xs
xsm
sm
md
lg

“วิโรจน์” ชำแหละแบงก์ ฮั้วดอกเบี้ย-ธปท.ให้ท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายหลังเฝ้ามองสถานการณ์เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก อยู่ระยะหนึ่ง “วิโรจน์ นวลแข” อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย และอดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.ภัทร) เห็นความไม่ปกติ และปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากระบบสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นับวันยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะบทบาทในการร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2 สถาบันดังกล่าวไม่เพียงไม่ร่วมมือ แต่ยังซ้ำเติม!!!

แบงก์พาณิชย์ผูกขาด-แบงก์ชาติหนุนหลัง
วิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย และอดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.ภัทร)
วิโรจน์ มองว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบสถาบันการเงินที่ยังคงเป็นระบบผูกขาด ทำให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ ไร้ความสามารถจากต้นทุนดอกเบี้ยที่แพง ลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ เพราะผลตอบแทนการฝากเงินถูกธนาคารพาณิชย์กดไว้ในระดับที่ต่ำเกิน โดยไร้ทางเลือกในการออมในรูปแบบอื่นๆ

ดังนั้น “ไม่ฮั้วก็เหมือนฮั้ว” เพราะว่าแม้ธนาคารพาณิชย์จะมีมากกว่า 10 แห่ง แต่การปรับขึ้นหรือลดลงของดอกเบี้ยทุกครั้ง มีอัตราเท่ากัน และในเวลาที่พร้อมกัน นอกจากปรับดอกเบี้ยขึ้นง่ายแต่ปรับลดยากแล้ว เวลาปรับลดจะลดดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าเงินกู้ ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) ถ่างสูง ยิ่งเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนแล้ว พบว่า ไทยเป็นรองแค่ อินโดนีเซีย เป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจาก ธปท.

ที่น่าเป็นห่วง คือ ธปท.ให้อิสระธนาคารพาณิชย์เรื่องขึ้นลงอัตราดอกเบี้ย เห็นได้ว่า ครั้งล่าสุด ธปท.โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ปรากฏว่า กว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับลดตาม ใช้เวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ โดยลดดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ คือ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ลดดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5%

“ถ้าไม่ฮั้ว ทำไมไม่มีแบงก์ไหนคิดที่จะเพิ่มผลตอบแทน หรือคิดดอกเบี้ยเพิ่มให้บัญชีลูกค้าออมทรัพย์ที่ไม่เคยถอนเงินติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือบางรายเหลือเงินเดือนไว้ในบัญชีออมทรัพย์ทุกเดือน แต่ยังได้ดอกเบี้ยเท่าเงินฝากออมทรัพย์ ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่คิด แต่แบงก์ซึ่งรู้ต้องคิด ไม่ใช่ปิดข้อมูลหรือหากินบนความไม่รู้ของประชาชน”

ประเด็นปัญหา คือ คู่แข่งขันในระบบสถาบันการเงิน มีไม่เพียงพอ เมื่อผู้มีอำนาจไม่สนับสนุนให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง หากสถานภาพสถาบันการเงินไทยยังอยู่แบบเดิม โอกาสที่ส่วนต่างดอกเบี้ยจะแคบลงแทบไม่มี

“ผมสนใจเรื่องบั่นทอนอารมณ์คนฝาก คิดดูได้ดอกเบี้ยแค่ 0.75% จะไปฝากทำไม หันไปทางไหนก็ไม่มีทางเลือก เพราะแบงก์ขยับพร้อมกัน ส่วนตลาดตราสารทั้งพันธบัตรหรือหุ้นกู้ก็ไม่มีให้เลือกมากนัก”

ทางการควรแก้ไขโดยเพิ่มคู่แข่งในระบบ ส่วนธนาคารของรัฐก็ควรควบรวมเพื่อเพิ่มขนาด สามารถต่อรองหรือชี้นำตลาดได้ เพราะธนาคารพาณิชย์เอกชนเป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งตลาด

อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เห็นด้วยว่า ธปท.ไม่เพียงแต่ไม่ดูแลประชาชน กลับซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น ถ้าเป็นไปได้ ต้องเลิกเรียกเก็บเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟู 0.4% ต่อปี ที่ธนาคารพาณิชย์ไปหาเงินส่ง ธปท.ด้วยการหักดอกเบี้ยลูกค้าเงินฝาก

วิโรจน์ แนะทางออกให้ ธปท.ว่า ควรหาค่าต๋งธนาคารพาณิชย์ด้วยการไปเก็บเพิ่มในค่าใบอนุญาต (ไลเซนส์) แบบรายปี

ชำแหละ “ส่วนต่างดอกเบี้ย” ถ่างกว้าง 5%

ตอนนี้ใครก็ตามที่ลงทุนในธนาคารพาณิชย์ จะได้รับผลประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นเสือนอนกิน ผู้ที่ได้ประโยชน์มากสุด คือ ต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเกือบทุกแห่ง คนที่ถูกลงโทษ คือ ลูกค้า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีทุนไม่เพียงพอ ยิ่งไม่ปรับตัวมาดูแลลูกค้า ต่อไปต่างชาติก็จะเข้ามาฮุบโดยเจ้าของเดิมไม่มีทางเลือก ไม่เว้นธนาคารของรัฐ

ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย ที่เฉลี่ยสูงถึง 5% สูงเป็นอันดับ 2 ในประเทศอาเซียน เป็นรองแค่ อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ธนาคารเหล่านี้เปิดเผยต่อสาธารณะ ว่า ได้ส่วนต่างดอกเบี้ยแค่ 2.5% เท่านั้น อีก 2.5% ที่เหลือ คือ ต้นทุนการบริหาร

“ต้นทุนการบริหารงานในความหมายของแบงก์ คือ การรวมเอาเงินนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟู 0.4% กับค่าบริหารหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อีก 0.8-1.0% การนำสองส่วนนี้มารีดจากดอกเบี้ย ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะสองส่วนดังกล่าวโดยเฉพาะค่าบริหารเอ็นพีแอล ถือเป็นความรับผิดชอบของแบงก์ หากเกิดหนี้เสียสิ่งที่ต้องทำ คือ การเพิ่มทุน แต่แบงก์ไม่ยอมเพิ่มทุน หากธนาคารไม่นำส่งเงินให้กองทุนฟื้นฟูฯ กับค่าบริหารหนี้เสียมารวมเป็นต้นทุน ดอกเบี้ยลูกค้าเงินกู้ในปัจจุบันลงได้ประมาณ 0.5% ส่วนผู้ฝากเงินก็จะได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 0.4%”

กลุ่มผู้ฝากเงินคือลูกค้าที่กู้ยากแถมแพง

ระบบสถาบันการเงินในปัจจุบัน ลูกค้ารายย่อย หรือประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เพราะธนาคารส่วนใหญ่ปฏิเสธ ทั้งๆ ที่รายย่อยควรจะได้รับโอกาสมากกว่านี้ อย่างน้อยกลุ่มที่ได้ชื่อว่ารายย่อย คือ ผู้เงินฝากให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้

ตัวอย่าง เช่น บัญชีธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่ติด 1 ใน 4 ของไทย เมื่อปี 2548 มีลูกค้า 19.5 ล้านบัญชี ปรากฏว่า เป็นบัญชีผู้ฝาก ใน 18 บัญชี ประกอบด้วย บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 16 ล้านบัญชี ฝากประจำ 2 ล้านบัญชี มีลูกค้าเงินกู้แค่ 1.5 ล้านบัญชีเท่านั้น แปลว่า ธนาคารกำลังนำเงินรายย่อยไปช่วยรายใหญ่กว่า แถมด้วยการคิดดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยที่แพง

“ดอกเบี้ยในไทยสลับซับซ้อนไม่เป็นธรรมต่อรายย่อย ทั้งๆ ที่ควรคิดดอกเบี้ยพื้นฐาน หรือแบ่งระดับไม่เกิน 2 อัตรา อย่างในสหรัฐฯยึด Prime Rate หรืออังกฤษใช้ Base Rate แต่ไทยแบ่งหลายระดับทั้ง MLR (ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี) MOR (ลูกค้ารายใหญ่เบิกเกินบัญชี) MRR (รายย่อย) ซึ่งรายย่อยจะจ่ายดอกเบี้ยแพงที่สุด ส่วนใน MLR ก็ยังมีบวกลบตามความเสี่ยงของลูกค้าว่ารายไหนชั้นดีกว่า”

