xs
xsm
sm
md
lg

ชิคุนกุนยาไทยติดแล้วแม่สู่ลูกยกไข้เลือดออกภัยพิบัติชาติ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สธ.ประสานมหาดไทยประกาศโรคไข้เลือดออกเป็นภัยพิบัติ เปิดช่องจังหวัดเบิกงบแก้ปัญหาฉุกเฉิน ไทยพบชิคุนกุนยาติดจากแม่สู่ลูก 2 รายแรกที่ จ.ตรัง สั่งเฝ้าระวังเข้มหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยง ไม่ให้ยุงกัด ชี้ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์จนถึงคลอดส่งผลลูกพัฒนาการช้า ส่วนการป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้ทุก รพ.พุ่งเป้าผู้มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศ ขอความร่วมมือหัวหน้าทัวร์ หากพบลูกทัวร์ไข้ ไอ เจ็บคอ ให้ส่งพบแพทย์รักษาทันที

วานนี้ (1 มิ.ย.) ที่ จ.สตูล นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะผู้บริหาร สธ. เดินทางมาร่วมกันเปิดกิจกรรมรณรงค์ควบคุมโรคชิคุนกุนยา โดยปล่อยคาราวานเจ้าหน้าที่พ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย แจกโลชั่นทากันยุง ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย บริการชุบเสื้อและมุ้งด้วยน้ำยากันยุง เพื่อเป็นการป้องกันครั้ง้งใหญ่ไม่ให้โรคแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศ
นายมานิตกล่าวว่า ขณะนี้ สธ.มีนโยบายเตรียมเสนอให้กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศให้โรคไข้เลือดออกเป็นภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด โดยมอบหมายให้นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหากสามารถออกประกาศได้จะมีผลทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อป้องกันโรค ตามที่ประกาศไว้ ภัยพิบัติละ 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมาตรการขณะนี้ ยังคงเน้นเรื่องการกำจัดลูกน้ำ ยุงลาย ไข่ยุงลาย โดยให้สำนักควบคุมโรคทุกเขตเร่งให้ความรู้ อสม. อันตรายของไข่ยุง โดยต้องสังเกตภาชนะต่างๆ หากมีคราบดำๆ ติดอยู่ให้เร่งทำลาย เพราะไข่ยุงสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี เมื่อมีน้ำขังอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะเกิดเป็นลูกน้ำ ยุงลายได้ จึงจำเป็นต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ทุก  7 วัน
“สำหรับโรคชิคุนกุนยาที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ สธ.จะเร่งทำแนวป้องกันจังหวัดภาคใต้ตอนบนให้เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช ตรัง เพราะขณะนี้มีข้อสันนิษฐานว่าการเร่งปราบในพื้นที่ตอนล่าง จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา อาจทำให้ยุงหนีและกระจายขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้พื้นที่การระบาดขยายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว โดยพบมากใน 4 จังหวัดภาคใต้ ที่เหลือกระจายอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เป็นการติดเชื้อมาจากภาคใต้ทั้งหมด”นายมานิต กล่าว
ด้านนพ.มล.สมชาย จักรพันธ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้พบทารกแรกคลอดอายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ อีก 2 ราย ที่จ.ตรัง ติดเชื้อชิคุนกุนยา จากแม่เนื่องจากแม่ป่วยขณะตั้งครรภ์ โดยหลังคลอดเด็กยังไม่มีอาการ แต่ประมาณ 3 วัน เด็กมีอาการไข้สูง ผื่นแดงขึ้นเต็มตัว ญาติจึงพามาพบแพทย์ และตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จึงอยากเตือนให้หญิงตั้งครรภ์หากมีไข้ให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาชีวิตเด็ก
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวถือเป็นรายแรกของประเทศไทย ที่มีการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ทำให้ต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง โดยได้สั่งการให้โรงพยาบาลใน 14 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้คลอดเพราะจะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงทั้งแม่และเด็ก  ซึ่งในต่างประเทศพบรายงานการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกติดเชื้อประมาณร้อยละ 50 และหากติดเชื้อช่วง 1-3 เดือนของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสมองของเด็กได้ เช่น พัฒนาการช้า  ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น เนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะโรคชิคุนกุนยา มีอัตราการแพร่เชื้อมากกว่าไข้เลือดออกทั่วไป พบว่า ชิคุนกุนยา มีฤทธิ์ในการติดเชื้อประมาณร้อยละ 40 ส่วนไข้เลือดออกจะมีฤทธิ์ในการติดเชื้อประมาณร้อยละ 20
**สั่งทุกรพ.จับตาคนกลับจากตปท.
วันเดียวกัน นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้าวานนี้ (1 มิ.ย.) ว่า หลังจากที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 4 ราย ไม่เสียชีวิตทุกรายล้วนมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 แต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมควบคุมโรคเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยยังคงตรึงมาตรการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง และการเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการค้นหาผู้ป่วย จากประวัติการเดินทาง และอาการป่วย
อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพิ่มในขณะนี้ คือกลุ่มนักศึกษาที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันอย่างต่อเนื่อง และคณะทัวร์ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย หากขาดการเฝ้าระวังที่ดีเมื่อพบผู้ป่วยจะทำให้การควบคุมโรคยาก เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน และอาการป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล หากพบผู้ป่วยและได้รับการรักษาโดยเร็ว ก็จะลดการแพร่ระบาดในประเทศได้
ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทุกคน หากมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ภายใน 7 วัน แม้ว่าจะมีอาการไม่มากก็ตาม ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้เจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีมีความปลอดภัย และขอความร่วมมือหัวหน้าคณะทัวร์ หากพบลูกทัวร์ป่วย มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หลังเดินทางเข้ามาประเทศภายใน 7 วัน ขอให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และพาไปพบแพทย์เพื่อการรักษา อย่าให้ลูกทัวร์กินยาลดไข้เอง ซึ่งนอกจากอาจจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังจะทำให้เชื้อแพร่กระจายสู่คนอื่นได้ นายแพทย์สมชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น