xs
xsm
sm
md
lg

ขาใหญ่ทยอยลดดอกเบี้ยกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กสิกรไทย (KBANK) มาแรงแซงโค้ง ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ 0.25% ส่วนดอกเบี้ยเอ็มโออาร์และเอ็มอาร์อาร์ลดลง 0.20 และ 0.15% ตามลำดับ ขณะที่ไทยพาณิชย์ (SCB) ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกชนิดลง 0.15% ส่วนแบงก์กรุงเทพที่ประกาศหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ไปล่วงหน้า 0.125% วันนี้เปิดตัว 2 เงินฝากประจำ 3 เดือน ขายควบกองทุน ดอกเบี้ยบวกเพิ่ม 0.25% แบงก์ชาติยังงึกๆงักๆ สร้างสูตรคำนวณต้นทุนให้ธนาคารแต่ละแห่งลดดอกเบี้ยเงินกู้

หลังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเจ้าแรกในอัตรา 0.125% วานนี้ (21 พ.ค.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ประกอบด้วยดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์จากลดลง 0.25% จาก 6.10 มาอยู่ที่ 5.85% ดอกเบี้ยเอ็มโออาร์ลดลง 0.20% จาก 6.35 ลงมาอยู่ที่ 6.15% และเอ็มอาร์อาร์ลดลง 0.15% จาก 6.60 เหลือ 6.45% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2552 เป็นต้นไป
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.15 % ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ปรับลดจากเดิม 6.15 % เป็น 6.00 % ดอกเบี้ย MOR ปรับลดลงจากเดิม 6.40 % เป็น 6.25 % และอัตราดอกเบี้ย MRR ปรับลดลงจากเดิม 6.65 % เป็น 6.50 % เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและขานรับนโยบายของทางการ ทั้งนี้ ไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่มีมูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) เป็นอันดับหนึ่งของสถาบันการเงินในประเทศ

***บัวหลวงเปิดตัว 2 เงินฝากใหม่
นางรัชนี นพเมือง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าบุคคลนครหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าบุคคลที่เน้นรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก ในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารได้สร้างสรรค์ 2 บริการใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารกรุงเทพ กับผลิตภัณฑ์การลงทุนในกองทุนรวม ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในชื่อ "บัญชีเงินฝากประจำคู่ธนทวี" และ "บัญชีเงินฝากประจำผสาน RMF LTF" พร้อมมอบข้อเสนอพิเศษด้วยอัตราดอกเบี้ยบวกเพิ่ม 0.25% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยปกติ วงเงินฝากเริ่มต้นเพียง 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ระยะเวลาการฝาก 3 เดือน พร้อมกับลงทุนวันเดียวกับการฝากเงินในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี หรือกองทุนเปิดบัวหลวงเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (LTF) ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2552
สำหรับรายละเอียดของ "บัญชีเงินฝากประจำคู่ธนทวี" นั้น ลูกค้าเพียงเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ ประเภทประจำ 3 เดือน ตั้งแต่ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท พร้อมกับนำเงินมาลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวีในวันเดียวกันเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป โดยธนาคารได้กำหนดเงื่อนไขให้ลูกค้าจะต้องคงเหลือจำนวนหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ตั้งแต่วันที่เปิดบัญชีจนถึง 10 วันก่อนวันที่ครบกำหนดระยะเวลาการฝากต้องไม่น้อยกว่าจำนวนหน่วยลงทุน ณ วันที่เปิดบัญชีเงินฝากประจำคู่ธนทวี ลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน บวกดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มอีก 0.25% ต่อปี
ด้าน "บัญชีเงินฝากประจำผสาน RMF LTF" ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันกัน แตกต่างกันเพียงรูปแบบการลงทุน โดยลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ ประเภทประจำ 3 เดือน ตั้งแต่ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท พร้อมกับนำเงินมาลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ/หรือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (LTF) ในวันเดียวกันเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป โดยธนาคารได้กำหนดเงื่อนไขให้ให้ลูกค้าจะต้องคงเหลือจำนวนหน่วยลงทุนในกองทุนเปิด RMF และ LTF ตั้งแต่วันที่เปิดบัญชีจนถึง 10 วันก่อนวันที่ครบกำหนดระยะเวลาการฝากต้องไม่น้อยกว่าจำนวนหน่วยลงทุน ณ วันที่เปิดบัญชีเงินฝากประจำ RMF LTF ลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน บวกดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มอีก 0.25% ต่อปี
"สำหรับบริการบัญชีเงินฝากทั้ง 2 ประเภทนี้ ธนาคารได้สร้างสรรค์ขึ้นเฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดา ที่เปิดบัญชีเงินฝากและลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวม ในชื่อและวันเดียวกัน จำกัดไม่เกินประเภทละ 1 บัญชี โดยมียอดเงินฝากได้ 1 ยอด ต่อ 1 บัญชีเท่านั้น" นางรัชนีกล่าว

