xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซีชี้ต่างชาติแหยง “ซับไพรม์” ชะลอรุกธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคทีซี ชี้ แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตเริ่มชะลอ หลังผู้ประกอบการต่างชาติขยาดพิษซับไพรม์ พร้อมผนึกเจซีบียักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นขยายฐานสมาชิกข้ามชาติไทย-ญี่ปุ่น เปิดตัวบัตรเครดิต “เคทีซี เจซีบี” เจาะกลุ่มคนไทยหัวใจญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในไทย หวังปีแรกมียอดสมาชิก 100,000 บัตร ด้าน กสิกรไทย ไม่น้อยหน้าเปิดรับบัตรเจซีบีผ่านเครือข่ายร้านค้าของธนาคาร เริ่มจากร้านค้าออนไลน์ ก่อนขยายสู่ 30,000 ร้านทั่วประเทศ

นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยถึงการแข่งขันของธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้ ว่า มีสัญญาณการแข่งขันน้อยลงจากปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารต่างประเทศมีการรุกตลาดน้อยลง เพราะมีความวิตกเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ยังมีน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็ไม่ได้เน้นเรื่องของตลาดบัตรเครดิตมากนักแต่จะเน้นการแข่งขันในด้านเงินฝากมากกว่า

ทั้งนี้ ในส่วนของเคทีซีจะยังคงเน้นการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและเปิดตัวบัตรเครดิตที่มุ่งตอบสนองให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละไลฟ์สไตล์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดร่วมมือกับเจซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี โดยมีลูกค้าเป้าหมายเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มคนไทยที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและชื่นชอบในผลิตภัณฑ์และบริการของญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่หลงใหลการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง โดยตั้งเป้าหมายในปีแรกจะมีผู้สนใจเป็นสมาชิก 100,000 บัตร จากฐานบัตรเครดิตรวมในปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 1.5 ล้านบัตร

“สาเหตุที่เจาะกลุ่มเป้าหมายชาวญี่ปุ่น หรือคนไทย ที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่ใช่เพราะยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในประเทศลดลง แต่ปีนี้เป้าหมายของเราจะรุกในส่วนของการท่องเที่ยว ซึ่งบัตรนี้ก็สามารถตอบโจทย์ได้ และคาดว่า กลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 4,500 บาทต่อเดือน แต่หากคิดจากบัตรที่แอกทีฟจะประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน ส่วนปีที่ผ่านมายอดยกเลิกบัตรโดยรวมอยู่ที่เป็นหลักหมื่นเนื่องจากมีการยกเลิกบัตรมินิการ์ด” นายนิวัตต์ กล่าว

นายนิวัตต์ กล่าวอีกว่า การร่วมมือของเคทีซีและเจซีบี ซึ่งนำมาถึงการเปิดบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบีในครั้งนี้เกิดขึ้นจากโอกาสการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ครบรอบ 120 ปี เมื่อปี 2550 และได้มีการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement-JTEPA) ภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ ซึ่งหนึ่งในความตกลงนั้น คือ การเปิดประตูสู่การทำธุรกิจและการท่องเที่ยวเพื่อเอื้อประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการเปิดตัวบัตรดังกล่าวจึงเป็นความร่วมมือระหว่างบัตรเครดิตของไทย และผู้ให้บริการเครือข่ายระบบชำระเงินชั้นนำจากญี่ปุ่น เพื่อให้คนไทยและคนญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามประเทศเพื่อไปทำธุรกิจและท่องเที่ยว สามารถชำระค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการใช้บัตรเครดิตระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนั้นๆ

โดยข้อมูลขององค์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นในปี 2550 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 160,000 คน จาก 125,000 คนในปี 2549 ในขณะเดียวกัน มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย เป็นจำนวนถึงกว่า 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.35 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย และมีชาวไทยที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน

“สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายจากบัตรเคทีซีที่มีอยู่เดิม จึงยิ่งช่วยเพิ่มคุณค่าของบัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี ให้เหนือกว่า และมีความแตกต่างจากคู่แข่งขันรายอื่น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคทีซีมีเป้าหมายที่จะเจาะตลาดกลุ่มใหม่ๆ มาโดยตลอด เราจึงคาดหวังว่าการเปิดบัตรภายใต้ความร่วมมือที่สำคัญครั้งนี้ จะช่วยขยายฐานสมาชิกบัตรให้เติบโตขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และสามารถกระตุ้นความสนใจผู้ถือบัตรเจซีบีกว่า 50 ล้านคนในประเทศญี่ปุ่นให้มาเที่ยวและใช้จ่ายผ่านบัตรในประเทศไทยได้อีกด้วย

รุกจับมือ KBANK ขยายเครือข่าย
ด้าน นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับ เจซีบี อินเตอร์เนชันเนล ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นขยายการให้บริการรับบัตรเครดิตของ เจซีบีผ่านเครือข่ายร้านค้ารับบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย โดยในเดือนมีนาคมศกนี้ จะเริ่มให้บริการผู้ถือบัตรเจซีบีกับร้านค้าออนไลน์ก่อน ซึ่งช่วงแรกจะเน้นที่การให้บริการจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินต่างๆ การจองห้องพักโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาท่องเที่ยวและทำธุรกิจในประเทศไทย

หลังจากนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2551 ธนาคารจะขยายการให้บริการแก่ผู้ถือบัตรเจซีบีผ่านร้านค้าที่เป็นพันธมิตรของธนาคารทั้งหมดประมาณ 30,000 แห่ง และสามารถเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าได้ที่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยจำนวน 3,860 เครื่องทั่วประเทศ

ความร่วมมือกับเจซีบีในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยขยายฐานการให้บริการลูกค้าผู้ถือบัตรต่างประเทศของธนาคารให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เข้ามาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า 1.25 ล้านคนต่อปี ในขณะที่ร้านค้ารับบัตรเครดิตในเครือข่ายของธนาคารก็มีโอกาสที่จะเพิ่มโอกาสการขายและให้บริการแก่ผู้ถือบัตรเครดิตเจซีบีกว่า 58 ล้านใบด้วย ทั้งนี้ธนาคารคาดว่า การเป็นพันธมิตรกับเจซีบีในช่วงแรกน่าจะสามารถเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านเครือข่ายร้านค้าของธนาคารได้ 10%

นายเคนจิ เซโตะ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เจซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของเจซีบี ในแผนการขยายธุรกิจและการให้บริการแก่ผู้ถือบัตรเจซีบี เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมมาท่องเที่ยวและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในขณะที่ความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของเจซีบีในไทย เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตมายาวนาน จึงมีเครือข่ายร้านค้าจำนวนมาก และมีความก้าวหน้าในการให้บริการแก่ร้านค้าชั้นนำในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งความร่วมมือนี้น่าจะช่วยให้ผู้บัตรเจซีบีได้รับความสะดวกในการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง ปัจจุบันเจซีบีเป็นผู้ออกบัตรและรับบัตรเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเริ่มขยายเครือข่ายการให้บริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2524 โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารมากกว่า 350 แห่งและสถาบันการเงินท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเจบีซีจำนวนทั้งสิ้น 58 ล้านใบ
กำลังโหลดความคิดเห็น