xs
xsm
sm
md
lg

พรรคการเมืองรัฐบาลไหนๆ ก็พังหากยังเข้าใจผิด ทำความหายนะให้แก่ชาติ

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

การรักชาติแบบหลงผิดอย่างร้ายแรงที่สุดของคณะผู้ปกครองไทย คือหลงยึดรัฐธรรมนูญ หลงติดยึดอยู่ในลัทธิรัฐธรรมนูญ แท้จริงการรักษารัฐธรรมนูญที่ปราศจากหลักการปกครองโดยธรรม ดุจดังรักษาความกลัว โลภ โกรธ หลงให้คงไว้ คือการย้ำทำลายตนเองและชาติของตนอย่างร้ายแรงที่สุด ในทางตรงกันข้าม การเชิดชู ผลักดัน และรักษาหลักการปกครองโดยธรรม ดุจดังรักษาใจให้บริสุทธิ์ อันเป็นแก่นแท้ของชีวิต ฉันใด หลักการปกครองโดยธรรม ย่อมเป็นแก่นแท้ของชาติ ฉันนั้น

แท้จริงประเทศไทยปกครองโดยระบอบเผด็จการ (Dictatorship Regime) คือ ระบอบที่ไม่มีหลักการปกครอง (Principle of Government) ส่วนรูปการปกครอง (Form of Government) คือ ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ขึ้นสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง จึงเรียกว่า ระบอบเผด็จการระบบรัฐสภา หรือเรียกโดยย่อว่า ระบอบเผด็จการรัฐสภา ส่วนการใช้วิธีการรัฐประหารขึ้นสู่อำนาจเรียกว่า เผด็จการรัฐประหาร

ปัญญาอันยิ่งรู้ซึ้งถึง สัมพันธภาพของสรรพสิ่ง จิตใจแห่งการศึกษาที่เสียสละ อุทิศตน ทุ่มเท เวลา ทุกอิริยาบถ มอบกายถวายชีวิตเพื่อประเทศชาติและปวงชนอย่างแท้จริง จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเพียรดังกล่าว เป็นเหตุให้เข้าใจสภาพการณ์อันแท้จริงของประเทศได้อย่างชัดเจน มีข้อพิจารณา คือ

1. สภาพการณ์ (existence) คืออะไร คือสภาพความเป็นจริงของประเทศตั้งอยู่หรือวางอยู่บนความสัมพันธ์กันอย่างไรในด้านต่างๆ เช่น การจัดความสัมพันธ์องค์ประกอบของรัฐหรือของประเทศเป็นอย่างไร เช่น พุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบของรัฐ แต่กลับตกอยู่ในฐานะกลไกรัฐ สังคมไทยก็จะเสื่อมลงๆ เพราะสัมพันธภาพของชาติไม่ถูกต้อง

ปัญหาระบอบ (หลักการปกครอง) กับรัฐธรรมนูญ ที่ถูกต้องควรจะสร้างระบอบฯ ให้สำเร็จเสียก่อน แล้วจึงร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ (กฎหมายหลัก) เพื่อรักษาระบอบนั้นไว้ แต่ประเทศไทยกลับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะสร้างระบอบประชาธิปไตย รู้ไว้เถอะว่าเป็นวิธีการที่กลับหัวกลับหาง หรือเอาหัวเดินต่างเท้า มรรควิธีนี้จะร่างรัฐธรรมนูญสักร้อยครั้งพันฉบับ ก็จะไม่ได้ระบอบประชาธิปไตย กลับได้ระบอบเผด็จการร่ำไปและล้มเหลวอย่างซ้ำซาก นี่คือโคตรแห่งมิจฉาทิฐิที่ครอบงำทำลายประเทศไทยมายาวนาน 77 ปี

นอกจากนี้ พิจารณา ปัญหาการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต กับผู้ไม่มีปัจจัยการผลิต แตกต่าง ห่างกันมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

พิจารณา ปัญหาการครอบครองปัจจัยการผลิตเป็นอย่างไร ลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา คือความหายนะ ส่วนการจำกัดเพดานการครอบครองปัจจัยการผลิต คือการสร้างสรรค์ชาติ

พิจารณา ปัญหาการกระจายรายได้เพียงด้านเดียวคือความหายนะ ส่วนการกระจายรายได้บนพื้นฐานของการกระจายทุน คือการสร้างความมั่งคั่งให้ปวงชนในชาติ

