xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก ปชป.ย้ำจุดยืนยอมฟังทุกความเห็น ปัดไม่เอาคดีทักษิณขึ้นโต๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
โฆษก ปชป.แฉแผนปฏิบัติการจรยุทธ์เมืองอีสานตอนล่างเตรียมล้มอำนาจรัฐ เตือนความขัดแย้งไม่ยุติได้ด้วยเสียงข้างมาก ย้ำจุดยืน ปชป.พร้อมรับฟังทุกความเห็น แต่ยืนขาเดียวยันไม่เอาคดีทักษิณขึ้นโต๊ะ ไม่นิรโทษกรรม เชื่อไม่สร้างความปรองดองได้ ชี้ ทำการปฏิรูปเป็นบาปของสังคม

วันนี้ (8 พ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคให้การสนับสนุนกระบวนการสมานฉันท์ด้วยยุทธศาสตร์ กระบวนการประชาธิปไตยแบบไตร่ตรองและมีส่วนร่วม ของสังคม โดยผ่านกระบวนการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน แต่หากยึดความคิดของนักการเมืองเป็นจุดเริ่มต้น เช่น ที่มีการเสนอให้หยิบคดีอาญาหรือนิรโทษกรรมพิจารณา เชื่อว่า ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ และกระบวนการปฏิรูปการเมืองจะกลายเป็นบาปของสังคม และเกิดความขัดแย้งระหว่างตัวแทนทางการเมืองกับสังคม ดังนั้นจะต้องมีสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริงทุกขั้นตอน เพราะความขัดแย้งไม่ยุติได้ด้วยเสียงข้าง หรือการทำประชามติเพียงอย่างเดียวเพราะเสียงส่วนน้อยไม่ยอมรับ

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมขณะนี้มีกระบวนการที่มีความสำคัญต่อความสงบและสมานฉันท์ที่กระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการ คือ การเคลื่อนไหวของ นปช.และแนวร่วมโดยนายจตุพร ยังคงใช้วิธีการบิดเบือนความจริง กรณีเหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งสอดรับกับการออกทีวีและออกใบปลิวขององค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ซึ่งพรรคมองว่าไม่ได้เป็นเพียงการจงใจโกหกเพื่อบิดเบือนความผิดของตนเอง แต่กำลังอยู่ในกระบวนการที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก โดยจะเป็นประเด็นหลักในการชุมนุม 10 พ.ค.นี้ แต่ตนเชื่อว่าสังคมจะมองเห็นได้ว่าเป็นเพียงความพยายามโยนความรับผิดชอบของนายจตุพรในฐานเป็นแกนนำยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงและปฎิเสธที่จะพิสูจน์ความผิดตนเอง โดยอ้างเอกสิทธิ์

“สิ่งที่สอดรับกับ นปช.คือ การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมใหม่ ที่ประกอบด้วย กลุ่มองค์กรในอดีตที่ปฎิเสธแนวทางสันติวิธี มีการพูดถึงการจับอาวุธล้มอำนาจรัฐ การทำให้เกิดสภาวะเหมือน 3 จังหวัดภาคใต้ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึง กทม.ซึ่งสอดรับกับรายงานข่าวการฝึกปฎิบัติการณ์จรยุทธเมืองอีสานตอนล่าง โดยอดีตสมาชิกคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยส่วนน้อยปฎิเสธการเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาชาติไทย ซึ่งการเคลื่อนไหวของนายจักรภพ (เพ็ญแข) ที่พูดถึงการจัดกำลังใช้อาวุธต่อต้านรัฐบาลในต่างประเทศที่อ้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวส่วนตัว แต่พรรคประชาธิปัตย์ห่วงว่าจะมีการส่งเสริมให้เข้ามาสู่การเคลื่อนไหวในประเทศไทยด้วย รวมถึงการเคลื่อนไหวภายในพรรคเพื่อไทยเองที่แม้สมาชิกจะเข้าร่วมสมานฉันท์ แต่โฆษกพรรคเพื่อไทยยังคงเดินทางสวนทางด้วยการจุดชนวนเหตุความขัดแย้งในเรื่องผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง มีเจตนาชัดเจนจะสร้างความเกลียดชังรัฐบาลและทหาร ”นพ.บุรณัชย์ กล่าว

