xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” สวนหมัด “เสี่ยปั้น” แนะเลิกฟันส่วนต่าง ดบ.บนหลัง ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
“กรณ์” สวนกลับ “บัณฑูร” ยันให้เสียสละหั่น “สเปรด” ดบ.กู้-ฝาก เพราะต้องการให้มีส่วนร่วมกันรับผิดชอบสังคม ตอกแบงก์พาณิชย์ ลดส่วนต่าง ดบ.กู้-ฝากให้ลูกค้าได้เองอยู่แล้ว เพราะคุมส่วนแบ่งการตลาด ไม่ต้องไขสือรอแบงก์รัฐชี้นำ ส่วนข้อเสนอให้หารือแบงก์ชาติ แทรกแซงอัตรา ดบ.นั้น ขอรับไว้พิจารณา "วิโรจน์" แฉที่มาส่วนต่างดอกเบี้ยถ่าง พบขูดรีดสูงถึง 5% เพราะแบงก์เอาต้นทุนนำส่งกองทุนฟื้นฟู-ค่าบริหารหนี้เสีย นำมาหักดอกเบี้ยฝาก-โปะใส่ดอกเบี้ยกู้ แนะเลิกโยนความรับผิดชอบต้นทุนตังเองเป็นภาระให้ลูกค้า
วันนี้ 22 มกราคม 2552 นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่สถาบันการเงินเอกชน แนะนำให้ธนาคารของรัฐนำร่องลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (สเปรด) โดยระบุว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนใหญ่นั้นเป็นของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสถาบันการเงินเอกชนควรลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากได้เลย ไม่ต้องรอธนาคารของรัฐ และการริเริ่มหลัก ควรมาจากธนาคารพาณิชย์เอง

"กรณี สเปรดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบธนาคาร ผมมองว่ายังมีส่วนต่างสูงเกินไป และต้องการเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ ร่วมมือในการปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพราะเห็นว่า สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกฝ่ายควรต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม และทำในสิ่งที่คิดว่าจะช่วยได้"

รมว.คลัง ยืนยันว่า สิ่งที่ได้นำเสนอไปเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตุ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กำหนด สเปรดระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากให้เกิดความเหมาะสม เพราะมองว่าหากธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้สูง และมีผลทำให้สเปรดของดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากห่างกันมาก ท้ายที่สุดแล้วจะมีผลกระทบกับลูกค้าของธนาคาร และในระยะยาวอาจจะกระทบมาถึงธนาคารเองด้วย

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงแนวคิดที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องการให้กระทรวงการคลังหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแทรกแซงอัตราดอกเบี้ยนั้น ตนเองคงจะรับไว้ เพื่อพิจารณา ส่วนมาตรการกระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นการช่วยเหลือการจ้างงาน และธุรกิจภาควัตถุดิบ ส่วนกรณีที่อุตสาหกรรมอื่นต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือนั้น คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมก่อน

สำหรับข้อเสนอของนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการให้ธนาคารของรัฐเป็นฝ่ายนำร่องลดดอกเบี้ย หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ธนาคารของรัฐมีบทบาทสำคัญในการดูแลประชาชนและลูกค้าอยู่แล้ว และส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่กว่า 80% จะอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์

สำหรับผลประกอบการปี 2551 ของธนาคารพาณิชย์ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ 11 แห่ง ปรากฎว่า มีกำไรสุทธิ 8 หมื่นล้าน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1,458% ธนาคารที่มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นมากสุดเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์คือ ธนาคารหลวงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ตามลำดับ ส่วนธนาคารกสิกรไทยกำไรทั้งสิ้น 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.75% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 7%

นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดยยืนยันว่า มีการเอาเปรียบลูกค้าทั้งลูกค้าเงินฝากและลูกค้าเงินกู้ เห็นได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย ที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ โดยปัจจุบันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 5% สูงเป็นอันดับ 2 ในประเทศอาเซียน เป็นรองแค่อินโดนีเซียเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ไทย มักอ้างว่าได้ส่วนต่างดอกเบี้ยแค่ 2.5% เท่านั้น อีก 2.5% ที่เหลือเป็นต้นทุนการบริหารงาน เรื่องดังกล่าว ตนถือว่าไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะธนาคารไม่จูงใจให้ผู้ฝากเกิดการออม ส่วนผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพง

นายวิโรจน์ ระบุว่า ต้นทุนการบริหารงานในความหมายของแบงก์ คือ การรวมเอาเงินนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟู 0.4% กับค่าบริหารหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อีก 0.8-1.0% การนำสองส่วนนี้มารีดจากดอกเบี้ยถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะสองส่วนดังกล่าวโดยเฉพาะค่าบริหารเอ็นพีแอลถือเป็นความรับผิดชอบของแบงก์ หากเกิดหนี้เสียสิ่งที่ต้องทำคือการเพิ่มทุน แต่แบงก์ไม่ยอมเพิ่มทุน
นายวิโรจน์ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า หากธนาคารไม่นำเงินนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟู กับค่าบริหารหนี้เสียมารวมเป็นต้นทุน ดอกเบี้ยลูกค้าเงินกู้ในปัจจุบันลงได้ประมาณ 0.5% ส่วนผู้ฝากเงินก็จะได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 0.4%
กำลังโหลดความคิดเห็น