xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวงนำกระแสลดดบ.บัตร2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์กรุงเทพนำร่องโชว์ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต 2% เหลือ 18% ระบุเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป และเป็นอัตราที่ต่ำสุดของสถาบันการเงิน ขณะที่ไทยพาณิชย์ยันยังไม่มีนโยบายลดอ้างลูกค้ากว่า 70%ชำระเต็มจำนวน รับแม้ต้นทุนจะลดลงแต่ยังคงต้องระวังด้านความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอยู่ ด้านกสิกรฯรอพิจารณาความเหมาะสม โดยเฉพาะภาระต้นทุน

นายบดินทร์ อูนากูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อบัตรเครดิตลง 2.00% จากปกติ 20.00% เป็น 18.00% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดในสถาบันการเงิน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 หลังจากที่ธนาคารได้นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พื้นฐานทั้ง MLR MOR และ MRR ไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตที่อาจได้รับผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ภาย

"ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้นำร่องในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อบัตรเครดิต เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อบัตรเครดิตที่ต่ำที่สุดของสถาบันการเงินในประเทศที่ให้บริการบัตรเครดิต"นายบดินทร์ กล่าว

ใบโพธิ์ยันยังไม่มีนโยบายลดตาม

ด้านนายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายผลิตภัณฑ์สินเชื่อลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตลง เพราะพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคาร มียอดการผ่อนชำระน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น โดยมีสัดส่วนเพียง 20-30% เท่านั้น ในขณะที่ยอดการชำระเต็มมีสัดส่วนสูงถึง 70-80% แต่ยอมรับว่า ต้นทุนทางการเงินในปัจจุบันลดลงจริง แต่การที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตลง ก็ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในอนาคตด้วย รวมถึงต้องพิจารณาถึงยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอนาคตด้วย แต่ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์นั้นมียอดเอ็นพีแอล ณ สิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที 2% เท่านั้น

"การปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ก็ถือว่าเป็นการช่วยลดภาระลูกค้าได้จริง แต่คนที่ผ่อนชำระบัตรเครดิต ก็คงยังต้องผ่อนเหมือนเดิม ซึ่งการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตไม่ได้ช่วยทำใหพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางกลับกันก็จะทำให้การจัดรายการส่งเสริมการขายในระบบลดลงไปด้วย รวมทั้งการติดตามหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย การอนุมัติบัตรใหม่ก็จะยากขึ้น"

กสิกรฯรอพิจารณาด้านต้นทุน

นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและสถานะของแต่ละแห่งว่าเป็นอย่างไร

ส่วนเป้าหมายธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนบัตรใหม่ประมาณ 3 แสนบัตร ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็ยังพลาดเป้าหมายไปเล็กน้อย แต่เชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยธนาคารจะมีการธุรกิจร่วมกับพันธมิตรด้วยการออกบัตรร่วม (Co-Brand) อย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด ธนาคารได้ร่วมมือกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดตัวบัตรเคดริตร่วมแอร์เอเชีย – กสิกรไทย มุ่งตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าที่นิยมเดินทางเป็นประจำ พร้อมมอบสิทธิพิเศษมากมาย เช่น รับคะแนนสะสมพิเศษ 3 เท่า เป็นต้น โดยธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนบัตรใหม่ได้ 1 แสนบัตร โดยแยกออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยจะมาจากลูกค้าเดิมของแอร์เอเชียที่เคยถือบัตรร่วมของเอเชียอยู่แล้ว 30% มาจากเครือข่ายของแอร์เอเชีย 30% และอีก 40% จะมาจากเครือข่ายของธนาคารกสิกรไทย

ด้านเป้าหมายการควบคุมหนี้เอ็นพีแอลไว้ที่ 2.5% ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ 2.05% ซึ่งระดับดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าธนาคารมีการจัดการบริหารความเสี่ยงได้ดี

นางสาวอัญชลี จรัสยศวุฒิชัย ผู้อำนวยการฝ่าย บริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดบัตรเครดิต ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องพิจารณาในเรื่องของรูปแบบการเงินประกอบด้วย เนื่องจากมีเรื่องการสำรอง และเอ็นพีแอลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะทิศทางโดยรวมเอ็นพีแอลจะปรับตัวขึ้น ดังนั้นจะต้องพิจารณาให้ดีที่สุด แม้ว่าปัจจุบันเอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 2% แต่ก็จะควบคุมไม่ให้เกิน 2.5% จากพอร์ตยอดสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้าง 18,000 ล้านบาท

"หากพิจารณาในอุตสาหกรรมบัตรเครดิต แล้วทิศทางควรจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าพอร์ตของแต่ละแบงก์ด้วยว่ามีคุณภาพลูกหนี้ของแต่ละแบงก์ก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องสนองรัฐบาลด้วย ซึ่งเราคงต้องพิจารณาว่าช่วงเศรษฐกิจถดถอย เราอาจต้องทำเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือ ชั่วคราว เพื่อรักษาสถานภาพอุตสาหกรรมบัตรเครดิตเอาไว้ เพราะหากเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาจะมีปัญหากับลูกค้า"

หากสุดท้ายแล้วธนาคารต้องปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตจริง ก็จะต้องมีการแก้ระบบไอทีด้วย แต่ที่สำคัญในการจะปรับหรือไม่ปรับลด ก็ต้องดูต้นทุนเป็นหลัก เพราะแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ปรับลดลงแล้ว อัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์ทุกตัวต้องปรับลดลงไปตามด้วย

นางสาวอัญชลีกล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนคาดหวังว่าเมื่อปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ก็เชื่อว่ายอดการใช้จ่ายน่าจะปรับตัวขึ้น แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะต้องขึ้นอยู่กับการจัดโปรโมชั่นด้วย สำหรับกสิกรไทยยังคงเดินหน้าจัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเดือนละ 15-20 รายการ เพื่อให้ยอดการใช้จ่ายโดยรวมเพิ่ม 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น