xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองรุมทึ้งแอร์พอร์ตลิงก์12 ส.ค.ทดลองแต่ยังใช้ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาการเมืองรุมทึ้งแอร์พอร์ตลิงก์ จับแยกส่วนหาประโยชน์ ทั้งการเดินรถ การซ่อมบำรุง งานบริหารสถานีเชิงพาณิชย์ ขณะที่ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกเดินรถ แต่ทำงานไม่เป็น สุดท้ายแบกภาระขาดทุนเหมือนเดิม "โสภณ" ทดลองนั่ง ประกาศ 12 ส.ค. เปิดวิ่งแต่ไม่ใช่เปิดใช้จริง! ด้านกลุ่มบีกริม-ซีเมนส์ฟุ้งร.ฟ.ท.ส่งซิกให้เดินรถด้วย ขณะที่บีทีเอส สนใจร่วมประมูลหากเปิดกว้าง จับตาซิโน-ไทยฯ อาจมีผลประกอบการเด่นเกินปกติ อาจโยกเงินตั้งสำรองโครงการกลับมาเป็นรายได้
วานนี้ (13 ก.พ.) นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารในเมืองหรือแอร์พอร์ตลิงก์ พร้อมกับทดลองนั่งรถแอร์พอร์ตลิงก์ จากสถานีรามคำแหงถึงสถานีสุวรรณภูมิโดยการขับเคลื่อนรถใช้ระบบ Manual โดยนายโสภณ เปิดเผยว่า ได้กำหนดเป้าหมายในการเปิดเดินรถโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ในวันที่ 12 ส.ค.52 แต่จะยังไม่มีการให้บริการด้านระบบเช็คอินสัมภาระที่สถานีมักกะสัน (City Air Terminal : CAT) โดยได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งแก้ไข ส่วนงานก่อสร้างขณะนี้มีความคืบหน้ากว่า 98%
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่าในส่วนของบริษัทลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งร.ฟ.ท.ได้ขอจดทะเบียนบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ไว้ชื่อ บริษัท เดินรถร่วมร.ฟ.ท.จำกัดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับอนุมัติจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกได้ใน15 วัน ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้าง สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดบุคลากร 51 คน เพื่อเข้ามาฝึกอบรมในส่วนงานเดินรถทั้งหมดในช่วงแรก
ทั้งนี้ ในส่วนของการตั้งบริษัทลูก ร.ฟ.ท.หากมีความล่าช้าจะมีการจัดจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาเดินรถก่อน เพื่อให้การเปิดบริการเดินรถเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ส่วนการกำหนดราคาค่าโดยสารนั้น บริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาตัวเลขที่เหมาะสมในเบื้องต้นในส่วนของขบวนรถด่วน (Express Way) จะจัดเก็บอัตรา 150 บาทต่อคน ส่วนขบวนรถ City Line ที่จอดรับผู้โดยสารตามสถานี 6 แห่ง จะเก็บค่าโดยสาร 30-50 บาทหรืออัตราเริ่มต้นที่ 30 บาท กิโลเมตรต่อไปเก็บกิโลเมตรละ1 บาท แต่ทั้งนี้อาจจะต้องพิจารณาปรับลดลงอีกเพื่อให้เหมาะสม

