xs
xsm
sm
md
lg

‘โพธิพงษ์ ล่ำซำ’ อดีตเสมียนผู้พลิกโฉมเมืองไทยประกันชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้วันนี้เขาจะนั่งเก้าอี้ประธานบริษัท แต่ใครจะรู้บ้างว่าครั้งแรกที่ก้าวเข้ามาในบริษัทแห่งนี้ เขามีตำแหน่งเป็นเพียงเสมียนคนหนึ่งเท่านั้น เขาจริงจังกับงานชนิดที่ไม่ว่าจะดึกดื่นเพียงใด ก็ต้องออกไปเคลมประกันให้ลูกค้า จากยุควิกฤตของธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย ที่ไม่ค่อยได้รับความเชื่อมั่นในการทำประกัน ตัวแทนประกันส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้ด้านการประกันอย่างชัดเจน ท่ามกลางอุปสรรค แต่ชายผู้นี้สามารถนำพา บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ให้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทประกันฯ อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ณ วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเขา ‘โพธิพงษ์ ล่ำซำ’

ก้าวแรกในธุรกิจประกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว โพธิพงษ์ในฐานะบุตรชายของ ‘จุลินทร์ ล่ำซำ’ ผู้ก่อตั้งบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ถูกเรียกตัวให้กลับมาช่วยงานของบริษัท โดยมี ‘บัญชา ล่ำซำ’ ญาติผู้พี่ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้สอนงานให้ แม้จะเป็นบุตรชายเจ้าของบริษัทที่พกดีกรีปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจจาก Temple University ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เขาก็มิได้มีอภิสิทธิ์ใดๆ คุณโพธิพงษ์ต้องเรียนรู้งานตั้งแต่ระดับล่าง โดยเริ่มงานแรกในตำแหน่งเสมียนฝ่ายประกันรถยนต์

“คุณพ่อท่านตั้งบริษัทร่วมกับเพื่อน ๆ แล้วก็ให้เพื่อนท่านคือ พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ ซึ่งท่านเป็นราชเลขาธิการสำนักพระราชวังในสมัยนั้น มาดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และให้เพื่อน ๆ รวมถึง คุณอาเกษม (เกษม ล่ำซำ)  น้องชายท่านมาเป็นคณะกรรมการ ส่วนผมกลับจากต่างประเทศเมื่อปี 2503 อายุประมาณ 26 ปี ครั้งแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเข้ามา แต่คุณบัญชา ลูกชายของคุณลุงโชติ (โชติ ล่ำซำ) บอกกับคุณพ่อผมว่าอยากให้ผมเข้าไปช่วยงาน เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตเมื่อสมัย 50 ปีที่แล้วนั้นเป็นธุรกิจที่คนทั่วไปยังไม่ให้ความเชื่อถือ บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องปิดตัวไป   ขณะที่บางแห่งก็ถูกต่างชาติเทคโอเวอร์ ดังนั้นการจะหาคนที่มีความรู้ในระดับปริญญาตรีเข้ามาทำงานจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

คุณบัญชาให้ผมเริ่มงานในตำแหน่งเสมียนก่อน เป็นเสมียนฝ่ายประกันรถยนต์ เงินเดือน 2,400 บาท คือเขาอยากให้เรียนรู้จากข้างล่างมาก่อน งานที่ทำก็ไม่ได้อยู่ในออฟฟิศ ผมรับผิดชอบเกี่ยวกับการเคลมรถยนต์ คือสมัยก่อนงานด้านประกันวินาศภัยกับประกันชีวิตอยู่ในบริษัทเดียวกันได้ แต่ตอนหลังกฎหมายกำหนดให้แยกกัน ตอนนั้นผมก็ไปศึกษาเกี่ยวกับการประกันรถยนต์ เคลมรถยนต์ underwriting (การพิจารณาการรับประกันรถยนต์) เวลามีลูกค้าโทร.มาว่าเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน ผมก็จะขับรถออกไปเคลมประกันเอง บางทีตีหนึ่งตีสองโทร.มา ผมก็ต้องวิ่งหัวฟูออกไป (หัวเราะ) คือผมไม่ได้คิดนะว่าเป็นลูกเจ้าของบริษัททำไมถึงต้องวิ่งออกไปเคลมประกันเอง แต่คิดว่าเป็นการเรียนรู้มากกว่าเพราะตอนนั้นเราเองยังไม่รู้เรื่องประกันก็อยากจะเรียนรู้ตั้งแต่ต้น” ประธานกรรมการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เท้าความถึงการทำงานในยุคแรกๆ
ทีมผู้บริหารของเมืองไทยประกันชีวิตในยุคแรกๆ
ขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร

