xs
xsm
sm
md
lg

สาวหมัด “สเปรด” ดอกเบี้ย “บัณฑูร” เดือดท้าชนแบงก์รัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บัณฑูร” เปิดศึก “สเปรด” ดอกเบี้ย โวยตกเป็นจำเลยสังคม ถูกมองเป็นเสือนอนกิน เพราะกำไรเยอะ ยันไม่ได้พูดเพื่อปกป้องสถาบันการเงิน เพราะมันไม่มีขาวไม่มีดำในโลกนี้ และไม่มีเสรี 100% รัฐบาลจะควบคุม 100% ก็ไม่ได้ พร้อมยุส่ง “คลัง” กำหนดกติกาดอกเบี้ยตลาด ประกาศท้า “แบงก์รัฐ” นำร่องหั่นสเปรด แล้วมาดูว่าใครจะชนะ

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีนโยบายเรื่องการปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) เงินกู้และเงินฝากที่มีสูงถึง 6% โดยระบุว่า ในระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่ได้มีการฮั้วเหมือนในเช่นในอดีต

ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีคลังต้องการเรียกร้องให้แบงก์พาณิชย์ปรับลดสเปรด เพราะมองว่าไม่เหมาะสม ก็อาจจะไปใช้แนวทางให้แบงก์ของรัฐเป็นผู้นำร่อง หรือแทรกแซงตลาดเต็มรูปแบบด้วยการกำหนดกติกาอัตราดอกเบี้ยออกมาใช้

“ตอนนี้ที่ออกมาพูดก็เหมือนแทรกแซงอยู่แล้ว มันดีกว่าที่จะไปโต้กันตามหน้าหนังสือพิมพ์ ความเสียสละไม่มี มันพูดยาก ทุกคนก็พูดว่าเสียสละ ดังนั้น ก็อย่ามาพูดครอบจักรวาลให้เสียสละ คนนั้นก็พูดได้คนนี้ก็พูดได้ว่าตนเสียสละ แต่จริงๆ มันคืออะไร”

นายบัณฑูร กล่าวว่า รัฐบาลอาจเห็นว่าแบงก์พาณิชย์มีกำไรมากเกินไป แต่ก็ต้องเข้าใจว่าแบงก์ต้องรักษาฐานะของตัวเอง ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีผู้นำในวงการ จากนั้นแบงก์อื่นๆ ก็จะปรับตาม แต่เมื่อมองว่า แบงก์กำไรมาก ทำให้ถูกการเมืองและสังคมกดดัน

หากรัฐมองว่า สเปรดในปัจจุบันไม่เหมาะสม ก็มีทางออก 2-3 ทาง เช่น ให้แบงก์รัฐเป็นผู้นำทิศทางดอกเบี้ย โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แล้วดูว่าแบงก์เอกชนจะสามารถตามทิศทางแบงก์รัฐหรือไม่ หากลูกค้าถูกดูดออกไป แบงก์เอกชนก็จะปรับดอกเบี้ยตามไปเอง

หรืออีกทางหนึ่ง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ต้องหารือกันเพื่อกำหนดกติกาในการคิดอัตราดอกเบี้ย หรือ กำหนดอัตราดอกเบี้ยตายตัวมาเลย ซึ่งจะต้องไม่ให้แบงก์ถูกกระทบ

“ตอนนี้ ประเด็นที่แบงก์มีกำไรมากไป เป็นประเด็นที่สังคมมองแบงก์อยู่กลไกสร้างมาแบบนี้ผลก็ต้องออกมาเป็นแบบนี้ ถ้าจะเปลี่ยนกลไกก็ต้องสร้างกลไกใหม่ ผมไม่ได้ปกป้องสถาบันการเงิน มันไม่มีขาวไม่มีดำในโลกนี้ และไม่มีเสรี 100% รัฐบาลจะควบคุม 100% ก็ไม่ได้”

นายบัณฑูร กล่าวว่า การปล่อยกู้และการบริหารความเสี่ยงเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของแบงก์ สถาบันการเงินไทยจึงไม่ล้มเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน มาตรการต่างๆ ที่ทาง ธปท.กำกับดูแลสถาบันการเงินคือการรักษาความเสี่ยง เพราะมีบทเรียนจากวิกฤติสถาบันการเงินเมื่อปี 40 ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐขณะนี้เพราะไม่มีบทเรียนและคิดว่าตัวเองเก่ง

ขณะนี้ สถาบันการเงินไทยยังมีสภาพคล่องที่ดี จึงไม่จำเป็นที่ทางการจะต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการเพิ่มสภาพคล่อง แต่ก็ยอมรับว่า มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้ ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลของ ธปท.โดยจะต้องยอมรับว่าระบบสถาบันการเงินปีนี้ต้องเหนื่อยมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ แบงก์ก็จะต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะเรามีบทเรียน

“สภาพคล่องของสถาบันการเงินไทยไม่ได้มีปัญหา ต่างจากปี 2540 ที่แบงก์ล้มเพราะสภาพคล่องแย่ ทำให้ไม่ปล่อยกู้ เพราะแบงก์มัวแต่แก้ไขหนี้ตัวเอง ตอนนี้แบงก์ก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพราะมีบทเรียนเมื่อ 10 ปีก่อน การเพิ่มทุนแบงก์ก็ไม่ใช่มาจากปัญหาสภาพคล่อง ก็สามารถเพิ่มทุนได้ แต่ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่เพิ่มทุนเพื่อค้ำแบงก์ไม่ให้ล้ม”

“สินเชื่อรวมของแบงก์กสิกรฯ ปีนี้ ก็ตั้งเป้าแค่ 5% ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวด แบงก์ชาติไม่ต้องการแบงก์ล้ม เพราะถ้าแบงก์ล้มจะมีผลต่อภาวะประชาชนและมีผลต่อเศรษฐกิจ”

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า โจทย์อันดับหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้ คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต้องผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็ว แต่ไม่ใช่แต่คนใดคนหนึ่งที่จะผลักดันได้ แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน รวมถึงประชาชนเอง มาตรการต่างๆ ที่ทางการนำมาใช้ก็ช่วยเศรษฐกิจพอควร โดยเฉพาะในแง่ของการบรรเทาปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเดินไปในทิศทางนี้ ส่วนจะได้ผลหรือไม่อย่างไรยังไม่มีใครรู้

“มาตรการก็มีทั้งคนติคนชม ไม่มีขาวไม่มีดำ เป็นการบรรเทา จะเป็นผลดีหรือไม่ไม่มีใครรู้ ส่งออกที่ลดลงก็เป็นไปตามทิศทางทั่วโลก ตามเศรษฐกิจโลกที่แย่ลง” นายบัณฑูร กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น