xs
xsm
sm
md
lg

ฉะดันทุรังทดสอบแอร์พอร์ต ชี้สุดเสี่ยงเหตุ ICE ไม่รับรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ดันทุรังทดสอบแอร์พอร์ตลิงค์ 12 ส.ค. สุดเสี่ยง หวั่น ICE ยังไม่รับรองระบบความปลอดภัยให้ประชาชนใช้ฟรี หากเกิดอุบัติเหตุ ร.ฟ.ท.รับภาระไม่ไหว ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.นัดถกไล่เช็คความพร้อม 3 มิ.ย. เผยสัญญางานก่อสร้าง-ทดสอบระบบสิ้นสุดพ.ย.52 ขณะที่การจ้างบริษัทบริหารเดินรถมีขั้นตอนอย่างน้อย 7-8 ด. ส่วนแผนแผนธุรกิจต้องรื้อใหม่หลังคลังติงขาดทุน เหตุไม่คิดต้นทุนค่าเช่าราง-สถานี

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การทดสอบการเดินรถโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสารภายในเมือง (แอร์พอร์ตลิ้งค์) ในวันที่ 12 ส.ค.2552 นี้ที่จะให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้โดยไม่เก็บค่าโดยสารนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องประเมินด้วยว่าจะสามารถแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากในช่วงดังกล่าว ระบบทั้งหมดของโครงการยังไม่ได้รับการรับรองจากที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (Independent safety and system Certification Engineer :ICE) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรับรองประกันความมั่นคงและความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้า

เนื่องจากตามสัญญาก่อสร้างกลุ่มกิจการร่วมค้า บี.กริมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำ กำหนดว่างานก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาและการติดตั้งระบบรางและระบบไฟฟ้าเครื่องกล (E&M) จะต้องเสร็จในต้นเดือนส.ค.2552 จากนั้นจะต้องมีการทดสอบการเชื่อมต่อระบบ (integrate) อีก 3 เดือน และมีกำหนดส่งมอบงานทั้งหมดอย่างเป็นทางการให้ร.ฟ.ท.ในเดือนพ.ย.2552 ซึ่งหมายถึงส.ค. การรับรองจาก ICE ยังไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะการทดสอบการเชื่อมต่อระบบยังไม่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ หากสัญญาครบกำหนดในเดือนพ.ย.2552 แล้ว ICE ยังไม่รับรองระบบ ก็ถือว่าโครงการยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า บี.กริมม์จะต้องถูกปรับตามสัญญา วันละประมาณ 12 ล้านบาท

“การที่ ICE ยังไม่รับรอง แสดงว่า ระบบต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์ และยังไม่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน และพื้นที่ทั้งหมดก็ยังต้องถือว่ายังเป็นพื้นที่ก่อสร้าง หาก ร.ฟ.ท.จะให้ประชาชนขึ้นไปทดลองนั่งก็ต้องรับความเสี่ยงกรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้นเอง”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระแล้ววงเงิน 195 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2551-2554) โดยเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนม.ค.2552 ที่ผ่านมา สำหรับงานก่อสร้างสิ้นสุดเดือนเม.ย.2552 มีความก้าวหน้ารวม 97.12% โดยงานโยธาก้าวหน้า 99.26% งานระบบไฟฟ้าเครื่องกล (E&M) ก้าวหน้า 95.18%

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ดร.ฟ.ท. จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงค์มาประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ปัญหาเพื่อเร่งรัดงานให้เสร็จตามที่กำหนด และบอร์ดร.ฟ.ท.จะมีการประชุมในวันที่ 4 มิ.ย.  

แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท.กล่าวว่า เบื้องต้นร.ฟ.ท.ได้ศึกษาแผนธุรกิจพบว่า แอร์พอร์ตลิงค์จะมีรายได้จาก 2 ส่วน คือ ด้านเดินรถ และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ โดยในปี 2553 คาดว่าจะมีรายได้จากการเดินรถประมาณ  200 ล้านบาท จากพัฒนาพื้นที่ 200 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายประมาณ 370 ล้านบาทและคาดว่าจะเริ่มมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังให้ทบทวนใหม่ เนื่องจากไม่ได้นำค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนมาคิด เช่น เช่าราง ค่าเช่าพื้นที่สถานี เป็นต้น ซึ่งต้องจ่ายให้ร.ฟ.ท. โดยการศึกษาได้กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ SA-Express ที่ 150 บาทต่อคน และรถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ SA-City Line เฉลี่ย 32 บาทต่อคน และประมาณการณ์ผู้โดยสารรถด่วนเฉลี่ย 4,000 คนต่อวัน ส่วน City Line ประมาณ 40,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นการประมาณการณ์จากตัวเลขเมื่อปี 2004 ที่หักออก50% จากคาดการณ์ผู้โดยสารที่คาดว่าจะถึงแสนคนต่อวัน

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ต้องการหารายได้เสริมจากธุรกิจอื่นๆ เพราะการหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ไม่ใช้เรื่องง่าย และการกำหนดจุดตั้งร้านค้าต่างๆ ก็อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น โครงการนี้ไม่คุ้มทุนแน่นอน และอาจจะต้องพิจารณาหาแนวทางเพิ่มรายได้ หรือสร้างความคุ้มทุนให้โครงการ เช่น การขยายเส้นทางเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร เป็นต้น

นอกจากนี้ แผนธุรกิจจะต้องคิดต้นทุนในเรื่องค่าเช่า ราง ค่าเช่าสถานี ที่ต้องจ่ายให้ร.ฟ.ท. มาคำนวณด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเลื่อนกำหนดเปิดเดินรถเต็มรูปแบบจากเดิมเดือนธ.ค.2552 เป็นเดือนมี.ค.2553 นั้น นอกจากปัญหาเรื่องการก่อสร้างและความพร้อมของระบบแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องความพร้อมด้านระบบเช็คอินสัมภาระที่สถานีมักกะสัน (City Air Terminal : CAT) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งได้จ้างบริษัท Deutsche Bahn International (DBI) บริษัทเดินรถไฟจากประเทศเยอรมันเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกพนักงานด้านการเดินรถและฝึกอบรม วงเงิน 85 ล้านบาทต่อปี ส่วนผู้บริหารผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ จะว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะเข้ามาบริหาร ซึ่งมีขั้นตอนในการคัดเลือกอีกอย่างน้อย 7-8 เดือน หลังครม.เห็นชอบแผนปรับโครงการร.ฟ.ท.
กำลังโหลดความคิดเห็น