xs
xsm
sm
md
lg

บัณฑูรอัดการเมืองตัวถ่วงแก้เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"บัณฑูร" ชำแหละการเมืองตัวถ่วงเศรษฐกิจและประเทศไทย เหตุรัฐบาลไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จโดนพรรคร่วมต่อรอง-กติกาใหญ่ไม่นิ่งจ้องแต่จะแก้รัฐธรรมนูญ ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องเจอ ส่ายหัวรถเมล์NGVขึ้นข่าวหน้า 1 ทุกวัน ไม่มีที่ไหนในโลก ชี้ทางออกหากขจัดอุปสรรคได้ ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานการศึกษาและกฎหมายให้ยั่งยืน ปลอบใจเศรษฐกิจไทยไม่กลับไปเลวร้ายเท่าปี 40 เหตุ ธปท.คุมเข้มแบงก์พาณิชย์

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ได้กล่าวบรรยายเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างไร" ในการอบรมหลักสูตร"ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่า
ปัจจุบันรัฐบาลก็พยายามเต็มที่แล้วในขอบเขตและเวลาที่จำกัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยมีอุปสรรคสำคัญ 2 ส่วนคือ1.อำนาจไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องมีการต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นความไม่สะดวกที่จะจัดการปัญหาให้ครบถ้วนได้ แก้ไขได้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมีการต่อรอง และ 2. คือกติกาใหญ่ไม่นิ่ง เช่น รัฐธรรมนูญที่มีการพูดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมืองไทยมีความแปลกอยู่อย่างคือถ้าใครแพ้ก็จะหาว่ากฎกติกาไม่ดี ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญของไทยเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แต่เมื่อดูแล้วก็มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาหลายรอบแล้ว ในขณะที่คนที่ร่างก็เป็นคนที่เก่งที่สุดในประเทศ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะบอกว่าใช้ไม่ได้ซึ่งไม่เห็นว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเลย
"สหรัฐอเมริกาปัญหาของเขาใหญ่กว่ามาก แต่อย่างน้อยคนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็รู้ว่ากรอบใหญ่ของกติกาคืออะไร รัฐธรรมนูญที่เขามีก็ไม่มีใครข้องใจเนื่องจากรัฐธรรมนูญของเขามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่ว่าทุกคนจะสู้อย่างไรก็ตาม จะสู้กันในระบอบการเมืองและสู้กันภายใต้กติกาเป็นต้น ซึ่งเขาสามารถทำได้เต็มที่ รัฐบาลของไทยมีแต่เรื่องจุกจิกกวนใจทุกวัน แม้กระทั่งซื้อรถเมล์ก็ไม่เคยเห็นว่าประเทศไหนจะตีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งเลย มีแต่ไทยเท่านั้น ผมคิดว่านี่คือข้อจำกัดของประเทศไทย ถ้ากติกาไม่นิ่งใครจะเป็นรัฐบาลก็แก้ปัญหาได้ไม่เต็มที่"
นายบัณฑูร ยอมรับว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็แย่ เพราะประเทศไทยมีข้อด้อย ไม่มีกรอบกติกาที่นิ่งที่จะทำงานได้ตามปกติ อีกทั้งโจทย์ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นโจทย์โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และสังคายนากฎหมาย เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครพูดถึง แต่เป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากเรื่องนี้เป็นการปูพื้นไปสู่การแก้วิกฤตในระยะยาว