จับตาแบ่งเค้กแอร์พอร์ตลิงก์
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ 5 คน เพื่อวางแผนโครงสร้างบริษัทลูกและแผนธุรกิจ (Business Plan) ของโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ทั้งหมด ภายใต้หลักการร.ฟ.ท. จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการงานทั้งหมด ประกอบด้วย 1. การเดินรถ 2. การซ่อมบำรุง โดยในช่วงแรกงานบางส่วนยังคงต้องจ้างบริษัทซีเมนส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คน ร.ฟ.ท.
3.งานบริหารสถานีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามสถานีต่างๆ ทั้งร้านค้าและที่จอดรถ และ 4. งานบริหารระบบกระเป๋าสัมภาระ
โดยบริษัทลูกเดินรถจะมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำ เนื่องจากการจ้างบุคลากรใหม่ และไม่ต้องรับภาระด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นจากประมาณการจำนวนผู้โดยสาร คาดว่า รายได้จะเพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ขณะนี้มีความพยายามในการแยกงานเดินรถให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนบริษัทลูก ร.ฟ.ท.ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเดินรถเพิ่มขึ้นเพราะผู้รับจ้างเดินรถจะต้องบวกกำไรในการทำงานด้วย
ส่วนงานซ่อมบำรุงนั้น ในช่วง 3 ปีแรกของการเปิดใช้จะต่ำมาก แต่คาดว่าบริษัทซีเมนส์ จะได้รับงานในส่วนนี้ไปในลักษณะการทำสัญญาระยะยาว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาของร.ฟ.ท. คือไม่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าและการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมาก่อน จึงไม่มีราคากลางที่จะประเมินหากต้องว่าจ้างเอกชนทำแทน อย่างไรก็ตามการเร่งรัดให้เปิดเดินรถในวันที่12 ส.ค. 52 ให้ได้จะส่งผลเสียต่อ ร.ฟ.ท.มากกว่า เพราะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่ม นอกจากนี้ ในอนาคต ร.ฟ.ท.จะต้องเดินรถสายสีแดงช่วง บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ดังนั้นควรเริ่มต้นทำเองเพื่อเตรียมความพร้อม
"ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้วันที่ 12 ส.ค. มาบีบเพื่อเร่งเปิดเดินรถให้ได้ ทั้งที่ไม่พร้อม ถึงจะเปิดได้ก็ไม่เต็มระบบ ไม่สมบูรณ์ ในขณะที่โครงการล่าช้ามานานแล้ว หากรอให้ระบบสมบูรณ์ รถไฟเตรียมความพร้อมในการเดินรถและบริการทั้งหมดด้วยตัวเองจะมีความภูมิใจมากกว่า และจะเป็นการวางฐานรากให้บริษัทลูกรถไฟด้วย"แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของ ร.ฟ.ท. คาดว่างานโยธาและการติดตั้งระบบทั้งหมดจะเสร็จในเดือนมิ.ย.52 หรือจากนี้ไปอีก 4 เดือน จากนั้นจะต้องใช้เวลาในการเชื่อมระบบอีก 3 เดือน ( มิ.ย.-ส.ค.) และทดสอบการเดินรถ (Test Run) อีก 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.) แต่หากนโยบายต้องการเปิดเดินรถ 12 ส.ค.ซึ่งเป็นช่วงของการ ทดสอบการเดินรถก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ในเรื่องความปลอดภัยนั้นจะมีที่ปรึกษาอิสระ (ICE: Independent Certification Engineer) ตรวจสอบมาตรฐานของระบบต่างๆ ด้วย
ในขณะที่การก่อสร้างสิ้นสุดเดือนม.ค. 52 ภาพรวมมีความคืบหน้า 96% โดยในส่วนงานโยธาคืบหน้า 97% งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) คืบหน้า 94.8% อย่างไรก็ตาม บริษัทบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการได้สิทธิ์ในการขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 180 วัน ทำให้สัญญาก่อสร้างจะไปสิ้นสุดในวันที่ 6 ส.ค. 2552 จากเดิมสิ้นสุด 7 ก.พ. 2552
อนึ่ง จากปัญหาหลายด้านๆ ในโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ส่งผลให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ ต้องประสบปัญหาในหลายเรื่อง และผลจากความล่าช้า ทำให้บริษัทตั้งสำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งจะปรากฏได้ว่า ในปี 2549 บริษัท มีผลขาดทุนสูงถึง 1,800 ล้านบาท ซึ่งปัญหาสำคัญเกิดจากโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ทำให้ต้องตั้งสำรองสูงถึง 900 ล้านบาท ประกอบกับความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง ทำให้ต้นทุนของโครงการได้เพิ่มจาก 12,000 ล้านบาท ขยับเป็น 13,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในทางบัญชีแล้วหากโครงการดังกล่าวมีการส่งมอบ โอกาสที่บริษัทจะมีผลประกอบการโดดเด่นสูงกว่าปกติเป็นไปได้สูง จากการปรับเปลี่ยนเงินสำรองมาเป็นรายได้ ซึ่งถึงเวลานั้น การเก็งกำไรหุ้นของบริษัทซิโน-ไทยฯ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้น

บีกริม-ซีเมนส์บอกร.ฟ.ท.ให้เดินรถด้วย
แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ระบุว่า ในเบื้องต้นร.ฟ.ท.ได้ประสานเพื่อว่าจ้างให้บริษัท ซีเมนส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ในช่วง 2-3 ปีแรก เนื่องจากร.ฟ.ท.ไม่มีความพร้อมในการเดินรถเอง ซึ่งซีเมนส์เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จึงได้เปรียบและสามารถฝึกบุคลากรได้เร็วกว่าบริษัทอื่นๆ และทันกับการเปิดใช้ 12 ส.ค.52
ในขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฎิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า บีทีเอส สนใจที่จะเข้ารับจ้างเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์หากร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลเพื่อว่าจ้างเอกชนเข้ามาบริหารการเดินรถแทนในช่วงแรกที่ร.ฟ.ท.ยังไม่มีความพร้อม โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการฝึกบุคลากรประมาณ 6เดือน- 1 ปี ถึงจะสามารถให้บริการได้ โดยเฉพาะคนขับรถไฟฟ้าที่ใช้ระบบออโตเมติกทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเดินรถไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทซีเมนส์ โดยซีเมนส์เป็นหนึ่งในกลุ่มกิจการร่วมค้า บี.กริมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ รับผิดชอบเกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้า โดยมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบงานก่อสร้าง ดังนั้นในการเข้ามารับจ้างร.ฟ.ท.เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์นั้น จะต้องเป็นการร่วมทุนกับบริษัทอื่น โดยซีเมนส์จะเข้ามาในส่วนของการซ่อมบำรุงและถ่ายทอดเทคโนโลยีเท่านั้น

"โสภณ"เน้นยกระดับบริการลดอุบัติเหตุ
นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า รมว.คมนาคมได้ให้นโยบายร.ฟ.ท. เน้นความปลอดภัยของผู้โดยสาร และสินค้า รวมถึงการจัดทำแผนการเดินรถธุรกิจ เพื่อเป็นการเร่งรัดการล้างหนี้สินขององค์กร และเร่งรัดการจัดทำแผนจุดตัดรถไฟ เพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการ และยกระดับความปลอดภัย และในวันที่ 24 ก.พ.นี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะประชุมเพื่อพิจารณาในส่วนของค่าดอกเบี้ย ของเงินลงทุนก่อสร้างอาคารสถานีและอุโมงค์ใต้อาคารผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ ร.ฟ.ท.จะต้องจ่ายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งในส่วนของค่าก่อสร้าง 4,111 ล้านบาทนั้น ร.ฟ.ท.ได้จ่ายให้ทอท.ไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น