xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท.โวยลั่น! “หมัก” ยัดข้อหาแอบขายแบงก์-ผวาลูกค้าแห่ถอนเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ ธปท.ยืนยันสถานะแบงก์ไทยทั้งระบบยังมั่นคงแข็งแรง ไม่มีปัญหา ยันกองทุนฟื้นฟูฯ ขายหุ้นไทยธนาคาร-นครหลวงไทย เป็นไปตามแผนงานเดิม ผู้บริหารแบงก์ผวาลูกค้าแห่ถอนเงิน หลังนายกฯ โวยลั่นกลางรายการ ถูกต่างชาติเย้ย ประเทศยูขายแบงก์ทำไมไม่รู้ แฉแหลกแบงก์เจ๊ง รัฐใส่เงินไป 8 พันล.กลับเอาไปขายหน้าตาเฉย ด้านตลาดหุ้นไทยตื่นข่าว นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์วูบ

วันนี้ (8 พ.ค.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวสถาบันการเงินของไทยหลายแห่งกำลังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยระบุว่าขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ของไทยทั้งระบบยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี ไม่ได้มีปัญหาในด้านสถานะทางการเงินที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากระบบประกันเงินฝากยังสามารถทำงานได้ดี

สำหรับแผนการขายหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทยที่ถืออยู่โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น (กองทุนฟื้นฟูฯ) เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้เตรียมงานแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการมอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาแนวทางการเพิ่มทุน การลดสัดส่วนหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม รวมทั้งการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ โดยจะยึดหลักที่ว่าพันธมิตรที่เข้ามาใหม่จะต้องสามารถเกื้อหนุนฐานะของแบงก์ดีขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท.ออกมายืนยันเรื่องดังกล่าวหลังจากที่มีรายงานข่าวว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการตัวจริงชัดเจน ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีว่า เพิ่งรับทราบข้อมูลว่ากองทุนฟื้นฟูฯ เตรียมขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ไทยให้กับต่างชาติ หลังจากใส่เงินเข้าไปถึง 8 พันล้านบาท

นางธาริษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีประชาชนมาถอนเงินจากธนาคารในจำนวนที่มากผิดปกติ หลังจากมีข่าวนายกรัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์ว่ามีธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาด

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้กับนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งเรื่องของการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูในธนาคารต่างๆ นั้น ให้ที่ปรึกษาทางการเงินดูแลอยู่

โดยก่อนหน้านี้ นายสมัครได้กล่าวถึงการเดินทางไปต่างประเทศ และได้ร่วมรับประทานอาหารกับทูตประเทศต่างๆ พร้อมกับถูกถามว่า “ประเทศยูจะขายแบงก์ หรือเตรียมการจะซื้อแบงก์ นายกรัฐมนตรียังไม่รู้เลย แต่ปรากฏทางนู้นเขารู้ จะซื้อแบงก์ ถามว่าอย่างนี้มีประโยชน์ไหม กลับมาต้องมาเปิดดูกองทุนฟื้นฟูฯ ทำกันไว้อย่างนี้”

“ผมต้องพูด ทำกันไว้หมด คือ แบงก์เจ๊ง แบงก์นี้เจ๊ง แบงก์นี้เจ๊ง เอาเงินใส่เข้าไป รู้ว่าเจ๊งนะ ใส่เข้าไป 8,000 ล้านบาท พอเอาเงินใส่เข้าไปแล้วขาย ผิดปกติไหม ถ้าผิดปกตินะ ผมต้องเอามาพูดไว้ตรงนี้ เพราะเวลาขายแล้ว มาแพะเอาผม เขาทำกันไว้ ทำกันไว้เรียบร้อยเลย 2 แบงก์ทำอย่างดีเลย สุดท้ายมาขายตอนผมใช่ไหม จึงมาบอกให้รู้

นี่ถ้ายังไม่ไปเมืองนอกก็ยังไม่รู้ กลับมาถึงรู้ อ๋อ อย่างนี้นี่เอง อย่างนี้นี่เอง แบงก์จะเจ๊งอยู่แล้ว เอาใส่ไป 8,000 ล้านบาท พอใส่ไป 8,000 ล้านบาท ประกาศขาย” นายสมัคร กล่าวกลางรายการสนทนาฯ

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้ โดยระบุว่า แผนการขายหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งถืออยู่ในธนาคารพาณิชย์ของรัฐไม่ว่าจะเป็นธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) และธนาคารไทยธนาคาร (BT) นั้นจะดำเนินการคู่ขนานกันไป ระหว่างการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ามาแสดงความจำนงในการซื้อหุ้น และอยู่ระหว่างการให้ที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาตลาดทั้งด้านราคาและจังหวะการขายที่เหมาะสม ซึ่งการขายหุ้นได้อยู่ในแผนงานที่วางไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

“หลักการคือเราต้องการขายแบบโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเลือกที่รักมักที่ชัง ดังนั้นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินด้วยว่าเมื่อไหร่จะขาย และขายราคาเท่าไหร่ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ แต่เราก็ทำคู่ขนานกันไปคือเปิดโอกาสให้คนที่สนใจเข้ามาคุยด้วย”

ประเด็นสำคัญในการพิจารณาขายหุ้นให้แก่นักลงทุนเป็นการทั่วไปนั้น นอกเหนือไปจากการได้รับราคาที่เหมาะสมแล้ว ยังจะต้องคำนึงด้วยว่าผู้ที่จะหุ้น SCIB และ BT ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่นั้นจะต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