เมื่อเรานำปัญหาดังกล่าวนี้ไปพิจารณาทั้งองค์รวมทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อันเป็นข้อเท็จจริง (Fact) ที่ดำรงอยู่นั้น อันเป็นสัจธรรมสัมพัทธ์ (Relative truth) ปัญหาการเมืองการปกครองก็คือการใช้อำนาจปกครองบนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองหรือประชาชน เป็นความสัมพันธ์แบบไหน เป็นลักษณะอย่างไร เช่น

ความสัมพันธ์แบบเผด็จการทุกรูปแบบ จะไม่มีหลักการปกครองและอำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันถึงแม้ว่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ก็เป็นแต่เพียงในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติผู้แทนชาวนา ชาวไร่ กรรมกร ไม่มีสิทธิทางการเมืองระดับชาติ พวกเขาต้องกลายเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองโดยไม่รู้ตัว

ความสัมพันธ์แบบคอมมิวนิสต์ อำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนใหญ่ กีดกันนายทุน

ความสัมพันธ์แบบธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตยแท้ จะต้องมีหลักการปกครองโดยธรรมอันเป็นรากฐานของชาติให้เห็นอย่างเด่นชัดและอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง

สัมพันธภาพระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองนี้ จะต้องดำรงอยู่ตลอดไปทุกเวลาทุกนาที เพียงแต่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะอยู่ในลักษณะไหน และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการ (Evolution) และการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดคือการปฏิวัติ (Revolution) ตามลักษณะพิเศษของประเทศนั้นๆ (สันติหรือรุนแรง) เพื่อให้มีหลักการปกครองโดยธรรม และเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยให้เป็นของปวงชนในท้ายที่สุด

2. สถานการณ์ (Situation) คือปรากฏการณ์ที่กำลังเคลื่อนไหว ที่กำลังเป็นไปจากความขัดแย้งทางการเมือง สืบเนื่องจากประเทศไทยมีสภาพการณ์ทางการเมืองเป็นแบบเผด็จการระบบรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา จึงทำให้เกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยและประชาชนเจ็บช้ำมานับไม่ถ้วน ดังความตอนหนึ่งอันเป็นพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ความตอนหนึ่งว่า ...

“ข้าพเจ้าก็ได้พยายามตักเตือนและได้โต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา ว่าควรถือหลัก “Democracy” อันแท้จริงจึงจะถูก ถ้ามิฉะนั้นจะเกิดทำให้มีความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งส่วนมากต้องการให้มีการปกครองแบบ “Democracy” อันแท้ มิฉะนั้นก็จะเป็นการเสียเวลา และเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่...อัญเชิญมาโดยย่อ...ความเสี่ยงภัย และเสียเวลา... เช่น

เกิดกบฏรัฐประหารหลายครั้ง, เกิดสงครามก่อการร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์ ปี 2508 -2521, เกิดสงครามกลางเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ปี 2512 - 2525, เกิดการจลาจลทางการเมืองได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516, เกิดจลาจล 6 ตุลาคม ปี 2519, เกิดจลาจล 19 - 29 พฤษภาคม ปี 2535 รวมทั้งปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ล้วนแล้วเกิดจากระบอบเผด็จการระบบรัฐสภาทั้งสิ้น

ด้านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงทุกวันนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ยังไงก็แก้ไขไม่ได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้สภาพการณ์ และการจัดความสัมพันธ์ให้สถาบันหลักของชาติและหลักการปกครองโดยธรรมเป็นหนึ่งเดียวกันได้

นอกจากนี้ยังมีการขัดแย้งย่อยอื่นๆ เกี่ยวกับการแย่งชิงผลประโยชน์ของชนในชาติ และพรรคการเมืองต่างๆ อีกมากมายอันนำมาซึ่งการคอร์รัปชันอย่างพิสดารในแต่ละรัฐบาล ย่อมประจักษ์ชัด

สภาพการณ์การปกครองระบอบเผด็จการจะรูปแบบใดก็ตาม จะทำให้รัฐบาลชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจากการยึดอำนาจแล้วแต่งตั้ง จะไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติได้เลย เพราะมันเป็นระบอบการปกครองของชนส่วนน้อย เพื่อชนส่วนน้อย ประเทศชาติประชาชนจึงต้องประสบกับความหายนะอย่างซ้ำซาก เสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ

ขอให้มองที่ระบอบฯ เพราะคนต้องขึ้นต่อระบอบฯ ระบอบดีสิ่งที่อยู่ใต้ระบอบย่อมดีด้วย ระบอบเลวสิ่งที่อยู่ใต้ระบอบจะเลวตามไปด้วย 77 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ย่อมประจักษ์ชัดแก่สาธุชนอยู่แล้ว