เหมือนโชคชะตาลิขิตให้เขาเป็นผู้พลิกฟื้นธุรกิจประกันชีวิตซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เพราะต่อมาในปี 2505 ‘เกษม ล่ำซำ’ ผู้เป็นอา ซึ่งรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ธุรกิจอีกสายหนึ่งของตระกูลล่ำซำ ได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ประเทศอินเดีย บัญชา (บิดาของของบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ) จึงต้องย้ายไปดูแลธนาคาร กสิกรไทย จำกัด แทน และมอบหมายให้คุณโพธิพงษ์รับหน้าที่บริหารบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ตั้งแต่นั้นมา

“หลังจากเป็นเสมียนอยู่พักหนึ่ง คุณบัญชาก็ย้ายผมไปอยู่ฝ่าย underwriting หรือฝ่ายพิจารณารับประกันของประกันชีวิต ต่อจากนั้นผมก็ย้ายไปทำงานตามฝ่ายต่าง ๆ พอดีเป็นจังหวะชีวิต คือในปี 2505 คุณอาของผมคือ คุณเกษม ท่านเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก พี่ๆ น้องๆ ของคุณพ่อ เลยตกลงกันว่า ให้ส่งคุณบัญชาไปดูแลงานของธนาคารกสิกรไทยแทน ซึ่งคุณบัญชาเองก็ไม่เคยทำงานด้านการธนาคารมาก่อน จึงต้องทุ่มเทเวลาในการศึกษางาน ทำให้ไม่มีเวลาที่จะดูแลกิจการด้านประกัน เลยให้ผมช่วยดูแล บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ไปก่อน

แต่ช่วงแรก คุณบัญชา ยังรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ส่วนผมเป็นรองกรรมการผู้จัดการ เพราะเห็นว่าผมยังเด็กเกินไป จากนั้นช่วงปลายปี 2506 ถึงได้ตั้งให้ผมเป็นกรรมการผู้จัดการ ตอนนั้นผมอายุ 29 ปี การทำงานสมัยนั้นยากมากครับ เพราะช่วงที่ผมเข้ามาระยะแรกนั้นคนยังไม่ให้ความเชื่อถือในธุรกิจประกันชีวิต ก็ต้องยกความดีให้คุณบัญชาท่าน ท่านต้องต่อสู้อย่างมากในระยะแรก” คุณโพธิพงษ์ กล่าวยิ้มๆ