“การขายหุ้นธนาคารพาณิชย์เป็นเรื่องยาก และอ่อนไหว คนที่เข้ามาซื้อต้องไม่ใช่แค่มีสตางค์อย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถที่จะ run bank ต่อไปในอนาคต มีสตางค์ที่จะเพิ่มทุนในอนาคตด้วย”

นายสรสิทธิ์ เห็นว่า ทางการโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ถือหุ้นอยู่ในธนาคารพาณิชย์ถึง 3 แห่ง คือทั้ง SCIB, BT และธนาคารกรุงไทย (KTB) ถือว่ามากเกินไป ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ในอนาคตกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องลดบทบาทการเข้าไปแข่งขันกับเอกชนให้เหลือน้อยลง และเห็นว่าการที่ทางการมีหุ้นใน KTB เพียงแห่งเดียวก็เพียงพอที่จะสนองตอบต่อนโยบายของภาครัฐได้แล้ว

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นถึงการขายหุ้น SCIB , BT ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่นั้น จากการตรวจสอบล่าสุดของ ธปท.พบว่า ขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีประชาชนตื่นตระหนกไปแห่ถอนเงินออกจากธนาคารดังกล่าว พร้อมกับย้ำว่า ขณะนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ยังให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็ม 100%

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกองทุน ธปท.ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟู กล่าวยืนยันว่า ธนาคารที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นใหญ่อยู่ทั้ง 3 แห่ง คือ ธนาคารไทยธนาคาร กรุงไทย และนครหลวงไทย ตามนโยบายก็มีแนวทางที่จะทยอยขายออกอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ก็ได้ให้ที่ปรึกษาทางการเงินเริ่มทำที่ไทยธนาคารก่อน ซึ่งตอนนี้ธนาคารไทยธนาคารก็ยังสามารถดำเนินงานได้ตามปกติ

นางทองอุไร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนธนาคารไทยธนาคารหลังจากมีการเพิ่มทุนไปแล้ว 2 ครั้ง จะมีการเพิ่มทุนอีกหรือไม่นั้น ยังไม่รู้ สำหรับคำถามที่ว่าหากธนาคารมีการเพิ่มทุนอีกครั้ง กองทุนฟื้นฟูฯ จะเพิ่มทุนหรือไม่นั้น ต้องดูก่อน

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูฯ มีแผนอยู่แล้วที่จะถอนตัว ด้วยการขายหุ้นที่ถือให้กับพันธมิตร ซึ่งเป็นแผนเดิมที่นายกฯ อาจไม่ทราบ

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่าขณะนี้ผู้ฝากเงินมีความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก เพราะธนาคารได้อบรมพนักงาน เพื่อสื่อสารกับลูกค้าตลอด

นางทับทิม สิงหเสนี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักประชาสัมพันธ์ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า เมื่อมีข่าวดังกล่าวออกไปก็ได้ทำความเข้าใจกับสาขา อธิบายเรื่องของการประกันเงินฝากให้ลูกค้าทราบ

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า คงเป็นแค่ข่าวลือ โดยนายกรัฐมนตรีจะพูดอะไรควรพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ เพราะการปิดธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง คือ ไทยธนาคาร และนครหลวงไทย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เนื่องจากมีผลกระทบต่อธุรกิจภาคเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขณะนี้สถานภาพของธนาคารทั้ง 2 แห่ง อยู่ระหว่างการเร่งหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทำธุรกิจให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น และปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้มีปัญหา ยังทำธุรกิจได้ต่อเนื่อง

ด้าน บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของ บล.ฟาร์อีสท์ ระบุว่า ประเด็นที่นักลงทุนเริ่มกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของธนาคารขนาดเล็กไทยราว 2-3 แห่งที่อยู่ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของกองทุนฟื้นฟูอีกครั้งนั้น ในประเด็นนี้จากการตรวจสอบแล้ว พบว่าฐานะของธนาคารในกลุ่มดังกล่าวยังคงไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวลใจ และไม่น่าจะมีนัยสำคัญต่อตลาดในวันนี้เท่าไรนัก

ทั้งนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวานนี้ มีแรงเทขายทำกำไรออกมา โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีแรงขายออกมามากในช่วงท้ายตลาด ทำให้ดัชนีลดลงต่ำสุดที่ระดับ 845.80 จุด เพิ่มขึ้น 0.03 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ระดับ 848.71 จุด เพิ่มขึ้น 2.88 จุด มูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 22,528.69 ล้านบาท โดยมีรายการซื้อขายรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) และในกระดานต่างประเทศออกมา 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ยอมรับว่า นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่างหนักในช่วงท้ายตลาดหลังจากมีกระแสข่าวลือในห้องค้าหลักทรัพย์ว่าทางการจะสั่งปิดธนาคารพาณิชย์เพิ่มอีก 2 แห่ง โดยเฉพาะธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นอยู่ จากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีทำให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมา

“ปัญหากลุ่มธนาคารเองก็ยังไม่จบ เพราะธนาคารที่ไม่สามารถหาพันธมิตรได้ ก็ต้องควบรวมกิจการกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เราเองก็รู้ โดยเฉพาะธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯถือหุ้น ต้องขายหุ้นออกมาหลังจากที่ต้องปิดตัวลงไป ซึ่งเหลืออยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ธนาคารไทยธนาคาร กับธนาคารนครหลวงไทย แต่พอเป็นการพูดออกมาโดยคนที่ไม่เข้าใจว่าต้องปิดไป แทนที่จะบอกว่าควบรวมกิจการ ก็เลยเกิดการตื่นตกใจ” นักวิเคราะห์กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น