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า พรรคระมัดระวังมากในการที่จะให้ข่าวในเชิงที่จะกระทบต่อไปในทางที่ดี แต่ว่าก็รายงานมากกว่าหนึ่งแห่ง และในเบื้องต้นมีรายงานว่าเป็นการฝึกที่ถูกกล่าวอ้างว่าใช้เป็นการ์ดนปช. แต่ก็มีการแทรกซึมเข้ามาในกทม.ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเป็นการทำงานของอดีตแนวร่วมส่วนน้อยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่นายกฯก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะทำงานร่วมทำงานกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อให้โอกาสทุกคนพัฒนาประเทศชาติ แทนที่จะตกเป็นเครื่องมือของกระบวนการใต้ดิน

นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า ยังมีการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนายจักรภพ ที่ใช้พื้นที่สื่อต่างประเทศพยายามตอกย้ำถึงกรณีคนตายจากอาวุธสงครามของทหาร โดยสอดรับกับการปลุกระดมภายในประเทศ การนัดสื่อทุกครั้งดำเนินการผ่านล็อบบี้ยิสต์ข้ามชาติ ถึงแม้ นายนพดล ปัทมะ จะปฏิเสธว่า ไม่มี แต่ตนขอยืนยันว่ามีและพร้อมจะพิสูจน์ต่อไป และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในประเทศที่สามที่ได้พาสปอร์ตกับประเทศที่ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับประเทศไทย และไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการปกครองประเทศ พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องติดต่อไปยังองค์กรต่างประเทศเช่น องค์กรว่าด้วยธรรมาภิบาลนานาชาติที่มีหลายประเทศมีภาคีร่วม ว่าการออกพาสปอร์ตให้พ.ต.ท.ทักษิณที่ใช้พื้นที่ต่างประเทศร่วมกับนายจักรภพเคลื่อนไหวบ่อนทำลายรัฐบาลประเทศไทยที่เป็นมิตรประเทศนั้นดำเนินการด้วยความโปร่งใสหรือไม่

นพ.บุรณัชย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายเสนาะ เทียงทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ระบุว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นโจทย์ในการพิจารณาของคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า พรรคมีท่าทีชัดเจนแล้วว่าการเริ่มต้นจะต้องฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน เพราะหากเริ่มต้นที่นักการเมืองก่อนจะเกิดความขัดแย้ง จะทำให้เกิดกลุ่มมวลชนลุกขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งนายกฯมีจุดยืนและตั้งใจตั้งแต่ต้นจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีธงใดๆอยู่ในใจ ยกเว้นคดีอาญา อย่านำมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ไข เพราะจะเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงการรับฟังความเห็นจึงไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการโดยรวม

เมื่อถามว่า หากมีการหยิบยกคดีดังกล่าวขึ้นมาพรรคเห็นด้วยหรือไม่ นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า พรรคมีความชัดเจนว่าคดีอาญาไม่ควรอยู่บนโต๊ะของการปฏิรูปการเมือง ว่า ควรจะยกเว้นความผิดที่กระทำต่อแผ่นดิน หรือที่ทำต่อทรัพย์สินและชีวิตของคนอื่น ดังนั้นคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในอดีต หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบรุนแรงรวมถึงคดีอาญาของพ.ต.ท.ทักษิณ พรรคมีจุดยืนไม่เห็นว่าไม่ควรเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นจุดเริ่มต้นของคณะกรรมการฯชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 พ.ค.พรรคประชาธิปัตย์จะเรียกประชุม ส.ส.ที่รัฐสภา เพื่อกำหนดท่าทีของพรรคให้กับตัวแทนกรรมปฏิรูปการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น