***ธปท.ต้วมเตี้ยมคิดสูตรชงแบงก์
นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้สร้างสูตรการคิดคำนวณต้นทุนให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งนำไปวิเคราะห์ว่าสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีกหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ธปท.ประเมินเบื้องต้นจากสูตรนี้ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ จึงสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีก
อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งต่างมีต้นทุนมีหลากหลายประเภท และตัวแปรที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ซึ่งธปท.จะเรียกสถาบันการเงินแต่ละแห่งมาคุยต่อไป เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สมเหตุสมผล
“เราใช้สูตรนี้ เพื่อดูท่าทีแบงก์มากกว่า ซึ่งขณะนี้แบงก์ในระบบต่างเริ่มทยอยนำสูตรนี้ไปศึกษากัน จึงเชื่อว่าแบงก์ในระบบจะไม่มีการฮั้วเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่จะศึกษาต้นทุนแท้จริงในการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า”
ทั้งนี้ แม้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อมีหลายมิติให้ต้องคำนึงถึงไม่ว่าภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยรึเปล่า หรือเมื่อขอสินเชื่อไปแล้วจะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้รึไหม แต่สิ่งที่ธปท.พยายามจะบอกธนาคารพาณิชย์เสมอ คือ อย่าตัดท่อน้ำเลี้ยงของภาคธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อ แม้คำสั่งซื้อในขณะนี้มีไม่เยอะ ทำให้ขยายธุรกิจน้อย แต่อย่าตัดวงเงิน
เพราะเขาสามารถนำเงินเหล่านั้นไปปรับปรุงกิจการ หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ ฉะนั้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจใหม่หวังขอสินเชื่อใหม่โอกาสเกิดน้อยอยู่แล้ว แบงก์หันมาให้คำแนะนำลูกค้าในการปรับปรุงกิจการดีกว่า
ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยก็มีกำไร หนี้เอ็นพีแอลก็มีการสำรองไว้เยอะแล้ว จึงลดความกังวลได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันที่ผ่านมาหลายแบงก์ที่มีปัญหาในเรื่องต่างๆ ก็สามารถเข้ามาคุยกับเรา ซึ่งเราก็ยืดหยุ่นให้เสมอ โดยเฉพาะกฎเอ็นพีแอลที่เป็นอุปสรรค ซึ่งที่ผ่านมามีแบงก์บางรายเข้ามาขอผ่อนผันการจัดชั้นหนี้ของลูกค้าบางรายที่ยังไม่เข้าข่ายหากมองไปในอนาคตที่ลูกหนี้รายนั้นยังสามารถมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหากไม่ติดอุปสรรคอะไรเราก็ผ่อนผันให้

***รอแบงก์เอ็นดูส่งหนังสือประชุม
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ยังไม่ได้หนังสือผลการประชุมสมาคมธนาคารไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเลขาสมาคมธนาคารไทยแจ้งว่านายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทยติดภาระกิจที่ต่างประเทศ จึงคาดว่าสมาคมธนาคารไทยจะหารือเพิ่มเติมและหาข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า และ ธปท.จะรอดูผลการประชุมก่อนอีกครั้ง
"การยกเว้นค่าธรรมเนียมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ซึ่งยอมรับว่าธนาคารพาณิชย์บางรายแย้งบ้างสำหรับแนวทางนี้ แต่หากสุดท้ายแล้วหากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะดูข้อกฎหมายอีกครั้งว่าสามารถดำเนินการได้แค่ไหน แต่จริงๆ ไม่อยากให้เป็นการบังคับมากกว่า ส่วนเรื่องความคืบหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คาดว่าภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ธนาคารพาณิชย์จะส่งเรื่องวงเงินกู้รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ มาให้ ธปท."
กำลังโหลดความคิดเห็น