xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งคุม “ชิคุนกุนยา” รณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่รณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ต้นตอโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อ ซึ่งปีนี้พบการระบาดครั้งใหญ่ในพื้นที่แถบภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปีมานี้พบผู้ป่วยแล้ว 18,435 ราย พร้อมให้ อสม.ผู้นำชุมชน ช่วยค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิกเอกชน แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมื่อพบผู้ป่วยที่เป็นไข้ มีผื่น และปวดข้อ

วันนี้ (18 พ.ค.) ที่ศาลาประชาคม อ.สะเดา จ.สงขลา นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนางประนอม จันทรภักดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรคและคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อของพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และเป็นประธานปล่อยตัวชุดปฏิบัติการควบคุมโรค ประกอบด้วยอาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน อ.สะเดา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กว่า 100 คน ร่วมกันกวาดล้างแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายตัวแก่ พาหะนำโรคชิคุนกุนยา

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคชิคุนกุนยาในปีนี้ นับว่า มีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 พฤษภาคม 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 18,435 ราย เกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ สงขลา 7,310 ราย รองลงมา ได้แก่ นราธิวาส 6,450 ราย ปัตตานี 2,942 ราย ยะลา 1,539 ราย ตรัง 95 ราย สตูล 57 ราย และพัทลุง 12 ราย นอกจากนี้ ยังเริ่มพบผู้ป่วยในภาคใต้ตอนบนที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราชด้วย

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดในภาคใต้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่ โดยระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์ทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning Day) กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชน การพ่นเคมีภัณฑ์กำจัดยุงลายตัวแก่ต้นเหตุโรคชิคุนกุนยา รวมทั้งเร่งให้ความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นเตือนประชาชน ในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทั้งโรคชิคุนกุนยาและไข้เลือดออก นอกจากนี้ ยังให้ อสม.ผู้นำชุมชน ช่วยค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิกเอกชน เมื่อพบผู้ป่วยเป็นไข้ มีผื่นและปวดข้อ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อลงควบคุมป้องกันโรคอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมยาและเวชภัณฑ์ไว้พร้อมสำหรับดูแลผู้ป่วย

ด้าน นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มความเข้มข้นของการเฝ้าระวังป้องกันโรคชิคุนกุนยาควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 โดยการประชุมทางไกลผ่านระบบดาวเทียมร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต 11 และ 12 ทุกวัน เพื่อติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานทุกวัน และให้ประสานการทำงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่

ทั้งนี้ ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ จะประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นพ.สาธารณสุขจังหวัด และบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง จาก 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อวางแผนการดำเนินงานควบคุมการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในภาคใต้ ที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

สำหรับโรคชิคุนกุนยา มียุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค หลังได้รับเชื้อ 3-5 วัน จะมีอาการไข้ มีผื่นแดงตามลำตัว แขน ขา และมีอาการปวด บวมแดง ร้อน บริเวณข้อ โดยเฉพาะข้อนิ้ว ข้อมือ และข้อเข่า บางรายอาจปวดจนเดินไม่ได้ การรักษาจะรักษาตามอาการ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ในช่วง 3-5 วันแรกต้องระวังไม่ให้ยุงกัด เพราะจะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรคและสงสัยเป็นโรคชิคุนกุนยา ให้รีบไปรักษา และแจ้ง อสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อลงไปควบคุมโรคทันที โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีที่ดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน และป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งหรือห้องที่ติดมุ้งลวด ใช้ยาทากันยุง สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องออกไปทำสวน
กำลังโหลดความคิดเห็น