สธ.เผยหญิงวัย 41 ชาวพัทลุงเสียชีวิตจากโรคไข้สมองอักเสบ ไม่ใช่โรคชิคุนกุนยา ยันไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต น่าห่วงโรคชิคุนกุนยาระบาด 5 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยแล้ว 22,276 ราย พบมากอันดับ 1 ที่จังหวัดสงขลา 9,078 ราย
วันที่ 29 พฤษภาคม นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีหญิงวัย 41 ปี ชาวพัทลุง ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ได้รับรายงานสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงรายดังกล่าวมากจากเยื้อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาลผู้ป่วยมีอาการไข้ขึ้น ออกผื่น ซึมลง แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ แต่อาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา
นพ.มล.สมชาย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากติดเชื้อไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งได้นำเชื้อดังกล่าวส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะทราบผลใน 2 วันนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ได้เสียชีวิตจากโรคชิคุนกุนยาแน่นอน เนื่องจากโรคดังกล่าวส่งผลต่อข้อต่างๆ ในร่างกายไม่ส่งผลต่อสมองจึงไม่ทำให้เยื้อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบต่อไป
“ญาติเข้าใจว่า ผู้เสียชีวิตป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา เพราะผู้ป่วยติดเชื้อได้เพียง 3 วัน โดยในหมู่บ้านเกิดการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาอย่างหนัก แต่หลังทราบสาเหตุที่แท้จริงได้อธิบายให้ญาติเข้าใจแล้ว” นพ.มล.สมชาย กล่าว
วันเดียวกัน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เดินทางไปที่ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เพื่อเปิดการรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อ พร้อมรับมอบวัสดุใช้ในการควบคุมโรคจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคชิคุนกุนยาของไทยกำลังน่าเป็นห่วง มีการระบาดอย่างต่อเนื่องจากภาคใต้ตอนล่าง มาภาคใต้ตอนบน อย่างรวดเร็ว ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 พฤษภาคม 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 22,276 ราย ใน 28 จังหวัด ยังไม่ผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือสงขลา 9,078 ราย รองลงมา ได้แก่ นราธิวาส 7,011 ราย ปัตตานี 2,942 ราย ยะลา 2,107 ราย ตรัง 681 ราย พัทลุง 163 ราย และสตูล 126 ราย นอกจากนี้ ยังเริ่มพบผู้ป่วยในภาคใต้ตอนบนที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราชด้วย
นายวิทยา กล่าวต่อว่า การป้องกันและควบคุมโรคชิคุนกุนยา มั่นใจว่า จะสามารถควบคุมโรคนี้ หากได้รับความร่วมมือ จากประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้านและในสวน โดยเฉพาะสวนยาง ทุก 7 วัน เพื่อไม่ให้ยุงวางไข่ เนื่องจากยุงลายที่เป็นพาหะจะอาศัยอยู่ตามกะลา ยางรถยนต์ บริเวณในสวน โดยเฉพาะสวนยางใน 14 จังหวัดภาคใต้ จะช่วยป้องกันทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา ได้อย่างแน่นอน