xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มทุนไทยรุกลงทุนใน สปป.ลาว “จีน-เกาหลี”ลุยเต็มที่รับสะพานข้ามโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกวันนี้ กลุ่มทุนจีนและเกาหลี เป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวลงทุนในลาว สูงมาก  เพื่อเตรียมรับสะพานข้ามโขงแห่งใหม่ และถนนสาย R3a
เชียงราย – พาณิชย์เปิดห้องติวเข้ม แผนลงทุนใน สปป.ลาว กระตุ้นทุนไทยเตรียมพร้อมรับข้อตกลงทางการค้าในกลุ่มอนุภูมิภาค ขณะที่กลุ่มทุนเชียงราย ลุ้นปลุกปั้นพื้นที่ชายแดนเป็นฐานผลิตอาหารสัตว์ ดึงพืชผลทางการเกษตร ภายใต้โครงการคอนแทร็กฟาร์มิ่งในลาวเข้าโรงงานฝั่งไทย ด้านทุนจีน – เกาหลีไต้ เดินหน้าพัฒนาพื้นที่รับ R3a-สะพานข้ามโขงต่อเนื่อง

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดการสัมมนาเรื่อง "ฝ่าวิกฤตพิชิตโอกาสการค้าการลงทุนใน สปป.ลาว" ขึ้น ณ โรงแรมวังคำ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ ไปเป็นวิทยากรในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ ข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าไปลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )ในปัจจุบันและอนาคต

นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ในการสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤตพิชิตโอกาสการค้า การลงทุนในสปป.ลาว” ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น ที่โรงแรมวังคำ อ.เมืองเชียงราย ได้มีการพยายามที่จะให้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจเตรียมตัวรองรับ โดยเฉพาะในประเด็นข้อตกลงทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น ข้อตกลงอาเซียน-จีน ฯลฯ ซึ่งมีระเบียบกฎเกณฑ์หลายๆ เรื่องที่เอกชนภูมิภาคไม่เคยได้รับทราบ และเมื่อได้รับทราบแล้วก็ถือว่าเป็นผลดีอย่างมาก เพราะเรามีชายแดนติดกับ สปป.ลาว เป็นระยะทางไกล รวมทั้งมีจุดผ่านแดนถาวรที่ค้าขายกับ สปป.ลาว ถึง 2 จุดคือที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ

สำหรับการค้าไทย-สปป.ลาว ผ่านเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค และมีความเกี่ยวพันกันเกี่ยวกับธุรกิจด้านการเกษตรประเภทข้าวโพด โดยเอกชนไทยหลายรายเข้าไปประกอบกิจการปลูกข้าวโพดใน สปป.ลาว ในลักษณะคอนแทร็กฟาร์มิ่ง ดังนั้น ระเบียบข้อตกลงต่างๆ จึงมีความจำเป็น

ขณะเดียวกันหอการค้า จ.เชียงราย ก็มีโครงการในการผลักดันให้เชียงรายเป็นฐานการผลิต มากกว่าเป็นแหล่งรับซื้อสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าอาหารสัตว์ทั้งอาหารสุกร กุ้ง ปลา ฯลฯ ซึ่งประเมินกันว่าทำให้เงินไหลออกจากจังหวัดปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง เชียงรายมีศักยภาพ เพราะมีวัตถุดิบเหลือเฟือโดยเฉพาะข้าวโพด และสามารถได้ผลผลิตคุณภาพดีอันเกิดจากการส่งเสริมของนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว รวมทั้งการผลิตก็ใช้ต้นทุนไม่สูง ดังนั้นหอการค้าจึงประสานกับทุกฝ่าย ซึ่งได้รับความร่วมมือกับภาคชุมชนเป็นอย่างดี จึงคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เปิดกิจการนี้เพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบชายแดนไทย-สปป.ลาว ผลิตอาหารสัตว์ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น แหล่งเลี้ยงกุ้ง อ.เทิง แหล่งเลี้ยงปลานิลที่ อ.พาน ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วแต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่เพราะต้องสูญเสียเงินซื้อวัตถุดิบประเภทอาหารจากนอกพื้นที่

ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่ อ.เชียงของ กล่าวว่า แขวงทางเหนือของ สปป.ลาว มีกลุ่มทุนเข้าไปลงทุนอย่างคึกคัก โดยเห็นได้ชัดเจนคือกลุ่ม "ดอกงิ้วคำ" ที่เข้าไปสร้างโรงแรมและอื่นๆ ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน ซึ่งเดิมมีกำหนดเปิดราวเดือนกันยายน 2552 นี้ แต่จากการที่เข้าไปดูงานพบว่าไม่น่าจะเปิดได้ทัน อาจต้องเลื่อนกำหนดเปิดบริการเต็มที่ออกไปก่อน

ทั้งนี้ ดูได้จากการก่อสร้างถนนสายสำคัญๆ ที่จะเชื่อมเข้ากับโครงการนี้ ยังไม่แล้วเสร็จ เช่น ถนนสายห้วยทราย-ต้นผึ้ง ประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นต้น เพราะเชื่อว่าเป้าหมายของโครงการที่ต้นผึ้ง คือการรองรับผู้คนที่จะมาตามถนน R3a ใน สปป.ลาว เชื่อมกับจีน และไปตามถนนสายห้วยทราย-ต้นผึ้ง ดังกล่าว ควบคู่กับการรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย

นายสงวน กล่าวอีกว่า นอกจากกลุ่มทุนจีนนี้แล้ว ยังมีกลุ่มทุนจีนจากประเทศเกาหลีใต้ที่เข้าไล่ซื้อที่ดินที่เมืองห้วยทรายหลายสิบไร่ โดยมีการถมดินปรับที่กันเรียบร้อย เพื่อเตรียมก่อสร้างเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้างซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือไม่

ขณะที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเชียงของ-ห้วยทราย เพื่อเชื่อมกับถนน R3a "คุนมั่งกงลู่" มูลค่า 1,400 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุนก่อสร้างระหว่างรัฐบาลไทย สปป.ลาว และจีน ก็จะตอกเสาเข็มก่อสร้างแน่นอนแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

"ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจไทยที่ค้าขายเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว จึงต้องตื่นตัวและถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ให้ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว เพื่อให้นักธุรกิจนำไปใช้ สำหรับเขาเองแล้วมีโครงการนำเข้าข้าวโพดจาก สปป.ลาว โดยร่วมกับภาคการเกษตรใน สปป.ลาว ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดคุณภาพดีโดยปัจจุบันมีการจัดส่งเมล็ดพันธุ์เข้าไปแล้วและเมื่อได้ผลผลิตก็จะรับซื้อต่อไป" นายสงวน กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สปป.ลาว แบ่งพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนออกเป็น 3 โซนคือโซนสีเหลืองเป็นพื้นที่ทุรกันดารจะยกเว้นภาษี 7 ปี โซนสีเขียวเป็นพื้นที่กำลังพัฒนาให้ยกเว้นภาษี 5 ปีหลังจากนั้นลดให้จ่ายครึ่งหนึ่งของ 15% ไปอีก 3 ปี และโซนสีแดงคือนครใหญ่ๆ เช่น นครเวียงจันทน์ ฯลฯ ยกเงินภาษี 2 ปีและ 3 ปีถัดจากนั้นให้จ่ายครึ่งหนึ่งของอัตรา 20% ซึ่งนักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนต้องตรวจสอบโซนต่างๆ ได้ตามแขวงและเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่ง สปป.ลาว ตั้งเป็นศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสได้
กำลังโหลดความคิดเห็น