานพิจารณา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ ป.ป.ช.ถือว่าไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก หรืออาจไม่เคยเกิดขึ้นเลยก็ว่าได้ เพราะแทบทุกครั้งจะต้องรอให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเสียก่อน จึงจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ดังกล่าวข้างต้น
แต่กรณีของโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันของ ขสมก.ที่ผลักดันโดยรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย และกำลังถูกสังคมรุมต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาค่าเช่าค่าซ่อมที่แพงเกินจริง สร้างหนี้สินพอกพูน จนต้องเป็นภาระของประชาชนในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สรุปก็คือส่อไปในทางทุจริตกันมโหฬารนั่นแหละ !!
การที่ ป.ป.ช.เข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียน ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี อย่างน้อยในแง่ของการป้องปรามการทุจริตลงได้ เพราะไม่เช่นนั้นในบางโครงการที่มีความเสียหายเกิดผลกระทบในวงกว้าง การเข้าไปตรวจสอบภายหลัง แม้ว่าจะได้ตัวคนผิด แต่กว่า “ถั่วจะสุก งาก็ไหม้” ไปแล้วก็ได้
แม้ว่าการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไม่ใช่ในลักษณะของการไต่สวนเอาผิดก็ตาม แต่ก็มีอำนาจเรียกเอกสาร จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาศึกษาข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 19 (8) กำหนดให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่เสนอมาตรการหรือข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
หากฝ่าฝืนก็มีสิทธิ์เจอคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กันเลยทีเดียว !!
กรณีเปิดเกมรุกเข้าไปสอบสวนกรณีโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันของ ป.ป.ช.ครั้งนี้ถือว่าน่าชื่นชม เพราะเป็นมิติใหม่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเมื่อสร้างเป็นบรรทัดฐานแบบนี้แล้ว เชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นการเข้ามาตรวจสอบในลักษณะเดียวกันอีก
อย่างไรก็ดีแทบทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ กรณีของ ป.ป.ช.ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้เห็นการทำงานในเชิงรุกทางบวกแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีข้อครหาในเรื่อง “ยื้อ” การตรวจสอบ หลายเรื่องถูกมองว่า “ดอง” เอาไว้จนไร้อนาคต
ยกตัวอย่างคดีสอบสวนทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิหลายคดี ทั้งคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ ท่อร้อยสายไฟ ที่จอดรถ ฯลฯ ผ่านมากว่า 2 ปี ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปสักคดีเดียว
หรือคดีกระทำความผิดกรณีเขาพระวิหาร ที่คณะรัฐมนตรียุครัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ถูกกล่าวโทษ แม้กระทั่งล่าสุดกรณี เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ฆ่าประชาชน มาจนถึงบัดนี้ก็เหมือนหยุดเดินเอาดื้อๆ ทั้งที่น่าจะมีความคืบหน้าสามารถดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้ตั้งนานแล้ว
ที่ผ่านมามักจะอ้างว่า ป.ป.ช.มีงานล้นมือ ขณะที่เจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย การตรวจสอบต้องดำเนินการไปตามลำดับ
ทั้งที่ในหลักการน่าจะพิจารณาเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง น่าจะหยิบยกเอาเรื่องที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งกรณีที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ส่วนเรื่องไหนที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือไม่อยู่ในความสนใจก็น่าจะสมควรปล่อยวางไปก่อน
เหมือนกับที่หยิบยกกรณีเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันวงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาทมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ในครั้งนี้ถือว่า เป็นเรื่องน่าจับตา เพราะเป็นนิมิตที่ดี เป็นการทำงานเชิงรุก ป้องปรามการทุจริตได้อีกทางหนึ่ง
แม้ว่าความตื่นตัวดังกล่าวบังเอิญว่าเกิดขึ้นในช่วงที่คณะกรรมการ สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้ ยุบทิ้ง ป.ป.ช.ชุดนี้หรือไม่ ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ดีทุกอย่างยังไม่จบ ดังนั้นก็ต้องรอพิสูจน์กันต่อไป !!
กำลังโหลดความคิดเห็น