เส้นทางที่โรยด้วยขวากหนาม

เมื่อต้องรับหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด อย่างเต็มตัว สิ่งแรกที่คุณโพธิพงษ์เลือกทำก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของบุคลากร ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของธุรกิจประกันชีวิตในขณะนั้น โดยนอกจากจะมีการจัดอบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบประกันชีวิตและประกันภัย การให้บริการแก่ลูกค้า และการเลือกสรรตัวแทนประกันที่มีความรู้แล้ว ยังให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานรวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่องค์กรอีกด้วย
เมื่อครั้งพบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
“สมัยนั้นลำบากมาก โดยเฉพาะช่วงปี 2507 เกิดวิกฤตขึ้นในวงการประกันชีวิต เพราะมีเหตุการณ์บริษัทประกันชีวิตใหญ่ล้ม เลยไม่มีใครอยากมาทำงานกับบริษัทประกันชีวิต เขามองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีอนาคต หลอกลวงประชาชน คือตอนนั้นปัญหาตัวแทนที่ไม่ซื่อตรงมีเยอะมาก เราประสบปัญหาหนักสุด ๆ พนักงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ คิดดูสิช่วงที่ผมเข้ามาแรก ๆ ทั้งบริษัทมีคนจบปริญญาแค่ 3 คน เท่านั้น คือ คุณบัญชา ตัวผม และสมุห์บัญชีอีกคนหนึ่งซึ่งจบจากธรรมศาสตร์ ตัวแทนแต่ละคนก็โอย..ไม่มีมาตรฐานเลย ต้องใช้คำว่าบางคนนี่เหมือนมหาโจรเลย (หัวเราะ) เพราะสมัยนั้นไม่ได้กำหนดว่าตัวแทนประกันต้องมีความรู้ระดับไหน ใครก็ได้ไม่จำกัด แต่ปัจจุบันตัวแทนต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย

กลยุทธ์ของเราตอนนั้นก็คือการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของธุรกิจประกัน เราก็ให้ทุนไปเรียนด้านการประกันชีวิตและกลับมาทำงานให้บริษัท หลังจากนั้นบริษัทก็มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นสินค้า คือกรมธรรม์รูปแบบใหม่ๆที่มีความหลากหลายมากขึ้น การดำเนินงานมีความทันสมัยขึ้น ผมเข้ามาแรก ๆ ฝ่ายการเงินยังใช้ลูกคิดคิดเลขอยู่เลย ตอนนั้นเรายังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ในการคำนวณผลตอบแทนในการประกันชีวิต จำได้ว่าเราต้องไปเช่าใช้เครื่องของอาคเนย์ประกันภัย แต่ปัจจุบันเรามีระบบไอทีที่ใช้เป็นฐานข้อมูล ซึ่งลงทุนไปเป็นร้อยล้าน” คุณโพธิพงษ์เล่าถึงความยากลำบากในการบริหารธุรกิจ

ด้วยชั้นเชิงทางธุรกิจและมันสมองอันเฉียบคมของคุณโพธิพงษ์ส่งผลให้บริษัทเมืองไทยประกันชีวิตก้าวขึ้นสู่ทำเนียบบริษัทประกันชั้นนำของเมืองไทย จากบริษัทที่มีมูลค่าเบี้ยรับประกันเพียงปีละ 36 ล้านบาทเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้มีมูลค่าเบี้ยรับประกันเกินกว่า 13,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 16,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้

สู่เส้นทางการเมือง

ปัจจุบันคุณโพธิพงษ์ ได้มอบหมายงานบริหารทั้งหมดของเมืองไทยประกันชีวิตให้แก่ ลูกชายคนเดียว ‘สาระ ล่ำซำ’ (กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด คนปัจจุบัน)และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น นอกจากนี้คุณโพธิพงษ์ได้แบ่งเวลาให้กับงานการเมือง ล่าสุดเขาเป็นรองนายกรัฐมนตรีเงา ดูแลติดตามงานในส่วนของ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ผมก็ยังเข้าออฟฟิศที่เมืองไทยประกันชีวิตทุกวัน แต่การดำเนินงานจริงๆ นี่ให้ป้อง (สาระ ล่ำซำ) เขาเป็นคนดูแล ที่ผมตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว ก็เพราะเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือประเทศชาติได้ คือตอนนั้น ประมาณปลายปี 2540 เป็นช่วงที่ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง คุณชวน (ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น) ซึ่งรู้จักกับผมมาตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นประธานหอการค้าไทย ท่านก็ขอให้ผมมาช่วยงาน ให้มาเป็น รมช.พาณิชย์ จากนั้นก็เลยทำงานด้านการเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้อายุมากแล้วก็อยากทำประโยชน์ให้บ้านเมืองบ้าง ” คุณโพธิพงษ์ กล่าวตบท้ายถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต
 
* * * * * * * * * * * *

 
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
กำลังโหลดความคิดเห็น