xs
xsm
sm
md
lg

กระบี่พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาหลายราย-สสจ.กระบี่สั่ง รพ.พบผู้ป่วยรีบทำการรักษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 5 ราย อีก 16 ราย รอผลการพิสูจน์ สสจ.กระบี่ สั่งโรงพยาบาลทั้ง 8 อำเภอ พบผู้ป่วยรีบตรวจรักษา ติดตามประมวลผลอย่างใกล้ชิด หวั่นเชื้อระบาด พร้อมเดินหน้าควบคุมโรค ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ควบคู่กับการต้านภัยไข้เลือดออกร่วมกัน

นายแพทย์ บัญชา ค้าของ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาในจังหวัดกระบี่ ที่มีการรายงานยืนยันมายังสาธารณสุขจังหวัดเพียง 5 ราย และยังมีผู้ป่วยอีก 16 รายที่รอผลการพิสูจน์ โดยจังหวัดกระบี่ มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 2 รายแรกก็เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 52 ซึ่งเป็นทหารที่เดินทางไปในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสแล้วกลับมาที่ค่ายทหาร ร.15 พัน 1 อ.คล่องท่อม ทางโรงพยาบาลกระบี่และสาธารณสุขจังหวัดได้ตรวจรักษาเฝ้าระวัง และควบคุมพื้นที่ก็ไม่มีการแพร่ระบาดจนทหารคนดังกล่าวหายเป็นปกติ

“สำหรับในพื้นที่ อ.อ่าวลึก ที่พบว่า มีการระบาดมาก ก็เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่อำเภออ่าวลึก ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดี่ยวกันคือไปเยี่ยมญาติทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พอกลับมาก็ปรากฏว่ามีการแพร่กระจายไปในครอบครัว เพราะฉะนั้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ก็มีความเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของเชื่อชิคุนกุนยา เพียง 5 ราย อีก 16 ราย รอการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาหรือไม่”

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า การสังเกตผู้ป่วยที่เป็นโรคชิคุนกุนยาจะมีอาการมาในลักษณะ เป็นกันหมดทั้งครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ตัวสาเหตุก็มาจากยุงลายเหมือนกันตัวเดียวกับที่นำไข้เลือดออก ซึ่งประเด็นตรงนี้คือเวลาผู้ใหญ่เป็นแล้วจะมีปัญหาในเรื่องของปวดข้อ จนไม่สามารถประกอบภารกิจในการทำงานได้ แล้วจะปวดหยุดๆหายๆต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงมีผลกระทบต่อภาวการณ์ทำงานของผู้ใหญ่ กรณีในเด็กนี้อาการไม่มากอาจจะมีไข้และมีผื่นขึ้นปวดเมื่อยบ้าง ซึ่งเด็กจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ถ้าผู้ใหญ่จะปวดมาก

“การเฝ้าระวังโรคชิคุนกุนยานั้น ทางสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ได้แจ้งข้อมูลไปยังทุกโรงพยาบาลทั้ง 8 อำเภอ หากพบผู้ป่วยที่มีประวัติว่าไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของโรคแห่งแรกของประเทศไทย ให้มีการคัดกรองแล้วก็ให้ความสำคัญในการตรวจรักษาและประเมินผล เพื่อจะวินิจฉัยโรคและเข้าไปควบคุมพื้นที่ได้ให้รวดเร็ว นอกจากนั้นยังแจ้งไปยังทุกอำเภอเพื่อที่จะประสานกับเจ้าหน้าที่ อสม. ในการควบคุมโรค หรือเรื่องของแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งจะทำควบคู่กับการต้านภัยไข้เลือดออกร่วมกัน ซึ่งจะทำให้โรคชิคุนกุนยาจะไม่สามารถแพร่หรือระบาดไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของจังหวัดกระบี่”
กำลังโหลดความคิดเห็น