ปรับวิธีปล่อยกู้ก่อนพังซ้ำทั้งระบบ

“ประชาชนมีสิทธิเป็นลูกค้าเงินกู้ธนาคาร เฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย เกือบทุกธนาคารเมื่อเห็นลูกค้าที่เป็นประชาชนจะปฏิเสธไว้ก่อน หรือถ้าจะปล่อยกู้ก็จะคิดดอกเบี้ยแพงกว่าลูกค้าบริษัท โดยที่ยังไม่ได้ดูหลักประกัน ฐานะ หรือความมั่นคงทางด้านการงาน ซึ่งบางรายแทบไม่มีความเสี่ยง”

อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับสภาพคล่อง มองฐานะตัวเองเป็นหลัก สร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และระบบเศรษฐกิจ เขาแนะนำว่า ปล่อยกู้ที่เป็นธรรมและเสริมซึ่งกันและกันระหว่างธนาคารกับลูกค้า คือ การลดน้ำหนักฐานะทางการเงินของตัวเอง เพิ่มน้ำหนักฐานะของลูกค้า นอกจากพิจารณาผลประกอบการของลูกค้าแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในกิจการนั้นๆ เช่น การขึ้นลงของราคาน้ำมัน

แบงก์ต้องเป็น Micro Finance มากขึ้น

ทิศทางที่ถูกต้องในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ คือ การปรับเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยมากขึ้น บางครั้งเรียกว่า ธนาคารชุมชุม เข้าถึงหมู่บ้านในต่างจังหวัด เพราะประชาชนในต่างจังหวัดมีระเบียบวินัยในการชำระหนี้ ถ้าธนาคารใช้ระบบประกันกลุ่มเข้าไปรองรับแล้วเชื่อว่าปัญหาหนี้เสียจะเกิดขึ้นน้อยมาก ที่สำคัญเป็นการวางรากฐานธุรกิจในระดับ Micro เกื้อหนุนธนาคารและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแท้จริง

“หนี้เสียที่เหมาะสม คือ 2% แต่ธนาคารที่เน้นรายใหญ่ในปัจจุบันมีเอ็นพีแอลเกิน 2% ทั้งนั้น ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ปัญหาหนี้เสียเกิดจากรายใหญ่ ผมคิดว่าแบงก์ชุมชุนมีความเสี่ยงต่ำ เพราะประชาชนในหมู่บ้านมีวินัยสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ จะเห็นได้ว่า มีหลายประเทศ แม้แต่บังกลาเทศ หรือ โบลิเวีย ธุรกิจแบงก์ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น Micro Finance มากขึ้น”

วิโรจน์ ทิ้งท้ายพร้อมฝากเตือนธนาคารพาณิชย์ และ ธปท.อย่าทำให้การทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ คือ การมุ่งหวังผลกำไร โดยหวังว่า ธนาคารจะอยู่รอด เพราะถ้าธนาคารอยู่รอดแล้วผู้ประกอบการเจ๊ง ธนาคารก็มีปัญหา อยู่ไม่ได้ สุดท้ายเข้าวังวนเดิม ธปท.เข้าไปอุ้ม ปัญหาเดิมก็จะกลับมา เหมือนปี 2540 ที่ทางการอัดฉีด 2.2 ล้านล้านบาท จนวันนี้แบงก์พาณิชย์ก็ยังประสบปัญหาความไม่พอของเงินทุน และถูกต่างชาติเข้าฮุบกิจการ ที่อยู่ได้ เพราะรีดดอกเบี้ยลูกค้ามาโปะ ทำไมไม่ทำให้ลูกค้ารอด เพื่อธนาคารจะได้แข็งแกร่ง เศรษฐกิจโดยรวมก็เดินหน้าต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น