xs
xsm
sm
md
lg

ถกปรับค่าสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-บอร์ดรฟม.เตรียมตั้งกรรมการจากบอร์ด กรองค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วงสัญญา 1 อีกรอบ หลัง”นายก”สั่งเจรจาเพิ่มให้อยู่ในกรอบ 13,000 ล้านบาท ยันราคา 14,965 ล้านบาท ต่อรองกันสุดๆ แล้ว วงในแฉ เจรจาค่าก่อสร้างแฝงค่าเคใช้ฐานช่วงน้ำมันขึ้นสูงสุดเอื้อผู้รับเหมา ทั้งที่ใช้ราคาช่วงเปิดซอง ธ.ค. 51 ได้ จับตา ตัดค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) และลดเสปควัสดุหลังคาสถานี เพื่อลดค่าก่อสร้างกว่า 1,000 ล้านบาท ตัดปัญหา ขณะที่เนื้องานนี้ใส่เพิ่มทีหลังได้  ชี้ข้อเท็จจริง ลดได้อีก 2,000 ล้านบาท

จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ระบุว่าค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ไม่ควรเกินกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติที่ 36,000 ล้านบาท โดยในส่วนของสัญญาที่ 1 ซึ่ง กลุ่ม  CKTC Joint Venture (บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด) เสนสอราคาต่ำสุดไม่ควรเกินกรอบ 13,000  ล้านบาทที่ได้รับอนุมัติไว้เช่นกัน

ในขณะที่รฟม.สรุปค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 ไว้ที่14,965 ล้านบาทนั้น นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวงในฐานะประธานคณะกรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ได้รับนโยบายจากนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยคณะกรรมการรฟม. จะประชุมในวันที่ 26 พ.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากบอร์ดรฟม.ลงไปพิจารณารายละเอียดของค่าก่อสร้างทั้งหมดอีกครั้งเพื่อตรวจสอบดูว่า จะสามารถปรับลดราคาลงได้อีกหรือไม่

“นโยบายที่ได้รับจากรมว.คมนาคมคือให้บอร์ดรฟม.ไปดูว่าตามข้อเท็จจริงยังสามารถลดค่าก่อสร้างลงได้อีกหรือไม่ และรายงานเหตุผลรายละเอียดให้ทราบ ซึ่งที่ผ่านมาได้พิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วแต่แต่นโยบายก็ต้องการดูให้รอบคอบอีกครั้ง โดยผมได้หารือกับ นายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และเป็นบอร์ดด้วยไปดูว่าจะปรับลดราคาลงได้อีกหรือไม่ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะมีรายละเอียดอยู่แล้วเป็นการตรวจทานอีกครั้งเชื่อว่าและ จะสรุปผลของสัญญาที่ 1 ได้ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยก่อนหน้านี้ รฟม.ได้ส่งเรื่องให้ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น ( JICA ) แล้วแต่ไจก้ายังไม่ตอบกลับมาโดยหากตรวจสอบราคาอีกครั้งไม่มีการปรับเปลี่ยนก็เดินหน้าลงนามสัญญาได้แต่ถ้าปรับเปลี่ยนก็รายงานอีกครั้งซึ่งคงไม่มีปัญหาอะไร”นายสุพจน์กล่าว

นอกจากนี้ในการประชุมบอร์ดวันที่ 26 พ.ค.นี้บอร์ดรฟม.อาจจะพิจารณาผลการสรรหาผู้ว่าฯรฟม.ซึ่งนายชูเกียรติ โพธยานุวัตร รองผู้ว่า (วิศวกรและก่อสร้าง) รฟม. เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ จากเดิมที่บอร์ดจะประชุมเรื่องดังกล่าวในวันที่ 29 พ.ค. แต่พบว่าบอร์ดหลายคนติดภารกิจ

***แฝงค่าเค-ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 2พันล.

แหล่งข่าวจากรฟม.กล่าวว่า กรณีที่นายกฯระบุว่าค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วงทั้งโครงการไม่ควรเกินกรอบ36,000 ล้านบาท และสัญญาที่ 1 ไม่ควรเกินกรอบ 13,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และสามารถทำได้ ในขณะที่ สรุปที่ 14,965 ล้านบาทนั้นรฟม.ระบุว่าต่อรองเต็มที่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่รฟม.ทั้งบอร์ดและกรรกมรประกวดราคาที่นายชูเกียรติ รองผู้ว่าฯเป็นประธานต้องชี้แจงเหตุผลให้ได้ หากยืนยันราคาที่ 14,965 ล้านบาทกลับไป โดยเฉพาะส่วนต่าง 2,000 ล้านบาท หายไปไหน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นที่น่าจับตาคือ รมว.คมนาคมให้ไปดูเรื่องค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดในงานที่รฟม.สามารถสั่งเพิ่มภายหลังได้ (Provisional Sum ) 922 ล้านบาทนั้น หากตัดส่วนนี้ออกจะทำให้ค่าก่อสร้างลดลงทันทีและยังไม่รวมถึงการปรับลดสเปควัสดุหลังคาและผนังสถานีจาก ใช้อลูมิเนียมอัลลอย์ ซึ่งมีน้ำหนักเบา ทนและไม่เป็นสนิม เป็นเหล็กชุบสี ซึ่งทำให้ราคาต่างกันประมาณ 140-150 ล้านบาท ซึ่งหากแยกเนื้องานส่วนนี้ทำให้ค่าก่อสร้างลดลงอีก 1,000 กว่าล้านบาท แต่งาน Provisional Sum นี้สามารถเจรจากับผู้รับเหมาไปเพิ่มภายหลังลงนามสัญญาก่อสร้างไปแล้วได้ เพราะเป็นงานที่รฟม.สามารถสั่งเพิ่มได้ภายหลัง เท่ากับค่าก่อสร้างก็ไม่ได้ลดลงจริง

แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องสำคัญที่ต้องชี้แจงเพราะเป็นเงินก้อนใหญ่กว่า คือค่าเค ซึ่งมีการใช้สูตรปรับราคาค่าเค ที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้ควบคุมมาคิดค่าก่อสร้างแล้วนั้น ใช้ฐานราคาอ้างอิงอย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่มีการบอกข้อเท็จจริงส่วนนี้ ซึ่งการยืมสูตรปรับราคาค่าเคมาใช้ก่อนนั้นมีการใช้ฐานราคาน้ำมันเมื่อเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2551 ซึ่งเป็นช่วงยื่นเสนอราคาและเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันสูงสุดกว่า 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหตุใด การเจรจาค่าก่อสร้างจึงไม่ใช้ฐานราคาน้ำมันเมื่อเดือน ธ.ค. 2551 ที่น้ำมันอยู่ที่ประมาณ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับราคาในปัจจุบันมากที่สุด

“เป็นเรื่องของช่วงเวลาที่ใช้อ้างอิงราคาน้ำมันที่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงว่าใช้ช่วงไหน ระหว่างช่วงยื่นซองกับช่วงเปิดซอง ซึ่งทั้ง 2 ช่วงเวลาเป็นธรรมกับผู้รับเหมา เพราะไม่ได้ใช้ราคา ณ วันนี้ ซึ่งการใช้สูตรปรับราคาค่าเคนั้น ทั้งไจก้าและผู้รับเหมารับทราบแล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้คัดค้านอะไร ดังนั้นคณะกรรมการประกวดราคาไม่สามารถอ้างเงื่อนไขเงินกู้ข้อ 5.03 ที่ระบุว่าหลังเปิดซองข้อเสนอราคาห้ามเปลี่ยนแปลงข้อเสนอราคา อีกทั้งข้ออ้างว่าผู้รับเหมารายอื่นๆ จะร้องนั้นก็เป็นไปไม่ได้เพราะกรณีดังกล่าวทำให้ฐานการเจรจาราคาสูงขึ้นผู้รับเหมาที่ยื่นประมูลในอีก 2 สัญญาก็จะได้รับประโยชน์จากกรณีนี้”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่นายกฯบอกว่า ค่าก่อสร้างลดได้อีกเชื่อว่า นายกฯน่าจะมีข้อมูลว่ามีส่วนต่างอีกกว่า 2,000 ล้านบาทคือ ค่าเคที่นำมาคำนวณและค่า Provisional Sum นอกจากนี้ กรอบ 36,000 ล้านบาทที่ได้อนุมัติปรับเพิ่มนั้นอ้างอิงฐานราคาน้ำมันที่ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลและมีการเผื่อไปถึงราคาน้ำมัน 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไว้แล้วเพราะในขณะนั้นราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ยังระบุว่า เป็นราคาที่สูงเกินไป แต่ขณะนี้ค่าก่อสร้างสูงกว่ากรอบที่เสนอ สนข.ควรออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามกระบวนการพิจารณาค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 ยังมีประเด็นที่น่าสังเกตอีกมาก เช่น คณะกรรมการประกวดราคาสรุปค่าก่อสร้างก่อนเสนอบอร์ดที่ 14,985 ล้านบาทด้วยคะแนน 3 ต่อ 2  โดย 3 เสียงเป็นผู้แทนจากรฟม.และกระทรวงคมนาคม อีก 2 เสียงที่ไม่เห็นด้วยเป็นผู้แทนจากอัยการและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหลังจากบอร์ดสรุปผลที่ 14,965
ล้านบาทหรือลดลงอีก 20 ล้านบาท ได้ให้รฟม.ไปดำเนินการตามข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแก้ไขเงื่อนในสัญญาบางข้อ รวมถึงดูรายละเอียดว่าต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงสเปคจากเดิม ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของกรรมการประกวดราคาแต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการประชุมกรรมการประกวดราคาฯแต่อย่างใด ดังนั้นกระบวนการที่ผ่านมาอาจเข้าข่ายการทำงานที่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น