ฝ่ายการเมืองเริ่มริดอำนาจองค์กรอิสระ หลังที่ประชุมกรรมการสมานฉันท์ ถกข้อเสนออนุกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมือง เห็นควรโละ กกต.-ป.ป.ช.ชุดที่แต่งตั้งโดย คมช. ดึงประชาชนร่วมเป็นกรรมการสรรหาร-มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งด้วย พร้อมยกดาบฟันเลือกตั้งให้ศาลจัดการทั้งก่อนและหลัง ยกเลิกโทษยุบพรรค ให้รับโทษแค่เฉพาะตัว
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการฯทำหน้าที่ประธานได้ประชุม เพื่อนัดสรุปข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง โดยนายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา ในฐานะประธานอนุกรรมการฯได้เสนอกรอบและแนวทางแก้ไขเริ่มจากกรอบที่ 1.การปรับปรุงโครงสร้างทางการสังคมการเมือง และเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอให้กำหนดให้มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและมีบทบาทในการตรวจสอบองค์กรอิสระให้มากขึ้น ให้มีการสรรหา กกต. และ ป.ป.ช.ใหม่ เพราะเห็นว่าองค์กรดังกล่าวน่าจะยุติบทบาทได้แล้ว เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งจาก คมช. และควรเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นองค์กรอิสระได้มิใช่จำกัดเพียงแค่อดีตอธิบดีหรือข้าราชการเท่านั้น และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆมีสิทธิเสนอรายชื่อร่วมเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระได้มิใช่จำกัดอยู่แค่ศาลเท่านั้น
นอกจากนี้ ในส่วนของบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระ โดยยกกรณีตัวอย่างการทำงานของ กกต.จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดวิธีหาเสียงไม่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมไทย การประกาศผลผู้ได้รับเลือกตั้งไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในเรื่องของความยุติธรรม และควรให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยในการให้ใบแดง
นายประเสริฐกล่าวอีกว่า ในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองของพรรคการเมือง อนุกรรมการฯต้องการเห็นพรรคการเมืองและนักการเมืองเข้มแข็ง ปัญหาที่ปรากฏ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่เป็นรูปธรรม ปัญหาการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ทำให้พรรคการเมืองเกิดความอ่อนแอ ปัญหาแรงจูงใจให้นักการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต มิใช่เข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง โดยเสนอแนวทางแก้ไขให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง อาทิ การนำเงินบริจาคให้พรรคการเมืองมาลดหย่อนภาษี กรณีที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดไม่ควรยุบพรรคการเมือง แต่ควรลงโทษกรรมการบริหารพรรค ให้มีงบประมาณหรือกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้กับผู้สมัครที่ไม่มีเงินได้มีโอกาสในการแข่งขัน ปรับปรุงค่าตอบแทนให้พรรคการเมืองและนักการเมืองให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพื่อไม่ให้นักการเมืองต้องกังวลกับรายได้ของตัวเอง จะได้ไม่คิดหารายได้นอกลู่นอกทางจากอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ และควรมีบำเหน็จบำนาญหรือค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นวาระและไม่มีมลทิน
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้กรรมการสมานฉันท์แต่ละคนแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้เพิ่มกรอบที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ทั้งด้านที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาพรรคการเมือง ปัญหาโครงสร้างทางอำนาจและการแบ่งแยกโครงสร้างอำนาจประชาธิปไตยทางรัฐธรรมนูญ ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาขององค์กรรัฐธรรมนูญที่อนุกรรมการเสนอและเพิ่มข้อความให้ชัดเจน โดยให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งก่อนการเลือกตั้งและหลังวันการเลือกตั้ง โดยที่ประชุมไม่มีใครคัดค้านข้อเสนอที่ให้มีการสรรหา กกต.และ ป.ป.ช.ชุดใหม่ ขณะที่ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาพรรคการเมืองและนักการเมือง คณะกรรมการสมานฉันท์มีมติให้ยกเลิกโทษยุบพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดให้ได้รับโทษเฉพาะตัว