**เชื่อ ศก.จะไม่วิกฤตเท่าปี40
สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยจึงถึงขั้นล่ม ซึ่งก็ต้องยกประโยชน์ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 หรือเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ธปท.ถูกมองว่าเป็นคนผิด ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย หลังจากนั้น ธปท.คุมเข้มธนาคารพาณิชย์ คุมเข้มทุกกิจกรรมต่างๆ แบบลงลึกไม่ยอมให้ลากคนไปตาย โดยปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของไทยในรอบนี้ไม่มีอะไรที่น่าตกใจ แค่มีการขยายตัวที่ช้าลง ค้าขายไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะทุกประเทศประสบเหตุการณ์เดียวกันทั้งหมด
"ผมเชื่อว่าทุกวันนี้สถาบันการเงินไทยคงไม่มีใครลุกขึ้นไปทำอะไรที่เกินตัวและเชื่อว่ารอบนี้ประเทศไทยไม่มีฟองสบู่ แต่ฝรั่งจะเป็นฟองสบู่แทน เพราะฉะนั้นการที่ไปบอกว่าออกกฏหมาย กฏกติกากันเอาไว้มันไม่ได้ผล เพราะคนมีจินตนาการมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาวิธีทำอะไรแปลกๆ ออกไปให้ได้เงินมากขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม นี่คือเหตุผลว่าทำไมวิกฤตเศรษฐกิจจะไม่หมดไปจากประวัติศาสตร์ของมนุษย์"

**ปลุกจิตสำนึกสกัดความโลภ
นายบัณฑูร มองว่า ความโลภของมนุษย์ถือเป็นตัวสอดแทรกอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจทุกยุคทุกสมัย ซึ่งความโลภนั้นหากจะมีการออกกฏหมายมาห้ามก็ลำบาก เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามคนจะหาวิธีในกรอบกฎกติกาของกฎหมายว่าทำอย่างไรเพื่อจะได้กำไรมากที่สุด ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน ส่วนการออกตราสารอนุพันธ์ที่พิสดารทั้งหลายนั้นก็เนื่องจากตราสารอนุพันธ์ปกติมันทำให้คนไม่รวยพอ หรือได้ผลตอบแทนที่น้อย ผู้ลงทุนไม่ประทับใจ จึงเป็นความกดดันของตลาดทุนที่ต้องออกผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแม้จะมีความเสี่ยงสูง
"ความโลภของมนุษย์มันไม่มีกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมที่จะควบคุมได้ 100% ไม่ว่าจะเขียนกติกาไว้แต่มนุษย์ก็จะมีวิธีที่จะหาวิธีที่จะทำเงินมากขึ้น ทั้งๆที่รู้ว่ามีความเสี่ยง แล้วปลอบใจตัวเองและบอกกับคนอื่นว่าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นได้ จนกระทั่งเศรษฐกิจพังทุกคนจึงได้รู้ว่าโง่"
ทั้งนี้ กรอบกติกา กรอบนิติบัญญัติที่มีอยู่เพียงพอที่จะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ บัญญัติของรายละเอียดต่างๆ เขียนไว้พอที่จะสามารถตีความโจทย์แบ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นไว้ได้หรือไม่หรือกระบวนการการพิจารณาในกรอบกติกาที่มีอยู่นั้นแจกผลประโยชน์หรือแจกความเสียหายอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะต้องเกิดเรื่องอย่างนี้อีก เพราะมนุษย์มีความโลภไม่มีที่สิ้นสุด หลบกระบวนการยุติธรรมได้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นความฉลาดส่วนตัว สถานภาพที่มีอยู่หรืออำนาจที่มีอยู่ คิดว่าทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด อันนี้เป็นสิ่งที่อันตรายมากในระยะยาวของระบบเศรษฐกิจของไทย
"วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 คนที่เสียหายมากที่สุดคือ ผู้เสียภาษี เพราะเมื่อสถาบันการเงินล้ม รัฐบาลต้องเข้าไปรับภาระเงินฝากทั้งหมด ส่วนสินทรัพย์ที่ได้มาไม่เพียงพอกับเงินฝากที่รับภาระ ดังนั้น ต้องใช้เงินภาษีประชาชนไปแบกรับ ขณะเดียวกันก็มีบริษัทที่มีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่กลับมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินดีๆออกจากบริษัทพร้อมปล่อยให้กับบริษัทล้ม ท้ายที่สุดคนที่เข้าไปอุ้มก็เงินภาษีประชาชน ถ้าเกิดขึ้นในต่างประเทศ คนที่ยักย้ายถ่ายเททรัพย์ ต้องติดคุก แต่ในประเทศไทยไม่เคยเห็นมีใครติดคุก" นายบัณฑูรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น