สภาวการณ์ลักษณะเผด็จการไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีสภาวการณ์เป็นประชาธิปไตย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย ฯลฯ ก็จะยืนยันได้ชัดเจน เช่น รัฐประหาร กบฏ จลาจล ฯลฯ ไม่มีเลย

3. กระแส คือการพิจารณาให้เห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดการขัดแย้งขึ้นนั้น ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นความขัดแย้งระหว่างใครกับใคร เช่น ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ปกครองหรือระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ขัดแย้งกันเพื่อการสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงสู่การสร้างระบอบฯ หรือหลักการโดยธรรม หรือแท้จริงเป็นการขัดแย้งเพื่อผลประโยชน์ของผู้ปกครองกันเองหรือไม่

เหตุการณ์จลาจลที่ผ่านมาทุกครั้งเป็นการขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ปกครอง ส่วนนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ประชาชนเป็นเพียงเครื่องพ่วง ซึ่งได้ตกเป็นแนวร่วมเท่านั้น กาลผ่านไปเป็นเครื่องพิสูจน์ชัดว่าประชาชนและประเทศชาติไม่ได้อะไร กลับทรุดหนักลงไปอีกอย่างซ้ำซาก

ทุกอย่างใต้พื้นพิภพนี้ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ พระพุทธองค์ทรงเรียกว่ากฎ “อิทัปปจจยตา” อันกฎของความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนั้นจึงมี” หรือ “เมื่อสิ่งนี้เป็นเหตุ สิ่งนั้นก็เป็นผล” เมื่อสภาวการณ์เป็นมิจฉาทิฐิ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สถานการณ์เป็นมิจฉาทิฐิ, สถานการณ์มิจฉาทิฐิ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้กระแสเป็นมิจฉาทิฐิ... ประเทศชาติของเรายังตกอยู่ภายใต้กฎอิทัปปจจยตา ฝ่ายลบหรือฝ่ายเสื่อมหายนะจนกว่าจะมีนายกฯ ผู้ดวงตาเห็นธรรมนำแก้ไข

การแก้ปัญหาสภาพการณ์อันเป็นปัญหาเหตุแห่งปัญหาทั้งปวงของชาติ เหตุแห่งปัญหาทั้งปวงคือระบอบการเมืองเลว ระบอบมิจฉาทิฐิย่อมแผ่ความความเลวออกไปทุกทิศทุกทางที่เกี่ยวพันสัมพันธ์กันทั้งหมดให้เสื่อมถดถอยลงๆ และเกิดวิกฤตอย่างซ้ำซาก “การแก้ปัญหาปลายเหตุ นอกจากจะแก้ไขเหตุวิกฤตชาติไม่ได้แล้ว ยังจะนำภัยร้ายให้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบสิ้น” หรือลักษณะ “ทำดี แต่ไม่เป็นอันทำ” หรือ “ทำดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ดี” ผู้นำสูงสุดจำต้องนอนก่ายหน้าผาก กลุ้มใจตลอดไปชีวิต

การสร้างระบอบฯ ที่ถูกต้อง ตามลักษณะพิเศษของประเทศไทย คือการสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย คือ (1) หลักธรรมาธิปไตย (2) หลักพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (3) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (อย่างมีรูปธรรม) (4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ (5) หลักความเสมอภาคทางโอกาส (6) หลักภราดรภาพ (7) หลักดุลยภาพ (8) หลักเอกภาพ (9) หลักนิติธรรม

จากนั้นเพียงปรับปรุงรัฐธรรมนูญในหมวดและมาตราต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการปกครองทั้ง 9 ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ความเป็นระบอบธรรมาธิปไตย ระบอบโดยธรรมก็จะแผ่ความดี ความเป็นธรรม ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด นี่คือแนวทางที่จะแก้เหตุวิกฤตชาติทั้งปวง และได้ เปลี่ยนสภาพการณ์ของประเทศให้หลุดพ้นจากขุมนรก

ขอให้กัลยาณมิตร ผู้นำมวลชนพันธมิตรฯ สาธุชนคนดีทั้งหลาย นำไปพูดความจริงกับประชาชน ความถูกต้อง คือชัยชนะที่แท้จริงอย่างยั่งยืนสู่ความก้าวหน้า มั่นคงของประเทศชาติและปวงชนไทย การตั้งพรรคพันธมิตรฯ ต่อไปก็จะไม่เป็นหมัน

กำลังโหลดความคิดเห็น